บล.ทิสโก้ชี้หุ้นไทยปีนี้ฟื้นจาก 3 ปัจจัยบวก ทั้งตัวเลขเศรษฐกิจและกำไรบจ.ฟื้น, นโยบายการเงินผ่อนคลาย และนโยบายโจ ไบเดนหนุน คาดสิ้นปีอาจเห็นดัชนีแตะ 1,600 จุด แต่ครึ่งหลังเดือน ม.ค. อาจโดนกระทบจาก IPO ใหญ่เตรียมเข้าตลาดฉุดสภาพคล่องถูกดึงออกไปชั่วคราว
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด (Mr. Apichat Poobunjirdkul, Senior Strategist, TISCO Securities Co., Ltd) เปิดเผยว่า ผลกระทบ COVID-19 ทำให้ตลาดหุ้นไทยปีที่แล้วปรับตัวลง 8% และเคลื่อนไหวแย่กว่าตลาดหุ้นโลก (MSCI World Index) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14% สำหรับมุมมองหุ้นไทยในปีนี้ บล.ทิสโก้คาดว่าหุ้นไทยมีโอกาสฟื้นตัวจากปีที่แล้วจาก 3 ปัจจัยบวก คือ 1. การฟื้นตัวของตัวเลขเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียน โดยบล.ทิสโก้คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะกลับมาเติบโต 3.4% จากปี 2564 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัว 6.3%
ส่วนกำไรบริษัทจดทะเบียนไทยในปี 2564 คาดว่าจะฟื้นตัวแรง 34% ขณะที่ปี 2563 คาดว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนไทยจะติดลบ 38% สาเหตุที่กำไรเพิ่มขึ้นแรงมาจากกำไรในกลุ่มพลังงาน และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของกำไรตลาดโดยรวมจะเติบโต 79% และ 25% ตามลำดับ ขณะที่ปี 2565 คาดกำไรโดยรวมจะเติบโตอีก 16% อานิสงส์จากภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้เต็มที่หลังมีวัคซีน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว
2. นโยบายการเงินยังคงอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายมากเมื่อเทียบกับในอดีต ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ได้ปรับเป้าหมายนโยบายการเงินไปใช้ “อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย” ที่ 2% ซึ่งจะทำให้ FED สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินได้นานกว่าในอดีต ทั้งการคงดอกเบี้ยในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และการอัดฉีดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง จากการประเมินคาดว่า FED จะอัดฉีดสภาพคล่องในปีนี้เพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ
และ 3. นโยบายด้านเศรษฐกิจของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ที่มีแผนการใช้จ่ายเงินจำนวนมากจะกดดันเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลง เป็นผลดีต่อตลาดหุ้นและราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยรวม ขณะเดียวกัน นโยบายต่างประเทศของไบเดนที่ประนีประนอมกว่าทรัมป์ และคาดการณ์ข้างหน้าได้ง่ายกว่าทรัมป์ น่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลก และช่วยลดความผันผวนของตลาดลงได้
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2551 เป็นต้นมา ค่าอัตราส่วนราคาต่อกำไรอนาคต (2Y Forward PER) ของตลาดหุ้นโลกซึ่งรวมถึงตลาดหุ้นไทย มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นมาโดยตลอด และปัจจุบันมีค่าอยู่ใกล้เคียงกันที่ประมาณ 16-17 เท่า เพราะเป็นผลพวงจากการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายยาวนาน ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยลงจนถึงบางประเทศใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ และการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเป็นจำนวนมหาศาลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นการบีบบังคับให้เงินต้องแสวงหาผลตอบแทนด้วยการยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้น (Search for Yield) อิงจากแนวโน้มค่า Forward PER ดังกล่าว และ กำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาดหุ้นไทยในปี 2565 บล.ทิสโก้ประเมินดัชนีหุ้นไทยที่เหมาะสมในปี 2564 ที่ 1,450-1,590 จุด โดยในครึ่งปีหลังมีโอกาสสูงจะเหวี่ยงตัวขึ้นไปใกล้ ๆ ระดับ 1,600 จุด หรือเทียบเท่าตอนสิ้นปี 2562 ก่อนที่ COVID-19 จะระบาด
ทั้งนี้ แม้ บล.ทิสโก้จะมองแนวโน้มกระแสเงินทุนไหลเข้า (Fund Flows) ปีนี้เป็นบวก แต่การเสนอขายหุ้น IPO ขนาดใหญ่ในช่วงปลายเดือน ม.ค.นี้ อาจทำให้ Fund Flows สะดุดและกดดันตลาดอ่อนตัวลงชั่วคราว จากสภาพคล่องบางส่วนที่ถูกดึงออกจากตลาดไปเพื่อจองหุ้นดังกล่าว จากการศึกษาทิศทาง Fund Flows ทั้งของนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบันในประเทศในช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อนการจองซื้อหุ้น IPO ขนาดใหญ่ 3 ครั้งล่าสุด คือ AWC, CRC และ SCGP ซึ่งทำให้กระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นติดลบ ขณะที่ความเคลื่อนไหว SET Index ในช่วง 2-4 สัปดาห์ก่อนหุ้น IPO ขนาดใหญ่จะเริ่มเข้ามาซื้อขายในตลาด มีโอกาสสูงถึง 83% ที่ SET Index จะปรับตัวลง โดยให้ผลตอบแทนติดลบเฉลี่ย 2-3%
สำหรับประเด็นหุ้นที่น่าสนใจ แนะนำให้เลือกลงทุนในหุ้นวัฏจักร (Cyclical Stocks) ที่น่าจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และแนะนำหาจังหวะสะสมหุ้นปันผล เนื่องจากภาวะอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำอีกนาน โดยหุ้นเด่นในเดือน ม.ค. ที่แนะนำ คือ HMPRO, INTUCH, KKP, MTC, SCC, SFLEX, TPIPL และ TVO สำหรับหุ้นเด่นน่าลงทุนในปี 2564 มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย หลังมีราคาหุ้นบางตัว เช่น AEONTS ราคาได้ปรับตัวขึ้นถึงเป้าหมายแล้ว ดังนั้น บล.ทิสโก้จึงเลือกหุ้นแนะนำในปี 2564 เป็น BAM, BBL, BDMS, MTC, PTTGC, TWPC และ WHA ด้านแนวรับสำคัญของเดือนม.ค. 2564 อยู่ที่ 1,440 จุด แนวรับถัดไปอยู่ที่ 1,400 -1,390 จุด ขณะที่แนวต้านสำคัญอยู่ที่ 1,500 -1,515 จุด และมีแนวต้านถัดไปที่ 1,540-1,550 จุด ตามลำดับ
ข่าวเด่น