หลายคนคิดว่าการวิเคราะห์งบการเงินยาก ต้องเก่งเลข ต้องจำสูตรคำนวณ ต้องเข้าใจวิธีการทำบัญชีอย่างลึกซึ้ง
วันนี้มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ และคุณ ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ขอบอกว่า การวิเคราะห์งบการเงินเพื่อดูความสามารถในการเติบโต ความแข็งแกร่ง และข้อเสียของแต่ละบริษัท ก็คือการเอาตัวเลขดิบๆ ในงบการเงินมาหารเปรียบเทียบกัน เพื่อหาอัตราส่วน
หากอยากรู้ว่าบริษัทจะล้มง่ายหรือไม่ คุณต้องวิเคราะห์สภาพคล่อง การวิเคราะห์สภาพคล่องคือ การดูว่าบริษัทมีเงินใช้คล่องมือหรือไม่ มีเงินเข้ามาพอใช้หรือเปล่า ถ้าเงินขาดมือบ่อยๆ แบบนี้มีปัญหาในดำเนินธุรกิจแน่ๆ และนี่คืออัตราส่วนที่ใช้วิเคราะห์ความมั่นคงทางการเงิน
อัตราส่วนทุนหมุนเวียน (Current Ratio) แสดงความสามารถในการจ่ายหนี้ระยะสั้น
อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน = สินทรัพย์หมุนเวียน / หนี้สินหมุนเวียน
Current Ratio = Current Assets / Current Liabilities
ถ้าน้อยกว่า 1 แสดงว่าธุรกิจมีสินทรัพย์หมุนเวียน เช่น เงินสด ลูกหนี้ทางการค้า สินค้าคงเหลือ ไม่พอจ่ายหนี้ระยะสั้น ซึ่งเป็นหนี้ที่ต้องจ่ายภายใน 1 ปี ดูท่าแล้วเงินน่าจะขาดมือ
ส่วนบริษัทที่มี Current Ratio มากกว่า 1 แปลว่าสภาพคล่องสูง แต่ถ้าสูงกว่า 1 มากๆ ต้องไปดูเพิ่มเติมว่า บริษัทมีการใช้ทรัพย์สินหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุดหรือไม่ เช่น ถือเงินสดเกินความจำเป็น ไม่นำไปลงทุน
อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว (Quick Ratio หรือ Acid Test) หมุนเวียนเร็วสุดก็คือเงินสด โดยใช้ดูว่า ทรัพย์สินที่นำมาเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็วๆ เพื่อนำไปจ่ายหนี้ระยะสั้นมีเยอะน้อยแค่ไหน
อัตราส่วนสินทรัพย์คล่องตัว = (สินทรัพย์หมุนเวียน – สินค้าคงเหลือ) / หนี้สินหมุนเวียน
Quick Ratio = (Current Assets – Inventory) / Current Liabilities
ที่ต้องตัดสินค้าคงเหลือ (Inventory) ออกจากการคำนวณ เพราะแปลงเป็นเงินสดได้ช้ากว่าสินทรัพย์หมุนเวียนอื่นๆ แถมอาจจะลดมูลค่าลงด้วย เหมือน iPhone รุ่นเก่าที่ขายไม่ออก ให้รีบขายนำเงินไปจ่ายหนี้ก็ทำได้ยาก ส่วนเกณฑ์การดูเหมือนกับ Current Ratio เพียงแต่ใช้วัดสภาพคล่องได้ตรงจุดกว่า
อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity Ratio : D/E) อัตราส่วนยอดฮิตของนักลงทุน แสดงสัดส่วนการกู้หนี้ยืมสินว่าเป็นกี่เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้น
อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น = หนี้สินรวม / ส่วนของผู้ถือหุ้น
Debt to Equity Ratio = Total Debt / Equity
ถ้าอัตราส่วนนี้สูง มีโอกาสที่กิจการจะไม่สามารถชำระดอกเบี้ย จนอาจถูกฟ้องล้มละลายได้ เนื่องจากการมีภาระหนี้สินที่สูง ทำให้ต้องชำระดอกเบี้ยที่สูงตามไปด้วย ไม่ว่ากิจการนั้นจะกำไรหรือขาดทุน
การพิจารณาค่า D/E นั้น ไม่มีค่าตายตัวว่าสามารถกู้เกินได้กี่เท่าของสินทรัพย์ที่มี แต่พิจารณาจาก Business Model ธุรกิจมีนโยบายการทำธุรกิจอย่างไร บางบริษัทมีการเติบโตสูงอาจต้องกู้เงินมาใช้ดำเนินงาน ซึ่งถ้าบริษัทสามารถควบคุมความเสี่ยงได้ การกู้เงินมาลงทุนนับเป็นโอกาสทำให้บริษัทเติบโตได้เร็ว หรืออย่างในกลุ่มธนาคารที่ธุรกิจมีการกู้เงินมาเพื่อปล่อยกู้ อาจทำให้มีค่า D/E สูงๆ ได้
เงินทุนหมุนเวียน (Working Capital : WC) ใช้ดูว่าสินทรัพย์หมุนเวียนทั้งหมดที่มี หักลบกลบหนี้ระยะสั้นออกไปแล้ว เหลือเป็นสินทรัพย์ให้ใช้ทำธุรกิจ เช่น ซื้อวัตถุดิบ ลงทุน เท่าไหร่
เงินทุนหมุนเวียน = สินทรัพย์หมุนเวียน – หนี้สินหมุนเวียน
Working Capital = Current Assets – Current Liabilities
ถ้าสินทรัพย์หมุนเวียนกับหนี้สินหมุนเวียนใกล้เคียงกันมาก หักลบกันออกมาแล้วเหลือเป็นเงินทุนหมุนเวียนไม่เท่าไหร่ บริษัทอาจถูกปิดได้ เพราะไม่มีเงินสดในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างรายได้เข้าบริษัท
กระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow : FCF) ใช้ดูว่าหลังจากหักเงินที่ต้องเอาไปหมุนเพื่อต่อยอดธุรกิจ และค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น เงินเดือน ภาษี ดอกเบี้ย แล้วเหลือเป็นเงินสดที่นำออกมาจ่ายปันผล ซื้อหุ้นคืนหรือเก็บไว้ขยายธุรกิจเท่าไหร่
กระแสเงินสดอิสระ = กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน – ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินทรัพย์
Free Cash Flow = Operating Cash Flow – CAPEX
Free Cash Flow ใช้ประเมินหามูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจ โดยการคิดลดแบบ Discounted Cash Flow (DCF) เป็นการประเมินมูลค่าที่อิงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดเข้าบริษัท
วงจรเงินสด (Cash Conversion Cycle) ใช้ดูความเร็วในการหมุนเงินของบริษัทว่าใช้เวลานานหรือไม่ ตั้งแต่คิดไอเดีย ซื้อวัตถุดิบ ผลิต ขาย และได้เป็นเงินสดกลับมา ยิ่งเร็วก็ยิ่งดี ส่วนเวลาจ่ายเงินยิ่งยืดไปได้นานก็ไหร่ก็ยิ่งดี สรุปว่า รับเงินไว จ่ายเงินช้า
วงจรเงินสด = ช่วงเวลาขายสินค้า + ช่วงเวลาได้รับเงิน – ช่วงเวลาที่จ่ายเงิน
Cash Conversion Cycle = Inventory Conversion Period + Receivable Conversion Period – Payable Conversion Period
เป็นอีกตัวที่ไม่มีเกณฑ์บ่งชี้แน่นอน จึงต้องดูเปรียบเทียบกับอดีตของบริษัทเองว่า ที่ผ่านมารักษาความเร็วในการหมุนเงินไว้ได้ดีขนาดไหน ถ้าแนวโน้มคงที่หรือลดลงก็จะดีมาก แต่ถ้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจส่งผลต่อความสามารถในการดำเนินกิจการระยะยาวได้ และอย่าลืมนำไปเปรียบเทียบกับคู่แข่งด้วย เพราะถ้าคู่แข่งหมุนเงินได้เร็วกว่า เป็นไปได้ว่าประสิทธิภาพในการทำงานของคู่แข่งดีกว่า นั่นอาจหมายถึงความน่าสนใจลงทุนมีมากกว่า
ข่าวเด่น