บล.ไทยพาณิชย์ ประเมินตลาดหุ้นไทยโดยรวมในปี 2564 มีแนวโน้มดีขึ้น จากภาพความคาดหวังของการฟื้นตัวของธุรกิจและเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีประเด็นข่าวดีเรื่องวัคซีนและเงินทุนต่างชาติไหลเข้าเป็นปัจจัยกระตุ้น อย่างไรก็ตาม ความผันผวนจะยังคงอยู่จาก Market Risk ที่สูงขึ้น โดยประเมินเป้า SET Index ที่เหมาะสมอ้างอิงปัจจัยพื้นฐานอยู่ที่ 1,450 - 1,500 จุด แต่ด้วยภาพของกระแสเงินไหลเข้าทำให้ SET Index บางช่วงเวลามีโอกาสแกว่งตัวขึ้นไปเกินกว่าระดับดังกล่าว 5-10% สำหรับกลยุทธ์การลงทุนใน1Q64 เน้นเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มวัฏจักรเศรษฐกิจมากขึ้น รวมถึง ซื้อสะสมหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ เทรนด์ในอนาคต ได้แก่ พลังงานสะอาด การดูแลสุขภาพ และ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี หุ้นแนะนำ ได้แก่ BDMS EA MINT SCGP SPALI IIG IP THREL TNP WICE
นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวว่า ปี 2564 เป็นปีของความคาดหวังการฟื้นตัวของธุรกิจและเศรษฐกิจจาก COVID-19 หลังจากเริ่มมีการแจกจ่ายวัคซีน แต่อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนในวงกว้างอาจจะทำได้ไม่เร็ว ดังนั้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและยังไม่กลับไปเป็นปกติดังเช่นก่อนเกิด COVID-19 ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการฟื้นตัวหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเศรษฐกิจจีนและสหรัฐจะมีการฟื้นตัวเร็ว ส่วนยุโรป ญี่ปุ่น และไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วแต่จะฟื้นตัวช้าเนื่องจากต้องพึ่งพาความต้องการจากต่างประเทศและการท่องเที่ยวสูง นอกจากนั้นนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะเป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนการฟื้นตัว
ด้านเศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดการณ์ว่า GDP จะเติบโต 3% YoY โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกเป็นสำคัญ หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19ในปีที่ผ่านมา ได้เห็นการปรับตัวของหลายๆ อุตสาหกรรมในประเทศไทยและมองว่าอุตสาหกรรมที่จะเห็นการฟื้นตัวอย่างโดดเด่น ปี 2564 คือ กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี, ประกัน, อาหาร, บรรจุภัณฑ์, การแพทย์ และขนส่งทางบก สำหรับกลุ่มโรงแรมและสายการบินอาจจะเห็นการฟื้นตัวอย่างโดดเด่นเช่นกัน แต่ยังมองว่าผลประกอบการน่าจะยังขาดทุนต่อเนื่องจากปีก่อน สำหรับการระบาดของ COVID-19 รอบใหม่ในปัจจุบัน เชื่อว่าทุกภาคส่วนมีความพร้อมในการรับมือมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ภาคการท่องเที่ยวยังคงได้รับผลกระทบมากทำให้คาดว่าการฟื้นตัวจะเริ่มเห็นใน 4Q64 เป็นต้นไป
ด้านตลาดหุ้นไทยในปี 2564 มีแนวโน้มสดใสกว่าปี 2563 จากความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่ลดลง เนื่องจากอยู่ในช่วงของผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่องถึงปี 2565 โดยเฉพาะธุรกิจที่ขึ้นกับวัฏจักรเศรษฐกิจ (พลังงาน ปิโตรเคมี ธนาคาร การบริโภค และ การท่องเที่ยว เป็นต้น) โดยคาดการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียนจะฟื้นตัว 40% YoY ในปี 2564 และ 19% YoY ในปี 2565 อย่างไรก็ตาม ความผันผวนจะยังอยู่จากระดับราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นเร็วและความเสี่ยงภายนอกที่สูงขึ้น ประเมินระดับเหมาะสมของ SET Index ปี 2564 อยู่ที่ 1,450-1,500 จุด อ้างอิงจากปัจจัยพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม คาดว่า SET Index ในบางช่วงเวลามีโอกาสแกว่งตัวขึ้นไปเกินกว่าระดับดังกล่าว 5-10% จากปัจจัยหนุนของสภาพคล่องในตลาดการเงินที่สูง เงินทุนต่างประเทศที่กลับเข้ามาลงทุน และความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานที่ต่อเนื่องถึงปี 2565
กลยุทธ์การลงทุนไตรมาสแรกปี 2564 เน้นเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มวัฏจักรเศรษฐกิจมากขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึง ซื้อสะสมหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเทรนด์ในอนาคต ได้แก่ พลังงานสะอาด การดูแลสุขภาพ และ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี หุ้นแนะนำ ได้แก่
·BDMS : Healthcare เทรนด์นี้ไม่มี Out : บริษัทรุกตลาดผู้ป่วยมีประกันช่วยหนุนกำไรยั่งยืน ขณะที่คาดผลการดำเนินงานผ่านจุดต่ำสุดแล้ว โดยปี 2564 คาดกำไรปกติจะพลิกเติบโต 29%YoY ส่วนปัจจัยที่ติดตาม คือ การฟื้นตัวของผู้ป่วยต่างชาติจากมาตรการล็อคดาวน์ การแข่งขันในกลุ่ม รพ. เอกชนระดับบน และ มาตรการภาครัฐ เช่น การคุมราคายาและค่ารักษา
·EA : New S-Curve จากธุรกิจแบตเตอรี่ : ในอีก 3-5 ปีข้างหน้างบลงทุนส่วนใหญ่จะอยู่ที่ธุรกิจแบตเตอรี่ ซึ่งมองว่าเป็นธุรกิจพลังงานใหม่และสะอาดที่มีศักยภาพเติบโตสูงในอนาคต ส่วนปัจจัยที่ติดตามคือ การลงทุนขนาดใหญ่ในโรงงานแบตเตอรี่เฟสที่ 2 การส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าคาดว่าจะเกิดขึ้นใน 2H64 และการประมูลรถโดยสารประจำทางจำนวน 3,000 คัน ใน 1Q64
· MINT : ปรับตัวเร็วในภาวะวิกฤติ : คาดว่าผลการดำเนินงานจะฟื้นตัวเด่นหลังสถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้น อีกทั้งบริษัทยังปรับตัวได้เร็วทั้งการเพิ่มทุนและออก Perpetual Debenture ปีก่อนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องและการคุมค่าใช้จ่ายอย่างเข้มข้น ปัจจัยที่ติดตามคือ การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงอาจจะกระทบต่อศักยภาพทำกำไรของโรงแรมและการแข็งของค่าเงินบาท
·SCGP : ผู้นำธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในอาเซียน : กำไรปกติคาดเติบโตแกร่งเฉลี่ยปีละ 16% ในปี 2562-2565 จากกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้น อัตรากำไรที่สูงขึ้น และดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลงหลังจากชำระคืนหนี้ ส่วนปัจจัยที่ติดตามคือ การแข่งขันในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และทิศทางต้นทุนวัตถุดิบเศษกระดาษรีไซเคิล (RCP)
·SPALI : หุ้นที่อยู่อาศัยที่ไม่ควรมองข้าม : ปี 2564 คาดมีกำไรสุทธิ 5.1 พันลบ. เติบโต 29% YoY สูงสุดของกลุ่ม ขณะที่ผลตอบแทนจากเงินปันผลน่าสนใจราวปีละ 6% ส่วนปัจจัยที่ติดตามคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและการตอบรับของ Presales ในโครงการใหม่ ความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อและ Rejection Rate
·IIG : ผู้นำในยุค Digital Transformation : อยู่ในอุตสาหกรรมที่เติบโตชัดเจน โดยเฉพาะการทำ CRM (60% ของรายได้) จากระบบซอฟต์แวร์ของ Salesforce ซึ่งมีการเติบโตในระดับ 25-30% ต่อปี ส่วนปัจจัยที่ติดตามคือ กระแสตอบรับของธุรกิจใหม่ที่เป็น Recurring Income ทั้งหมด ข้อสรุปของงานที่อยู่ใน Pipeline ว่าเซ็นต์สัญญาได้เร็วแค่ไหน
·IP : โภชนบำบัดเทรนด์นี้จะมาแรง : เป็นผู้นำธุรกิจโภชนบำบัดซึ่งมีโอกาสเติบโตในระยะยาวจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและพฤติกรรมผู้บริโภคที่ดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยปี 2564 คาดกำไรโตเด่นกว่า 50%YoY ปัจจัยที่ติดตามคือ สินค้าใหม่ออกได้ตามแผนที่กำหนดหรือไม่ การแข่งขันที่สูงในธุรกิจสุขภาพและกระแสความนิยมในสินค้าที่อาจเปลี่ยนแปลง และการจับมือกับพันธมิตรเพื่อทำธุรกิจใหม่ๆ
·THREL : กำไรฟื้นตัวแรง : ปี 2564 คาดกำไรพลิกฟื้นโต 90% จากการหายไปของการตั้งสำรองพิเศษและค่าสินไหมทดแทนจากสัญญาที่ได้ยกเลิกไป รวมทั้งการคุมคุณภาพช่วยลด loss ratio จากผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพ ส่วนการฟื้นตัวของตลาดทุนและผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลคาดหนุน ROI ฟื้นตัว ปัจจัยที่ติดตาม คือ กำลังซื้อฟื้นตัวช้ากว่าคาด Combined Ratio ผันผวนตาม Loss Ratio และ ROI ผันผวนตามตลาดทุนและผลตอบแทนพันธบัตร
·TNP : Local Modern Trade เติบโตในรูปแบบที่แตกต่าง : เป็นหุ้นค้าปลีกไม่กี่บริษัทที่ปี 2564 คาดกำไรโตต่อในระดับสองหลัก คือ 13.5% จากปี 2563 ที่คาดโตเด่นแล้ว 44.4%YoY จากการรับรู้ยอดขายสาขาใหม่ 4-5 แห่ง ปัจจัยที่ติดตามคือ กำลังซื้อฟื้นตัวช้ากว่าคาด และการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่
· WICE : ธุรกิจ Logistic ในเอเชียยังเติบโตได้ดี : กำไรอยู่ในทิศทางขาขึ้น โดยปี 2564 คาดกำไรโต 13.8% จากปี 2563 ที่คาดโตเด่นเกือบ 2 เท่า แรงหนุนจากการฟื้นตัวของปริมาณขนส่งชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ บวกกับ ดีมานต์ขนส่งสินค้าข้ามแดนยังเพิ่มขึ้นในตลาดจีนและอาเซียน ปัจจัยที่ติดตามคือ ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ การขยายตัวของเศรษฐกิจ และการแข่งขันที่สูงขึ้นในธุรกิจ
ข่าวเด่น