ปิดฉากการทำธุรกิจในประเทศไทยไปเรียบร้อยสำหรับห้างโตคิว ห้างสรรพสินค้าสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งตลอดระยะเวลา 35 ปี ที่ห้างโตคิวเปิดให้บริการในประเทศไทย ได้สร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งในประเทศไทยหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นสินค้า หรือบริการ
แต่จากการแข่งขันของธุรกิจห้างสรรพสินค้าในประเทศไทยที่ค่อนข้างจะรุนแรง ประกอบกับผู้เล่นห้างสรรพสินค้าสัญชาติไทยค่อนข้างมีความแข็งแกร่ง จึงทำให้การเข้ามาทำธุรกิจห้างสรรพสินค้าของผู้ประกอบการญี่ปุ่นไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เห็นได้จากการที่แต่ละแบรนด์ทยอยปิดกิจการกันไปไม่ว่าจะเป็นห้างสรรสินค้าไทยไดมารูที่ปิดกิจการไปเมื่อปี 2543 หลังจากเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยได้ประมาณ 35 ปี นับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2507
นอกจากนี้ ยังมีห้างสรรพสินค้าอิเซตัน ที่ปิดกิจการไปเมื่อวันที่ 31 ส.ค.2563 ที่ผ่านมา หลังจากดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลา 28 ปี นับตั้งแต่เดือน เม.ย.2535 เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นได้ในสถานการณ์การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย
เช่นเดียวกับห้างสรรพสินค้าโตคิว ที่ทยอยปิดกิจการมาตั้งแต่ปี 2562 เพราะไม่สามารถแบกรับปัญหาการขาดทุนของการดำเนินธุรกิจได้ จึงทำให้ห้างสรรพสินค้าโตคิวต้องปิดกิจการที่สาขาศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค หลังจากร่วมทุนกับกลุ่มสยามพิวรรธน์ ในนามของบริษัท พีที รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ประมาณ 4 ปีเท่านั้น
และจากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงทำให้ห้างสรรพสินค้าโตคิว ต้องประสบกับปัญหาในการดำเนินธุรกิจอย่างหนัก ส่งผลให้เดือน ต.ค. 2563 ที่ผ่านมามีกระแสข่างออกมาว่าห้างสรรพสินค้าโตคิวจะปิดกิจการที่สาขาศูนย์การค้าเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ในปลายเดือน ม.ค. 2564 เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีลูกค้าเข้ามาใช้บริการค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะช่วงต้นปี 2563 เพราะรัฐบาลมีการประกาศล็อคดาวน์ประเทศ ส่งผลให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันไปซื้อสินค้าทางช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ห้างโตคิว มีรายได้น้อยลง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีรายจ่ายออกทุกวัน ผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ห้างโตคิวมีผลประกอบการลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีหลังก่อนปิดกิจการมีผลประกอบการขาดทุนสะสมอยู่ที่ประมาณ 670 ล้านบาท โดยในปี 2560 มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 1,291 ล้านบาท ขาดทุน 288 ล้านบาท ปี 2561 มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 1,238 ล้านบาท ขาดทุน 90 ล้านบาท และปี 2562 มีรายได้ 1,141 ล้านบาท ขาดทุน 194 ล้านบาท
ด้วยปัญหาการขาดทุนสะสม จึงทำให้ห้างโตคิวตัดสินใจปิดกิจการในไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา หลังจากดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาอย่างยาวนานถึง 35 ปี ถือเป็นห้างสรรพสินค้าสัญชาติญี่ปุ่นที่ปิดกิจการกลับประเทศไปเป็นแบรนด์ที่ 3 เพราะไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นได้
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้หลายคนเริ่มกับมาจับตามองห้างสรรพสินค้าสัญชาติญี่ปุ่นที่เหลือในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ “ทาคาชิมายา” หรือ “ดองกิ” ซึ่งในส่วนของห้างสรรพสินค้าทาคาชิมายา ปัจจุบันมีอยู่ 1 สาขา ที่ศูนย์การค้าไอคอนสยาม ขณะที่ห้างดองกิ มีสาขาที่เปิดให้บริการในไทยจำนวน 2 สาขา คือ ทองหล่อ และศูนย์การค้าเดอะ มาร์เก็ต ราชประสงค์ ซึ่งแต่ละสาขาตอนนี้ก็อยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากจำนวนลูกค้าที่เข้าไปใช้บริการค่อนข้างน้อย ทำให้ต้องงัดกลยุทธ์การทำโปรโมชั่นกันค่อนข้างหนัก เพื่อเรียกลูกค้า ซึ่งถ้าหากผ่านช่วงนี้ไปได้สถานการณ์ทุกอย่างก็น่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น
ส่วนทำเลเดิมของแบรนด์ที่ปิดกิจการไป ขณะนี้ก็ยังไม่มีธุรกิจไหนเข้ามาจับจองพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เดิมของห้าสรรพสินค้าโตคิว สาขาศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค หรือพื้นที่เดิมของห้างสรรพสินค้าอิเซตัน สาขาศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยเฉพาะพื้นที่เดิมของห้างอิเซตัน ซึ่งมีมากถึง 6 ชั้น รวมกว่า 27,000 ตร.ม. ส่วนพื้นที่เดิมของห้างโตคิว สาขาศูนย์การค้าเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ ล่าสุดมีกระแสข่าวออกมาว่าจะดึงห้างดองกิ เข้ามาเปิดให้บริการแทน
นายสมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้ทำการรีโนเวตครั้งใหญ่ในรอบ 36 ปี เพื่อพลิกโฉมสู่ความเป็นศูนย์การค้าเอ็มบีเคยุคใหม่ ด้วยการจัดโซนนิ่งและพื้นที่ภายในใหม่ เพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการเดินช็อปปิ้ง เริ่มจากพื้นที่ของห้างโตคิวเดิมชั้น 1 จะมีการจับมือกับเครือสหพัฒน์ทั้งในส่วนของไอ.ซี.ซี. และร้านซูรูฮะ เพื่อนำร้านโมเดลใหม่เข้ามาเปิดให้บริการในช่วงกลางปีนี้
ขณะที่ชั้น 2 ของห้างโตคิวเดิมจะนำร้านดองกิ ( DON DON DONKI) เข้ามาเปิดให้บริการบนพื้นที่กว่า 3,000 ตร.ม. ซึ่งถือเป็นสาขาแฟล็กชิฟสโตร์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงและเน้นบริการสินค้าในกลุ่มอาหารเป็นหลัก ส่วนชั้น 3 อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรยักษ์ใหญ่ 2 ราย ,ชั้น 4 จะเปิดเป็นโซนสินค้าไอที ที่เชื่อมในส่วนของศูนย์การค้าเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดให้บริการในโซนดังกล่าวได้อย่างเป็นทางการประมาณไตรมาส 3 ของปีนี้ คิดเป็นสัดส่วนร้านที่จะเปิดให้บริการที่ประมาณ 80% และครบ 100% ในช่วงปลายปี 2564
ส่วนพื้นที่ของศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ บริเวณชั้น 1 จะเปิดเป็นพื้นที่ศูนย์อาหารลากยาวตั้งแต่ฝั่งพญาไทไปจนถึงโรงแรมปทุมวัน ขณะที่ ชั้น G โซน B จะนำร้านบ้านคุณแม่ ,ทิม ฮอร์ตันส์ (Tim Hortons) และ ชินคันเซ็น ซูชิ (Shinkanzen Sushi) มาเปิดให้บริการตั้งแต่เช้าจนถึงตี 1 นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะนำแบรนด์ร้านอาหารชั้นนำอีกมากมาย มาเปิให้บริการ ด้วยการนำร้านอาหารที่มีอยู่เดิมย้ายพื้นที่ลงมาเปิดให้บริการรูปแบบใหม่ เช่น ฮองมิน และ S&P เป็นต้น
ปัจจุบันศูนย์การค้าเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ ได้เริ่มทยอยเปิดให้บริการโซนใหม่ๆบ้างแล้ว เช่น โซน Learning Hub อาณาจักรแห่งการเรียนรู้ใจกลางเมืองรวมทั้งสิ้น 24 สถาบัน ที่บริเวณชั้น 4 , 5 และ 6 ซึ่งในส่วนของชั้น 5 ได้เปิดให้บริการในส่วนของร้าน OnDemand , DA’VANCE By A’Ping ,Positive Learning ,EP Focus ,The BTS ,Sup’K ,Excellent Education Center Monkey Monkey Academic training Center และ Math Logik ส่วนสถาบันอื่นๆ ที่อยู่ชั้น 4 และ 6 จะเริ่มทยอยเปิดให้บริการในเดือนมี.ค. และ เม.ย. ตามลำดับ
ข่าวเด่น