บีโอไอแจงยอดขอรับส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรม BCG ปี 2563 มีมูลค่าคำขอรับส่งเสริมกว่า 1.14 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 กว่าร้อยละ 17 สอดรับกับการเพิ่มและปรับปรุงประเภทกิจการ BCG ในปีที่ผ่านมา หวังยกระดับและสร้างความเข้มแข็งในอุตสาหกรรมเกษตรของไทย
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า การยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่ม BCG ปี 2563 ที่ผ่านมา มีอัตราเพิ่มขึ้นทั้งมูลค่าและจำนวนโครงการ โดยมีมูลค่ารวม 114,876 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งมีมูลค่า 98,006 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 และมีจำนวนโครงการ 494 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 จากปี 2562 ซึ่งมี 450 โครงการ
แนวคิด BCG ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) คือการพัฒนาเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการต่อยอดจุดแข็งของไทยที่มีความหลากหลายทางด้านการเกษตร ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลก โดยบีโอไอให้ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมตามแนวคิด BCG แบบครบวงจรตั้งแต่เกษตรต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เช่น การปรับปรุงพันธุ์พืชหรือสัตว์ การปลูกไม้เศรษฐกิจ การคัดคุณภาพ บรรจุ เก็บรักษาผลิตผลเกษตร การแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร การผลิตเชื้อเพลิงจากผลิตผลทางการเกษตร การผลิตหรือให้บริการระบบเกษตรสมัยใหม่ และเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น
นอกจากนี้ เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา บีโอไอได้ปรับปรุงประเภทกิจการตามแนวคิด BCG โดยการเพิ่มประเภทกิจการโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) ซึ่งเป็นโรงปลูกพืชที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้อย่างครบถ้วนและแม่นยำ ส่งผลให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัย เป็นธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการทั้งในประเทศและการส่งออกทั้งยังมีการปรับปรุงขอบข่ายและสิทธิประโยชน์ของกิจการเดิมในกลุ่ม BCG ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันด้วย เช่น กิจการผลิตอาหารสัตว์/ส่วนผสมอาหารสัตว์ กำหนดให้ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานสากล รวมทั้งมาตรฐานความปลอดภัยอาหาร จึงจะได้สิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตกิจการห้องเย็น/กิจการห้องเย็นและขนส่งห้องเย็น ระบุให้ใช้สารทำความเย็นที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย เป็นต้น
ปัจจุบัน บีโอไอมีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุนตามแนวคิด BCG กว่า 50 ประเภทกิจการย่อย ตัวอย่างโครงการที่ได้รับส่งเสริม เช่น โครงการผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ได้จากการสกัดไคโตซานโอลิโกแซคคาไรด์ (CSO) ที่ได้จากเปลือกกุ้งหรือปูด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ หรือลดการเกิดมะเร็ง โครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัด ซึ่งนำลำต้นปาล์มน้ำมันที่เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล เป็นต้น
“ทิศทางทางส่งเสริมการลงทุนในปี 2564 บีโอไอเน้นไปที่กิจการที่ไทยมีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และรวมถึงอุตสาหกรรม BCG ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของสำนักงานในปีนี้ โดยที่ผ่านมา บีโอไอได้นำแนวคิด BCG มาใช้อยู่แล้ว และให้การส่งเสริมการลงทุนมาโดยตลอด ทั้งยังมีการปรับปรุงแก้ไข รวมถึงเพิ่มประเภทกิจการใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อกระตุ้นให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ และในอนาคตหากมีธุรกิจใหม่ๆ ก็จะมีการพิจารณาเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน” เลขาธิการบีโอไอกล่าว
ข่าวเด่น