‘อาเซียน’ เตรียมนัดประชุมด้านเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการครั้งแรก ด้านการประชุมคณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจของอาเซียน (CoW) จะหารือบรรเทาผลกระทบและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 และการรับมือ 4IR ส่วนการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) จะหารือจัดทำแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังโควิด-19 การประกาศเจรจาจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา พร้อมเล็งจัดตั้ง คกก. อิสระด้าน NTM แก้ปัญหาความขัดแย้งด้านมาตรการที่มิใช่ภาษี
นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม) ให้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจของอาเซียน หรือ Committee of the Whole (CoW) ครั้งที่ 11 ในวันที่ 23 มกราคม 2564 และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน หรือ SEOM ครั้งที่ 1/52 ระหว่างวันที่ 25-27 มกราคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งจะเป็นการประชุมด้านเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการครั้งแรกของอาเซียน ในปี 2564 ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของบรูไนดารุสซาลาม
นายดวงอาทิตย์ กล่าวว่า สำหรับการประชุม CoW ครั้งนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสของทั้งสามเสาและองค์กรรายสาขาด้านเศรษฐกิจของอาเซียน อาทิ คณะกรรมการด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การอำนวยความสะดวกทางการค้า และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จะร่วมหารือแผนการดำเนินงานสำคัญ และประเด็นที่แต่ละสาขาจะต้องดำเนินงาน เช่น การบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 และการรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 เป็นต้น
นายดวงอาทิตย์ เพิ่มเติมว่า ส่วนการประชุม SEOM จะมีการหารือในประเด็นสำคัญ เช่น การพิจารณาให้ความเห็นชอบประเด็นด้านเศรษฐกิจที่บรูไนฯ จะเสนออาเซียนดำเนินการให้สำเร็จภายในปีนี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการฟื้นฟู ด้านการเป็นดิจิทัล และด้านความยั่งยืน รวม 10 ประเด็น เช่น การจัดทำเครื่องมือในการประเมินประสิทธิภาพของมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) การจัดทำแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด-19 และการประกาศเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา เป็นต้น รวมทั้งพิจารณาการดำเนินงานขององค์กรรายสาขาที่อยู่ภายใต้การกำกับของ SEOM เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการอิสระด้าน NTM เพื่อแก้ปัญหาข้อขัดแย้งด้านมาตรการที่มิใช่ภาษีระหว่างกัน
นอกจากนี้ จะหารือการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 อาทิ การพิจารณาขยายบัญชีสินค้าจำเป็นที่จะไม่ใช้ข้อจำกัดการส่งออกระหว่างกัน เพื่อรักษาความเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตของอาเซียนให้เข้มแข็ง ในช่วงสถานการณ์ของโควิด-19 รวมทั้งหารือแผนความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา 11 ประเทศ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา เป็นต้น
ทั้งนี้ ในช่วงเดือน ม.ค. - พ.ย. 2563 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนมีมูลค่ารวม 86,312 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียนมูลค่า 50,564 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียนมูลค่า 35,748 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
ข่าวเด่น