ก.ล.ต. เปิดเผยศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลแพ่ง กรณีสร้างราคาหุ้นบริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) (PICO) เป็นว่า ให้นายสุรินทร์ บรรยงพงศ์เลิศ จำเลย ชำระเงิน 24,538,815 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 ธันวาคม 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ ก.ล.ต. โจทก์ ห้ามนายสุรินทร์เข้าซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ หรือเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นเวลา 3 ปี นับแต่วันทราบคำพิพากษานี้ และห้ามนายสุรินทร์เป็นกรรมการ หรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ทราบคำพิพากษานี้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นํามาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับนายสุรินทร์ บรรยงพงศ์เลิศ กรณีนายสุรินทร์มีการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น PICO ในลักษณะสร้างราคาหุ้น PICO แต่นายสุรินทร์ไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2561 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีนายสุรินทร์ต่อศาลแพ่ง ตามที่ ก.ล.ต. ส่งเรื่องเพื่อขอให้ศาลกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งกับนายสุรินทร์ เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ. 7563/2561 ระหว่าง ก.ล.ต. โจทก์ นายสุรินทร์ บรรยงพงศ์เลิศ จําเลย
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2562 ศาลแพ่งได้มีคําพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ พ. 5396/2562 โดยพิพากษาให้จำเลยชำระค่าปรับทางแพ่งเป็นเงิน 1.25 เท่าของผลประโยชน์ที่จำเลยได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิดเป็นเงิน 10,180,283.75 บาท ให้ชดใช้เงินผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิดเป็นเงิน 8,144,227 บาท และชดใช้ค่าใช้จ่ายของโจทก์เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดของจำเลยเป็นเงิน 106,134 บาท รวมเป็นเงิน 18,430,644.75 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 ธันวาคม 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ห้ามจำเลยเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ หรือเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน และห้ามจำเลยเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาเป็นต้นไป
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ศาลอุทธรณ์มีคําพิพากษา* แก้คําพิพากษาศาลแพ่ง เป็นว่าให้จำเลยชำระค่าปรับทางแพ่งเป็นเงิน 2 เท่าของผลประโยชน์ที่จำเลยได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิดซึ่งเป็นอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนด เป็นเงิน 16,288,454 บาท ให้ชดใช้เงินผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิดเป็นเงิน 8,144,227 บาท และชำระค่าใช้จ่ายอันเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดของจำเลยเป็นเงิน 106,134 บาท รวมเป็นเงิน 24,538,815 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ห้ามจำเลยเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ หรือเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นเวลา 3 ปี นับแต่วันทราบคำพิพากษา และห้ามจำเลยเป็นกรรมการ หรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์ เป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ทราบคำพิพากษา (วันที่ 15 ธันวาคม 2563) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้วตามคําพิพากษาศาลอุทธรณ์
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า คดีนี้เป็นกรณีการสร้างราคาหลักทรัพย์ที่ดำเนินคดีโดยใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง โดยยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2561 และศาลอุทธรณ์ได้มีคําพิพากษาถึงที่สุดแล้วเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 หากจําเลยไม่ปฏิบัติตามคําพิพากษา ก.ล.ต. จะดำเนินการบังคับคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป**
ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำผิด เป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง
ข่าวเด่น