ช่วงนี้ใครที่ทำงานกับบริษัทเอกชนคงได้รับรายงานเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเตรียมตัวจ่ายภาษีประจำปี แต่ถึงแม้จะคุ้นเคยกับกองทุนนี้ยังมีบางคนจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าจะแบ่งเงินเดือนเข้ากองทุนนี้เท่าไหร่ดี บางคนถึงขั้นไม่สนใจใยดีด้วยการไม่เป็นสมาชิก ทั้งๆ ที่มีแต่ได้กับได้
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นแหล่งออมเงินให้ลูกจ้าง ซึ่งชื่อกองทุนบอกอยู่แล้วว่าออมเงินเอาไว้เพื่อสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อไม่มีงานทำ ลาออกจากงาน บริษัทปิดกองทุนนี้ หรือเกษียณอายุ ซึ่งถ้าลูกจ้างเป็นสมาชิกกองทุนก็สามารถนำเงินออกไปเลี้ยงชีพตัวเองได้
วัตถุประสงค์หลัก
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพคือ เก็บเงินให้ลูกจ้างเอาไว้ใช้ตอนเกษียณอายุ ถือเป็นสวัสดิการหนึ่งของนายจ้าง (บริษัท) ที่มีให้กับลูกจ้าง
เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาจากลูกจ้าง (สมาชิก) ซึ่งจะถูกหักจากเงินเดือนเป็นรายเดือนเข้ากองทุน เรียกว่า เงินสะสม กับเงินจากนายจ้างที่จ่ายอีกส่วนหนึ่งเข้ากองทุนเป็นรายเดือนเช่นเดียวกัน เรียกว่า เงินสมทบ
จากนั้นเงินกองทุนจะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แล้วนำไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อหาผลตอบแทน
ปัจจุบัน เงินสะสมของลูกจ้างสามารถนำเข้ามาในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในแต่ละเดือนได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินเดือน ส่วนเงินสมทบ ตามกฎหมายแล้วจะใส่เข้ามาเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับกำลังของนายจ้าง
มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ และคุณธิฐิเมธ โภคชัย และคุณแขขวัญ โรจน์วัฒนกุลชี้ให้เห็น ข้อดี ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคือ นอกจากเงินที่ฝ่ายลูกจ้างจะได้เก็บออมแล้ว ยังได้รับจากนายจ้างที่สมทบให้อีกด้วย
ยกตัวอย่าง ลูกจ้างมีเงินเดือน 30,000 บาท ในแต่ละเดือนใส่เงินเข้ามาในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดือนละ 5% ของเงินเดือน (1,500 บาท) และฝ่ายนายจ้างสมทบให้เท่ากับเงินสะสม หมายความว่าลูกจ้างคนนี้จะได้เงินสมทบอีกเดือนละ 1,500 บาท
พูดง่ายๆ ลูกจ้างจะมีเงินออมในแต่ละเดือน 3,000 บาท แบ่งเป็นส่วนที่ตัวเองสะสม 1,500 บาท และจากนายจ้างสมทบให้อีก 1,500 บาท เหมือนลงทุนในแต่ละเดือนได้ผลตอบแทน 100%
ดังนั้น คุณลูกจ้างจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในระดับสูงสุด (15%) หรือในอัตราสูงสุดเท่าที่จะทำได้ เพราะบางบริษัทมีนโยบายจ่ายเงินสมทบเท่ากับเงินที่ลูกจ้างจ่าย เช่น ลูกจ้างสะสมอัตรา 10% ของเงินเดือน นายจ้างสมทบให้ 10% หรือถึงแม้ฝ่ายนายจ้างอาจจะสมทบในอัตราต่ำกว่าก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย
ที่สำคัญการออมเงินผ่านกองทุนนี้ถือเป็นการเก็บเงินที่สม่ำเสมอในระยะยาว ทำให้มีวินัยในการวางแผนการเงิน และเป็นหลักประกันได้ว่าจะมีเงินใช้จ่ายหลังเกษียณอายุ
และเมื่อ บลจ. นำเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปบริหารเพื่อหาดอกผล ลูกจ้างจะได้รับผลประโยชน์จากผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย เงินปันผลและกำไรส่วนเกิน (ตรวจสอบผลตอบแทนจากรายงานเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ตได้รับในช่วงครึ่งปีและปลายปี) ส่วนจะได้มากน้อยขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุน ระดับความเสี่ยงของสมาชิก และความสามารถของ บลจ.ที่ดูแลกองทุน
นอกจากสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะมีเงินใช้ในวันเกษียณแล้ว แขขวัญบอกว่ายังได้รับสิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีด้วย โดยเงินสะสมจะได้สิทธิลดหย่อนภาษีสูงสุดได้ไม่เกิน 500,000 บาท
ยกตัวอย่าง เงินเดือน 35,000 บาท (รายได้ทั้งปี 420,000 บาท) สะสมเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 15% ของเงินเดือน คือ 5,250 บาทต่อเดือน (เงินสะสมทั้งปี 63,000 บาท) ซึ่ง 63,000 บาท ไม่เกิน 500,000 บาท แสดงว่าสามารถลดหย่อนภาษีได้ทั้งจำนวน
วิธีนำไปคำนวณ จะแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก เรียกว่า ลดหย่อนเงินสะสม (ส่วนที่ไม่เกิน 10,000 บาท) ส่วนสอง เรียกว่า ยกเว้นเงินสะสม (ส่วนที่เกิน 10,000 บาท)
เมื่อนำไปหักกับค่าใช้จ่าย ลดหย่อนส่วนตัวแล้ว ถ้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินได้สุทธิที่ต้องนำไปเสียภาษีจะลดลง 63,000 บาท ตามตัวอย่างเงินได้สุทธิที่ต้องนำไปเสียภาษีจะเหลือ 197,000 บาท แต่ถ้าไม่เป็นสมาชิกกองทุนนี้ เงินได้สุทธิที่ต้องนำไปเสียภาษีจะเท่ากับ 260,000 บาท
และตามอัตราภาษีก้าวหน้า เงินได้สุทธิ 197,000 บาท ต้องเสียภาษี 5% เมื่อคำนวณแล้วจะประหยัดภาษีได้ปีละ 3,150 บาท
ตัวอย่าง การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลประจำปี
1. มีเงินเดือน 35,000 บาท (รายได้ทั้งปี 420,000 บาท)
2. เงินสะสม 15% ของเงินเดือน = 5,250 บาท (เงินสะสมทั้งปี 63,000 บาท)
รายการ ไม่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เงินได้ประจำปี (เงินเดือน + โบนัส + รายได้อื่นๆ) 420,000 420,000
หัก ค่าใช้จ่าย 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
ลดหย่อนส่วนตัว
ลดหย่อนเงินสะสม (ส่วนที่ไม่เกิน 10,000 บาท)
ยกเว้นเงินสะสม (ส่วนที่เกิน 10,000 บาท) 100,000
60,000
ไม่ได้ลดหย่อน
ไม่ได้ลดหย่อน 100,000
60,000
10,000
53,000
เงินได้สุทธิที่ต้องนำไปเสียภาษี 260,000 197,000
อัตราภาษีก้าวหน้า อัตราภาษี ไม่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เงินที่นำมาคำนวณภาษี ชำระภาษี เงินที่นำมาคำนวณภาษี ชำระภาษี
1 – 150,000 0% 150,000 0 150,000 0
150,001–300,000 5% 110,000 5,500 47,000 2,350
260,000 5,500 197,000 2,350
ที่มา : บลจ.ทิสโก้
ข่าวเด่น