บลจ.ทิสโก้ออกกองทุน RMF ใหม่ “ทิสโก้ ไชน่า A-Shares อิควิตี้ เพื่อการเลี้ยงชีพ” เน้นกระจายการลงทุนในหุ้นจีนที่มีศักยภาพเติบโตสูง รายได้และกำไรบจ. โดดเด่น แม้ทั่วโลกเจอวิกฤต เปิด IPO 17 พ.ย. - 1 ธ.ค. 2563
นายสาห์รัช ชัฏสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาดและที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด (Mr. Saharat Chudsuwan, Head of Marketing and Wealth Advisory, Mutual & Private Fund Business, TISCO Asset Management Co., Ltd.) กล่าวว่า บลจ.ทิสโก้มองว่าตลาดหุ้น A-Shares กลับมาน่าสนใจลงทุนระยะยาวอีกครั้ง หลังจากที่เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวเร็วและยังเติบโตอย่างแข็งแกร่งแม้ทั่วโลกเจอกับวิกฤต อีกทั้งคาดว่าในช่วงนี้เงินทุนต่างประเทศอาจจะไหลเข้าประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่รวมถึงประเทศจีนเพิ่มขึ้น ผลจากนายโจ ไบเดน คว้าชัยชนะในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้แรงกดดันในเรื่องการใช้มาตราการภาษีต่างๆ เพื่อกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มผ่อนคลายลง ประกอบกับกำไรบริษัทจดทะเบียนในจีนก็มีโอกาสเติบโตสูงจากอานิสงส์แผนปฏิรูปเศรษฐกิจระยะ 5 ปีที่เน้นเติบโตจากการบริโภคในประเทศเป็นหลัก รวมถึงบริษัทจีนเองก็ได้ปรับตัวไปตามความต้องการของผู้บริโภค จนสามารถพลิกกลับมาเป็นบริษัทที่อยู่ในกลุ่ม New Economy ได้ในที่สุด
ดังนั้น เพื่อเพิ่มทางเลือกการลงทุนระยะยาวผ่านกองทุน RMF ที่ลงทุนในหุ้นจีน ซึ่งมีโอกาสในการเติบโตสูง บลจ.ทิสโก้จึงเปิดเสนอขายกองทุนเปิด ทิสโก้ ไชน่า A-Shares อิควิตี้ เพื่อการเลี้ยงชีพ (TCHARMF) ความเสี่ยงระดับ 6 (เสี่ยงสูง) กองทุนรวมตราสารทุน เน้นลงทุนหุ้นจีนผ่านหน่วยลงทุนของกองทุน ChinaAMC CSI 300 Index ETF (กองทุนหลัก) ซึ่งเป็นกองทุนรวมอีทีเอฟ ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง เปิดเสนอขายครั้งแรก (IPO) วันที่ 17 พ.ย. - 1 ธ.ค. 2563
“จากวิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจจีนเป็นเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งอันดับต้นๆ ของโลก โดยข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า แม้ทั่วโลกจะเจอกับวิกฤตจนทำให้คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะเติบโตติดลบ 4.4% แต่เศรษฐกิจจีนน่าจะเติบโต 1.9% และในปี 2564 เศรษฐกิจจีนจะเติบโต 8.2% ขณะที่เศรษฐกิจโลกจะเติบโตเพียง 5.2%นอกจากนี้ บริษัทจดทะเบียนของจีนยังมีโอกาสได้รับประโยชน์โดยตรงจากแผนปฏิรูปเศรษฐกิจระยะ 5 ปี (2563-2567) ที่เน้นเติบโตจากการบริโภคในประเทศเป็นหลัก ซึ่งข้อมูลจาก FactSet และ Goldman Sachs Global คาดว่าบริษัทที่อยู่ในดัชนี ChinaAMC CSI 300 ซึ่งเป็นดัชนีที่ประกอบด้วยหุ้น A-Shares จำนวน 300 บริษัท จะมีกำไรเติบโตอย่างโดดเด่น โดยคาดว่าในปี 2563 จะมีกำไรเติบโต 4% ในปี 2564 กำไรจะเติบโต 18% และในปี 2565 กำไรจะเติบโต 13%” นายสาห์รัชกล่าว
สำหรับสัดส่วนการลงทุนในแต่ละอุตสาหกรรมของ กองทุน ChinaAMC CSI 300 Index ETF ข้อมูลจาก Bloomberg วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 พบว่า กองทุนดังกล่าวมีสัดส่วนการลงทุนกระจายไปยังอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างหลากหลาย เช่น หุ้นกลุ่มสินค้าจำเป็น (Consumer Staples) 14% ธนาคาร 12% ฮาร์ดแวร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 10% บริการทางการเงิน 9% เฮลธ์แคร์ 9% และสินค้าฟุ่มเฟือย 8% เป็นต้น
ส่วนตัวอย่างบริษัทที่กองทุน ChinaAMC CSI 300 Index ETF เข้าไปลงทุน เช่น บริษัท Ping An ธุรกิจให้บริการทางการเงินที่เป็นมากกว่าธุรกิจประกันภัย เพราะล่าสุดได้นำเทคโนโลยี Blockchain, AI และ Cloud Computing เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ และยังขยายธุรกิจไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น เช่น เฮลธ์แคร์ อสังหาริมทรัพย์ อีกด้วย อีกบริษัทที่น่าสนใจคือ China Merchants Bank (“CMB”) สถาบันการเงินที่มีสาขากว่า 1,800 แห่งทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันมีซุปเปอร์แอพพลิเคชันการเงินที่สามารถสั่งอาหาร ซื้อบัตรชมภาพยนตร์ จองเที่ยวบิน ชอปปิง และอื่นๆ ตามไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งาน อีกทั้ง CMB มีแผนปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เป็นแบบ Digital Bank โดยนำเทคโนโลยีต่างๆ เช่น Cloud Computing, Big Data และ AI มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ
บริษัท Jiangsu Hengrui Medicine ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายยารายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งบทวิเคราะห์จาก CLSA คาดว่าในปี 2563 บริษัท Jiangsu Hengrui Medicine จะมีกำไรเพิ่มขึ้น 27% เมื่อเทียบกับปีก่อน และในปี 2564 กำไรจะเพิ่มขึ้นอีก 28% เมื่อเทียบกับปีก่อน สุดท้ายคือบริษัท Hikvision ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกล้องวงจรปิดและอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่นำเทคโนโลยีต่างๆ มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น กล้องตรวจวัดอุณหภูมิ ผลิตภัณฑ์สำหรับรักษาความปลอดภัย เช่น กล้อง CCTV โดยใช้ Deep Learning ในการจำแนกบุคคลและยานพาหนะออกจากกัน รวมถึงผลิตภัณฑ์กล้องตรวจจับการรอคิว โดยระบบจะตรวจนับจำนวนคนที่อยู่ในคิว หากมีจำนวนลูกค้ารอคิวมาก ระบบจะแจ้งเตือนให้พนักงานเปิดเคาน์เตอร์เพิ่มเติม และผลิตภัณฑ์แผนที่คลื่นความร้อน ใช้สำหรับให้ร้านค้าเห็นว่าตำแหน่งใดของร้านค้าที่ผู้ซื้อนิยมเดินไปเลือกซื้อสินค้า เป็นต้น
ทั้งนี้ กองทุนเปิด TCHARMF อาจมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนจากการลงทุนในต่างประเทศ จึงมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุนรวม ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุไว้ในคู่มือการลงทุนของ RMF และควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า ศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุนรวม โดยเฉพาะนโยบายการลงทุน เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุนที่ได้เปิดเผยไว้ที่ www.tiscoasset.com ก่อนตัดสินใจลงทุน และสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียด ได้ที่ บลจ. ทิสโก้ หรือ ธนาคารทิสโก้ทุกสาขา หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 2633 6000 กด 4 และ 0 2080 6000 กด 4
ข่าวเด่น