รัฐสภามีมติเห็นชอบการให้สัตยาบันความตกลง RCEP เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 64 เร่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกประกาศ-แนวทางปฏิบัติ รองรับการใช้ประโยชน์จาก RCEP คาดมีผลใช้บังคับภายในปีนี้ ชี้! สินค้าเกษตรจะได้ลด-ยกเลิกภาษีนำเข้าเพียบ ผู้ประกอบการ-ผู้บริโภคได้ประโยชน์จริง
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 รองนายก รัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) เข้าร่วมการประชุมรัฐสภา โดยได้นำเสนอข้อมูลเหตุผลความจำเป็น และประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ของไทย ซึ่งรัฐสภามีมติเห็นชอบการให้สัตยาบันความตกลง RCEP
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากที่สมาชิก RCEP 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ร่วมลงนามความตกลง RCEP เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2563 โดยขั้นตอนต่อไป ประเทศสมาชิก RCEP จะต้องดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบันความตกลง และเมื่อสมาชิกอาเซียนอย่างน้อย 6 ประเทศ และประเทศสมาชิกนอกอาเซียนอย่างน้อย 3 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันความตกลงแล้ว อีก 60 วันหลังจากนั้น ความตกลง RCEP จะมีผลใช้บังคับ ซึ่งคาดว่าจะทันภายในปี 2564
นางอรมน กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนการดำเนินการของไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงอุตสาหกรรม จะต้องเร่งออกประกาศที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎกระทรวงในการลดเลิกอัตราภาษีศุลกากร กฎระเบียบเรื่องการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า และเงื่อนไขการนำเข้าสินค้า เป็นต้น เพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลง RCEP รวมถึงจัดทำแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP ซึ่งต้องแล้วเสร็จก่อนความตกลงมีผลใช้บังคับ
นางอรมน เพิ่มเติมว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับความตกลง RCEP เนื่องจากเห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนของไทย โดย RCEP จะเป็น FTA ฉบับที่ 14 ของไทย โดยจะช่วยสร้างแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการในการเข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรกว่า 2,200 ล้านคน สินค้าส่งออกหลายรายการของไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจะได้รับการลดและยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรจากประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งจะเปิดตลาดใน RCEP ให้ไทยเพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ เช่น สินค้าประมง แป้งมันสำปะหลัง สัปปะรด น้ำมะพร้าว น้ำส้ม อาหารแปรรูป ผักและผลไม้แปรรูป เป็นต้น
“ความตกลง RCEP ยังช่วยให้ผู้ประกอบการ และ SMEs ของไทยสามารถลดต้นทุนและวางแผนธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังได้ประโยชน์จากกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกัน มีกฎระเบียบทางการค้าและพิธีการศุลกากรที่โปร่งใส ชัดเจน ลดขั้นตอนและความซับซ้อนจากเดิม ซึ่งช่วยสร้างสภาวะแวดล้อมการค้าที่โปร่งใสมากขึ้น นอกจากนี้ RCEP ยังกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ รวมถึงคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์ ซึ่งจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับการค้าออนไลน์ และทำให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคได้ประโยชน์จากความตกลง RCEP มากขึ้น” นางอรมนกล่าว
สำหรับในปี 2563 การค้าของไทยกว่าครึ่งพึ่งพาตลาด RCEP โดยการค้ารวมระหว่างไทยกับสมาชิก RCEP มีมูลค่า 2.52 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.87 ล้านล้านบาท (57.5% ของการค้ารวมของไทย) โดยไทยส่งออกไป RCEP มูลค่า 1.23 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.83 ล้านล้านบาท (53.3% ของการส่งออกไทย) สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เป็นต้น
ข่าวเด่น