ก.ล.ต. เปิดรับฟังความเห็นการปรับปรุงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ความเห็นชอบบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินและผู้ประเมินหลักสำหรับธุรกรรมในตลาดทุนให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน เพื่อลดกฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็น เพื่อลดภาระของภาคเอกชนตามโครงการ Regulatory Guillotine อาทิ ลดภาระค่าธรรมเนียมต่อปี ลดระยะเวลาในการขอต่ออายุเหลือ 7 วัน และลดงานเอกสาร โดยเปิดให้ยื่นเอกสารผ่านระบบออนไลน์ได้ ซึ่งจะลดกระดาษประมาณ 15,000 แผ่นต่อปี
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วยการมีกฎระเบียบที่ได้มาตรฐาน ภายใต้แนวทาง Regulatory Guillotine* โดยมีเป้าหมายให้กฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต. มีมาตรฐานและสอดคล้องกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้มีกฎเกณฑ์เท่าที่จำเป็นและการใช้บังคับเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ลงทุนยังคงได้รับการคุ้มครองที่เหมาะสมและผู้ประกอบการมีความสะดวกในการประกอบธุรกิจ
ก.ล.ต. จึงทบทวนกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ความเห็นชอบบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สินและผู้ประเมินหลักสำหรับธุรกรรมในตลาดทุน ดังนี้
(1) ขยายระยะเวลาการให้ความเห็นชอบจาก 2 ปี เป็น 5 ปี แต่ผู้ประเมินหลักยังคงต้องเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับวิชาชีพประเมินอย่างต่อเนื่องตามหลักสูตรของสมาคมผู้ประเมินที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. เพื่อพัฒนาและยกระดับความรู้อย่างเพียงพอ
(2) กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมคำขอการให้ความเห็นชอบ สำหรับบริษัทประเมิน จำนวน 50,000 บาทต่อ 5 ปี และผู้ประเมินหลัก จำนวน 10,000 บาทต่อ 5 ปี จากปัจจุบันที่กำหนดไว้ที่จำนวนดังกล่าวต่อ 2 ปี ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนต่อปีให้แก่ผู้ประเมิน
(3) ให้ยื่นคำขอการให้ความเห็นชอบ ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ระบบออนไลน์) ได้ นอกจากนี้ ยังได้รวมแบบฟอร์มคำขอการให้ความเห็นชอบ เหลือเพียงแบบฟอร์มเดียวจากปัจจุบันที่มี 3 แบบฟอร์ม และลดเอกสารหลักฐานประกอบเหลือเพียง 7 รายการจาก 19 รายการ
การดำเนินการดังกล่าวคาดว่าจะช่วยลดจำนวนกระดาษได้ประมาณ 15,000 แผ่นต่อปี ลดขั้นตอนในการพิจารณาให้ความเห็นชอบต่ออายุบริษัทประเมินและผู้ประเมินเหลือเพียง 7 วัน (ตามที่ระบุไว้ในคู่มือประชาชน) จากเดิม 90 วัน
หมายเหตุ : *Regulatory Guillotine คือ การทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน โดยใช้วิธีที่รวดเร็ว โปร่งใส ใช้ต้นทุนต่ำ และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ข่าวเด่น