กระทรวงพาณิชย์ จับมือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขับเคลื่อนกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ดันผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์เส้นทาง R3A เชื่อมการค้าพรมแดนไทย-จีน หนุนเชียงของเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน ยกระดับเชื่อมโยงพื้นที่ตอนเหนือของประเทศสมาชิก เชื่อมโยงอาเซียน จีน และยุโรปในอนาคต
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดตัวโครงการ “สร้างโอกาสสำหรับการค้าข้ามพรมแดนในกลุ่มประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง จากการพัฒนาเส้นทาง R3A และโครงข่ายรถไฟ China-Pan Asia” เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยการดำเนินโครงการนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้มอบให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดำเนินการระยะเวลา 3 ปี เพื่อศึกษาโอกาสและการใช้ประโยชน์จากเส้นทาง R3A ที่เชื่อมระหว่างจีน สปป.ลาว และไทย ผ่านจุดพรมแดนและเมืองที่สำคัญ เช่น อ.เชียงของ จ.เชียงราย บ้านห้วยทราย สปป.ลาว บ่อเต็น สปป.ลาว บ่อหาน จีน และคุณหมิง จีน เป็นต้น
นางอรมน กล่าวว่า นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวจะศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับนโยบายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงของ ให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross Border E-Commerce: CBEC) ส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยและอาเซียนผ่านเส้นทาง R3A และเขตการค้าเสรีคุณหมิง การใช้ประโยชน์และเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยในการขนส่งผ่านเส้นทาง R3A และโครงข่ายรถไฟของจีนที่สร้างเชื่อมต่อจากคุณหมิงถึงบ่อหาน รวมทั้งยกระดับการเชื่อมโยงพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง เชื่อมโยงอาเซียน จีน และยุโรปในอนาคต
นางอรมน เสริมว่า ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับภาคเอกชน โดยเฉพาะในการประชุม กรอ.พาณิชย์ ส่วนใหญ่ขอให้กระทรวงฯ ช่วยผลักดันการเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดติดพรมแดนในภาคเหนือของไทย อาทิ เชียงราย กับ สปป.ลาว และจีน รวมทั้งพัฒนา อ.เชียงของ จ.เชียงราย ให้เป็นศูนย์กระจายสินค้าและขนส่งสินค้าไปจีนผ่านเส้นทาง R3A และพัฒนาให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมระหว่างเมืองพรมแดนของ 3 ประเทศ คือ อ.เชียงของ
จ.เชียงราย กับ บ่อเต็น สปป.ลาว และบ่อหาน จีน เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี และการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากร และการขนส่งและกระจายสินค้าจากภาคเหนือของไทยไปยังตอนใต้ของจีน ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนกับประเทศที่มีพรมแดนติดกับจีน
สำหรับกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีน ซึ่งร่วมมือกันใน 5 สาขาสำคัญ ได้แก่ ความเชื่อมโยง การพัฒนาศักยภาพในการผลิต ความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน ความร่วมมือทรัพยากรน้ำ และการเกษตรและการลดความยากจน โดยกระทรวงพาณิชย์ได้รับมอบให้เป็นหน่วยประสานงานหลักของไทยในสาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน
ทั้งนี้ ในการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2559 ผู้นำจีนได้ประกาศจัดตั้งกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง เป็นเงิน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเวลา 5 ปี เพื่อสนับสนุนโครงการภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ในการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถด้านต่างๆ โดยในปี 2560 กระทรวงพาณิชย์ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนฯ จำนวน 4 โครงการ มูลค่า 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 50 ล้านบาท ได้แก่ โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดนโครงการพัฒนาการอำนวยความสะดวกแนวชายแดนเพื่อพัฒนาการค้าและระบบโลจิสติกส์ การจัดกิจกรรมภาคธุรกิจแม่โขง-ล้านช้าง และโครงการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในเขตชนบท และในปี 2563 ได้รับงบประมาณสนับสนุน มูลค่า 452,600 เหรียญสหรัฐ หรือ 14 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการ “สร้างโอกาสสำหรับการค้าข้ามพรมแดนในกลุ่มประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง จากการพัฒนาเส้นทาง R3A และโครงข่ายรถไฟ China-Pan Asia”
ในปี 2563 การค้าระหว่างไทยกับสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง มีมูลค่า 116,390 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกมูลค่า 54,164 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้ามูลค่า 62,225 ล้านเหรียญสหรัฐ
ข่าวเด่น