ทบทวนปีละครั้งหนุนแผนการเงินแกร่ง
คงคุณต้องได้ยินกันมาบ้างแล้วนะ กับคำว่า “Set It and Forget It” บ่อยครั้งใช่ไหม ที่คุณมักถูกชักชวนให้ออมเงินหรือลงทุนแบบสม่ำเสมอ เพียงขอให้เริ่มก้าวขึ้นบันไดเลื่อนก้าวแรกแบบถูกต้องก่อน หลังจากนั้นปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามระบบก็จะสามารถไปถึงเป้าหมายการเงินได้
มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ และคุณพิชญา ซุ่นทรัพย์ เห็นด้วยที่คุณควรตั้งเป้าหมายวางแผนการเงินให้เหมาะสม และเริ่มลงมือทันทีอย่างมีวินัย แต่การปล่อยให้เงินทำงานไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่เคยทบทวนเลย คงไม่ใช่การจัดการเงินที่ดีนัก โดยเฉพาะเป้าหมายการเงินเพื่อวัยเกษียณ เพราะหากการลงทุนที่คาดไว้เกิดไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด ย่อมมีโอกาสสูงที่เป้าหมายทางการเงินจะหลุดลอยไปไกลและอาจถึงขั้นคุณกลับตัวไม่ทัน
นอกจากนี้ในระหว่างทางย่อมมีปัจจัยมากมายที่มากระทบกับแผนการเงินของคุณ เช่น รายได้ ผลตอบแทนจากการลงทุน ภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ หรือปัญหาเรื่องสุขภาพ สิ่งเหล่านี้ล้วนกระทบกับแผนการเงินที่เคยคำนวณไว้ เช่น เดิมเตรียมไว้สำหรับเกษียณ 10 ล้านบาท อาจต้องเตรียมมากขึ้นเป็น 15 ล้านบาท หรือต้องขยายระยะเวลาทำงานออกไปเพื่อให้มีเงินพอใช้ในยามเกษียณ
ดังนั้น การทบทวนแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ จึงมีความสำคัญอย่างมากและคุณควรทำอย่างน้อยๆ ปีละครั้ง และนี่คือคำถามที่ควรถามตัวเองก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป
เงินที่เคยคิดไว้ว่าจะใช้หลังเกษียณ ยังพอหรือเปล่า
นอกจากปัจจัยเรื่องราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ยังมีปัจจัยส่วนตัวที่อาจเปลี่ยนไปและกระทบกับรายจ่ายหลังเกษียณได้ เช่น การย้ายที่อยู่ ปัญหาสุขภาพของตัวเองและคนในครอบครัว หนี้สิน ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายระยะยาว ดังนั้น การทบทวนจำนวนเงินจะช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนได้ทัน
ผลตอบแทนจากการลงทุนยังเป็นไปตามเป้าหรือไม่
ในแต่ละปีควรประเมินผลการลงทุนของตัวเองและผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ลงทุนเอาไว้ว่าเป็นอย่างไร หากลงทุนมาสักระยะแล้วผลตอบแทนยังไม่ไปไหนหรือขาดทุน ควรพิจารณาปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม แต่การวัดผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นอะไรที่ทำได้ยาก โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ที่ตลาดอาจมีความผันผวนเกิดขึ้น จึงต้องคอยปรับสัดส่วนการลงทุน (Portfolio Rebalancing) ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม หากดูแล้วมีโอกาสที่ผลงานจะหลุดออกจากแผน อาจจะต้องเพิ่มเงินลงทุนเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการบรรลุเป้าหมายการเกษียณ
สัดส่วนการลงทุนเหมาะสมกับช่วงวัยหรือไม่
อายุที่เพิ่มขึ้นพร้อมๆ กับประสบการณ์และภาระความรับผิดชอบ แต่สิ่งที่ตามมา ก็คือ ความสามารถในการรับความเสี่ยงของหลายคนลดลง ดังนั้น การกำหนดสัดส่วนการลงทุนเดิมไว้ โดยไม่ปรับเปลี่ยนเลยจะทำให้สินทรัพย์เสี่ยงสูงมีสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะยาว ส่งผลให้พอร์ตการลงทุนมีความผันผวนมากขึ้นตามมา
นอกจากจะปรับพอร์ตตามกรอบระยะเวลาและปรับให้กลับมาอยู่ในสัดส่วนที่ตั้งใจไว้แล้ว ควรพิจารณาปรับลดสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น เช่น อายุ 40 ปี เคยลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง 60% แต่พออายุเพิ่มขึ้นมาเป็น 50 ปี จึงปรับลดสินทรัพย์เสี่ยงลงเหลือ 50% ซึ่งจะลดการขาดทุนลงในวันที่ตลาดผันผวน
เงินออมได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเต็มที่แล้วหรือไม่
มีความเป็นไปได้สูงที่รายได้จะเพิ่มขึ้นในแต่ละปีหรืออาจลดลงได้จากการเปลี่ยนงาน ทำให้ภาระภาษีในแต่ละปีต่างกันไปด้วย ซึ่งหากไม่มีการทบทวนแผนการเงินในแต่ละปีอาจจะกำลังจ่ายภาษีมากกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น ทุกปีควรมีการวางแผนการออมหรือลงทุนที่ช่วยลดภาระภาษีให้เหมาะสม และต้องไม่ให้เกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา
คุณมีแผนคุ้มครองรายได้แล้วหรือไม่
ในที่นี้ไม่เพียงวางแผนในส่วนของตัวเองเท่านั้นแต่ควรประเมินความคุ้มครองที่เหมาะสมสำหรับครอบครัว เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดกับคนในครอบครัว ดังนั้น ควรพิจารณาปรับเปลี่ยนทุนประกันให้เหมาะสม รวมถึงใช้สิทธิ์ลดหย่อนทางภาษีจากเบี้ยประกันชีวิตและสุขภาพไปพร้อมๆ กัน
ในบางกรณีหากประเมินแล้วว่าทุนประกันชีวิตหรือทรัพย์สินที่ทำไว้สูงกว่าที่ควรจะเป็น หรือไม่มีความจำเป็นต้องคุ้มครองแล้ว อาจปรับลดทุนหรือเวนคืนกรมธรรม์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายลงได้เช่นกัน
จะเห็นได้ว่าในระหว่างการเดินทางไปสู่เป้าหมายการเงินเพื่อวัยเกษียณ มีปัจจัยมากมายที่กระทบกับแผนการเงินหรืออาจจะมีเป้าหมายใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติม จึงต้องมีการทบทวนอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งช่วยให้เห็นจุดอ่อนของแผนหรือจุดที่ต้องปรับปรุง เพื่อไม่ให้กระทบกับแผนการออมและการลงทุนได้
ข่าวเด่น