ยานยนต์
ขบ. ขอความร่วมมือและแจ้งเตือนผู้ประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวในสถานการณ์ฉุกเฉิน


กรมการขนส่งทางบก ออกประกาศ เรื่อง ขอความร่วมมือและแจ้งเตือนผู้ประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวในสถานการณ์ฉุกเฉิน ย้ำ!! รถเช่าเหมาต้องตรวจสอบข้อมูลก่อนรับจ้าง หากมีปลายทางอยู่ในพื้นที่จังหวัดที่มีประกาศห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ห้ามรับจ้างโดยเด็ดขาด ฝ่าฝืนมีความผิดตามกฎหมาย


 
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 15) ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2563 เพื่อป้องกันมิให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) เกิดการระบาดลุกลามเป็นวงกว้างต่อไป จึงกำหนดมาตรการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการเฝ้าระวัง ตรวจและคัดกรองการเดินทางและการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว โดยให้เป็นไปตามมาตรการที่นายกรัฐมนตรีกำหนดตามข้อเสนอของคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19)

โดยที่บางจังหวัดได้มีคำสั่งหรือประกาศจังหวัด หรือประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเข้า - ออกพื้นที่จังหวัด และระงับการเดินรถโดยสารประจำทางในเขตพื้นที่จังหวัดเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันและระงับยับยั้งการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) สอดคล้องกับมาตรการดังกล่าว กรมการขนส่งทางบกจึงขอความร่วมมือและแจ้งผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร ให้ตรวจสอบข้อมูลก่อนการรับจ้างว่าเป็นการจ้างเพื่อเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว และมีจุดหมายปลายทางไปยังจังหวัดที่ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเข้า - ออกพื้นที่จังหวัดหรือไม่ หากพบว่าเป็นการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวตามประกาศของจังหวัดดังกล่าว ควรงดการรับจ้าง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง พนักงานขับรถ ปฏิบัติและให้คำแนะนำผู้ใช้บริการ รวมถึงให้มีการควบคุม กำกับ ดูแล การให้บริการและการใช้บริการให้เป็นไปตามมาตรการด้านสาธารณสุขและมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด อนึ่ง การไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 15) ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2563 มาตรการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งผู้ฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนด

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า ประกาศกรมการขนส่งทางบกฉบับดังกล่าว มีผลใช้บังคับครอบคลุมคำสั่งหรือประกาศจังหวัด หรือประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่ออกไว้ก่อนแล้ว และที่อาจมีเพิ่มเติมในระยะถัดไปตามสถานการณ์ โดยปัจจุบัน จังหวัดที่มีประกาศห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเข้า-ออกพื้นที่จังหวัด จำนวน 11 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรสาคร นครปฐม กำแพงเพชร ปทุมธานี นนทบุรี ปราจีนบุรี พะเยา นครราชสีมา พิจิตร อุดรธานี และนครนายก (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2563) ซึ่งได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถเช่าเหมารับทราบและปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่ทางภาครัฐกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด คัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดการเดินทาง สแกนไทยชนะหรือกรอกข้อมูลตามแบบฟอร์มที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด และเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบผู้โดยสารเพื่อป้องกันการลักลอบเดินทางของแรงต่างด้าว

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 ธ.ค. 2563 เวลา : 09:45:29
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 12:11 pm