บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อสร้างเสริมศักยภาพด้านเทคโนโลยีเน็กซ์เจนเนอเรชั่นให้แก่นักศึกษา เตรียมความพร้อมรองรับตลาดงานในยุคดิจิทัล
ภายใต้โครงการ หัวเว่ย ไอซีที อะแคเดมี (Huawei ICT Academy) ความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านไอทีระดับสูงให้แก่นักศึกษา ผ่านคอร์สการเรียนการสอนแบบปฏิบัติงานจริง พร้อมมอบโอกาสการฝึกงานในสายอาชีพด้านนวัตกรรมการศึกษาเพื่อดิจิทัล (Digital Educational Innovation)
โดยมีศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมพิธีเพื่อลงนามในบันทึกข้อตกลง ซึ่งจัดขึ้น
ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร. สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี รองอธิการบดี ฝ่ายบริหาร รองศาสตราจารย์ ดร. จรัญ บุญกาญจน์ รองอธิการบดี ฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นายเควิน เฉิง ประธานบริหาร กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ และนายเจสัน เผิง รองประธานบริหาร กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเป็นสักขีพยาน
ภายใต้ความร่วมมือนี้ หัวเว่ยจะทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้และจัดหาทรัพยากรการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีเครือข่ายขั้นสูง โดยอาศัยความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมไอซีทีที่ยาวนานกว่าสองทศวรรษของหัวเว่ย
นักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะได้รับการเรียนรู้ผ่านการสาธิตสถานการณ์การทำงานจริง ซึ่งจะนำมาซึ่งทักษะที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง ผ่านอุปกรณ์เน็ตเวิร์กและทรัพยากรต่าง ๆ ในโครงการหัวเว่ย ไอซีที อะแคเดมี่ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับงานด้านดิจิทัล นักศึกษาที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์จะได้รับโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมโครงการส่งเสริมทักษะด้านไอซีทีหลักของหัวเว่ยสองโครงการ คือ การแข่งขัน Huawei ICT Competition และงาน Huawei Job Fair ซึ่งพื้นฐานของความร่วมมือนี้มาจากความมุ่งมั่นระยะยาวของหัวเว่ยในการสร้างบุคลากรคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านไอซีทีอย่างลึกซึ้ง
ภายหลังพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ หัวเว่ยยังได้มอบอุปกรณ์เราเตอร์ อีเธอร์เน็ต สวิตช์ และไวท์บอร์ดอัจฉริยะ IdeaHub เพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน ให้แก่ ศ. ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อใช้สนับสนุนการฝึกอบรมและบ่มเพาะสำหรับนักศึกษาด้านไอซีที สร้างอีโคซิสเต็มการเรียนรู้ที่แข็งแกร่ง
“หัวเว่ยรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ทำงานกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตลอดจนภาคการศึกษาในภาคใต้” นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว “เรามุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างเสริมศักยภาพให้นักศึกษามีความรู้ด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ เราจึงได้จัดตั้ง หัวเว่ย อาเซียน อะแคเดมี่ (ประเทศไทย) ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษา ปั้นเด็กรุ่นใหม่ให้พร้อมเป็นบุคลากรที่มีความสามารถด้านไอซีทีในตลาดแรงงานระดับโลก”
“เรามีความยินดีที่ได้ลงนามในเอ็มโอยูฉบับนี้ ซึ่งผสานรวมการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเข้าไว้ด้วยกัน การฝึกอบรมในลักษณะนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาจำนวนมาก ผู้เป็นกลไกสำคัญในการพลิก
โฉมอุตสาหกรรมไอทีของประเทศ” ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าว “ผมขอขอบคุณหัวเว่ยที่ได้ช่วยจัดหาโอกาสการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษาของเรา เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านดิจิทัล เรามั่นใจเหลือเกินว่าโครงการนี้จะช่วยเพิ่มจำนวนแรงงานไอซีทีที่มีทักษะระดับสูงและเปี่ยมศักยภาพให้แก่ประเทศไทยของเรา”
ภายใต้โครงการ หัวเว่ย ไอซีที อะแคเดมี่ หัวเว่ยมุ่งหวังที่จะขยายความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ร่วมกับภาคการศึกษาของไทยให้มากขึ้น เพื่อจับมือกันพัฒนาสภาพแวดล้อมที่รองรับความก้าวหน้า นวัตกรรมและคุณค่าใหม่ๆ สำหรับเยาวชนรุ่นต่อๆ ไป รวมถึงเสาะหาบุคลากรที่จะมาช่วยประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็น ประเทศไทย 4.0
ข่าวเด่น