การค้า-อุตสาหกรรม
SMEs เตรียมรับอานิสงส์จาก RCEP


กระทรวงพาณิชย์ เผย RCEP ให้ความสำคัญ SMEs เป็นประเด็นหลักใหม่ที่อยู่ในความตกลง เน้นแบ่งปันข้อมูลกฎระเบียบทางการค้า เชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตโลก ใช้นวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน แนะ SMEs ไทยเตรียมพร้อม ทำความเข้าใจความตกลงฯ ศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค และใช้ประโยชน์ RCEP เต็มที่ มั่นใจ! RCEP ช่วยฟื้นเศรษฐกิจ


 
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งความตกลงฉบับนี้ได้ให้ความสำคัญกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การจ้างงาน และนวัตกรรม ซึ่งเป็นประเด็นใหม่ของอาเซียนกับคู่เจรจาที่ไม่เคยปรากฏในความตกลงการค้าเสรี (FTA) มาก่อน

นางอรมน กล่าวว่า ความตกลง RCEP นี้ กำหนดให้ประเทศสมาชิกเปิดเผยและแบ่งปันข้อมูลกฎระเบียบทางการค้า เพื่อให้ SMEs สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ซึ่งจะได้ประโยชน์จากการเรียนรู้ประสบการณ์และแนวปฏิบัติของ SMEs จากประเทศต่างๆ ในภูมิภาค RCEP นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยง SMEs กับห่วงโซ่การผลิตโลก และการมีส่วนร่วมของ SMEs ในการค้ารูปแบบใหม่ เช่น การค้าออนไลน์ผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ เป็นต้น รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และทรัพย์สินทางปัญญาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำธุรกิจ พัฒนาสินค้าและบริการ

นางอรมน เพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการ SMEs ไทยควรเร่งเตรียมความพร้อม เรียนรู้ทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ทางการค้าต่างๆ ของความตกลงฯ อาทิ การเปิดตลาดการค้าสินค้า อัตราภาษีศุลกากร กฎเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า และสิทธิประโยชน์ รวมทั้งศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดประเทศสมาชิก RCEP เพื่อเตรียมวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจและพัฒนาสินค้าให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาด

สำหรับมาตรการเยียวยาผลกระทบ สามารถศึกษาหรือขอคำปรึกษาแนะนำจากหน่วยงานของรัฐ อาทิ การใช้มาตรการปกป้อง (safeguards) ในกรณีที่มีสินค้าเข้ามาในประเทศปริมาณมากจนก่อให้เกิดความเสียหายกับอุตสาหกรรมในประเทศ และการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (anti-dumping) ในกรณีที่สินค้านำเข้า มีราคาต่ำและทุ่มตลาดจนเกิดความเสียหายกับอุตสาหกรรมในประเทศ นอกจากนี้ กรมฯ ยังอยู่ระหว่างหารือผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการจัดตั้งกองทุน FTA  ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก FTA  และพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันในโลกการค้าเสรี

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ www.dtn.go.th หรือขอรับคำปรึกษาได้ที่ FTA Call Center โทร. 0 2507 7555

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 30 ธ.ค. 2563 เวลา : 11:55:26
18-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 18, 2025, 3:50 am