กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กางแผนการทำงานปี 2564 เร่งกระบวนการเตรียมเสนอรัฐสภาให้สัตยาบัน RCEP ภายในกลางปีนี้ เดินหน้าเปิด-ปิด และปรับปรุงการเจรจา FTA 13 ฉบับ จัดตั้งกองทุน FTA และพัฒนาระบบจับตามองการค้า ติดอาวุธและเยียวยาผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยแผนการทำงานของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ปี 2564 ขานรับนโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ด้านการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยมีแผนงานสำคัญ 4 ด้าน ดังนี้ (1) เร่งรัดดำเนินกระบวนการภายในเพื่อเสนอรัฐสภาให้สัตยาบันความตกลง RCEP ภายในกลางปีนี้ (2) เดินหน้าเปิด ปิด และปรับปรุงการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) รวม 13 ฉบับ (3) พัฒนากลไกเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก FTA และ (4) เดินหน้าสร้างความเข้าใจกลุ่มเกษตรกร SME ภาคเอกชน และภาคประชาชน เรื่องการใช้ประโยชน์และการเตรียมรับมือผลกระทบจาก FTA
นางอรมน กล่าวว่า สำหรับความตกลง FTA ที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ เปิดการเจรจา FTA กับ 5 กลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป (EU) สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA ประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์) สหราชอาณาจักร (UK) สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU ประกอบด้วย คาซัคสถาน เบลารุส อาร์เมเนีย คีร์กิซสถาน และรัสเซีย) และอาเซียน-แคนาดา รวมทั้งปรับปรุงความตกลง FTA ภายใต้กรอบอาเซียน 4 ฉบับ ได้แก่ อาเซียน-จีน อาเซียน-อินเดีย อาเซียน-เกาหลีใต้ และอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เพื่อเปิดเสรีเพิ่มเติมในรายการสินค้าที่ยังไม่ได้ลดหรือยกเลิกภาษีศุลกากรระหว่างกัน และยกระดับข้อบทความตกลงให้ทันสมัย สอดรับกับสภาพแวดล้อมและรูปแบบทางการค้าในปัจจุบัน และปิดการเจรจา FTA ที่ค้างอยู่ 4 ฉบับ โดยเร็ว ได้แก่ ตุรกี ปากีสถาน ศรีลังกา และ BIMSTEC (ประกอบด้วย บังคลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย)
นางอรมน เสริมว่า กรมฯ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนากลไกเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก FTA 2 เรื่องหลัก คือ 1) จัดตั้งกองทุน FTA โดยจะเร่งหารือกับกรมบัญชีกลางและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกร่างพระราชบัญญัติการขอจัดตั้งกองทุน FTA เสนอต่อคณะทำงานพิจารณาแนวทางกองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า เพื่อเสนอระดับนโยบายต่อไป และ 2) พัฒนาระบบจับตามองทางการค้า สำหรับเฝ้าระวัง และติดตามสถิติการนำเข้า-ส่งออกของไทยกับประเทศคู่ค้าซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการในประเทศ หากจำเป็นต้องนำมาตรการปกป้อง (safeguard) และตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) มาใช้เพื่อเยียวยาอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการทะลักเข้ามาปริมาณมาก หรือทุ่มตลาดของสินค้านำเข้า
นอกจากนี้ กรมฯ จะร่วมกับพันธมิตร อาทิ สภาเกษตรกรแห่งชาติ กลุ่มสหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน เดินหน้าสร้างความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งกลุ่มเกษตรกร SME ภาคเอกชน และภาคประชาชน เรื่องประโยชน์และผลกระทบของการเจรจา FTA จะให้ความสำคัญกับการจัดฝึกอบรม สัมมนา ทั้งแบบลงพื้นที่จริง และรูปแบบออนไลน์
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมี FTA 14 ฉบับ (รวม RCEP) กับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เปรู ชิลี อินเดีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยในปี 2562 การค้าของไทยกับ 18 ประเทศ มีมูลค่า 302,991.6 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 62.8% ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก สำหรับในช่วงเดือน ม.ค.- พ.ย. 2563 การค้าของไทยกับ 18 ประเทศ มีมูลค่า 250,721.8 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 62.8% ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกมูลค่า 128,221.2 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเม็ดพลาสติก เป็นต้น และไทยนำเข้ามูลค่า 122,500.6 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ น้ำมันดิบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น
ข่าวเด่น