ยังคงมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดสำหรับตลาดเครื่องปรับอากาศของไทย เนื่องจากมีการคาดการณ์กันว่าแนวโน้มตลาดรวมเครื่องปรับอากาศในปีนี้จะยังคงทรงตัวต่อเนื่องจากปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่กว่า 3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในด้านของการจับจ่ายใช้สอย หลังจากปัญหาโรคระบาด และเศรษฐกิจชะลอตัว
จากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการต้องหันมาปรับแผนในการทำตลาด ด้วยการหันมาพัฒนาสินค้านวัตกรรมใหม่ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบนขึ้นไป เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวยังมีกำลังซื้อที่ดี เพียงแต่รอเวลาและรอสินค้าที่โดนใจ ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการจึงต้องปรับกลยุทธ์ด้วยการพัฒนาสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาทำตลาด เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย
นายฉัตรชัย เตชะพานิช ผู้จัดการทั่วไปกลุ่มเครื่องปรับอากาศ บริษัท พานาโซนิค เอ.พี.เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจเครื่องปรับอากาศภายใต้แบรนด์พานาโซนิค กล่าวว่า ภาพรวมตลาดเครื่องปรับอากาศในปี 2564 นี้ คาดว่าจะยังทรงตัวเหมือนกับปี 2563 ที่ผ่านมา เนื่องจากมีดีมานด์ใกล้เคียงกัน เพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงลดลง และเพิ่มความระมัดระวังในการเลือกสินค้ามากขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้ตลาดเครื่องปรับอากาศในช่วงหน้าร้อนนี้ ซึ่งถือเป็นช่วงสำคัญของการขายสินค้าน่าจะมีการแข่งขันที่รุนแรง เพราะทุกแบรนด์ต้องการกระตุ้นยอดขายให้เป็นไปตามเป้าหมายทั้งนั้น
ในส่วนของนวัตกรรมที่คาดว่าจะมีการนำมาแข่งขันกันมาที่สุดในปีนี้ นอกจากเทคโนโลยีอัจฉริยะก็น่าจะเป็นในเรื่องของฟังก์ชั่นที่เกี่ยวกับสุขภาพและคุณภาพอากาศ รวมถึงความสะดวกและความคุ้มค่า เนื่องจากปัจจุบันลูกค้าให้ความสนใจในการดูแลสุขภาพของตัวเองและครอบครัวกันมากขึ้น
สำหรับแนวทางการทำตลาดของ พานาโซนิค ในช่วงหน้าร้อนนี้จะมีการแบ่งลูกค้าออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้สนใจสุขภาพและเทคโนโลยีที่จะเน้นนำเสนอเทคโนโลยีนาโนอีเอ็กซ์ที่สามารถยับยั้งเชื้อโรคโควิด-19 ได้ และระบบฟอกอากาศ กลุ่มที่สนใจความประหยัดและคุ้มค่า จะจูงใจด้วยสินค้ารุ่นที่ได้ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ระดับ 3 ดาว และกลุ่มที่ให้น้ำหนักกับความทนทานจะชูเรื่องการผลิตคอยล์จากทองแดง
นอกจากนี้ ยังจะเพิ่มความเข้มข้นของการตลาดออนไลน์มากขึ้น เช่น การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียโดยอินฟลูเอนเซอร์ และการสะสมแต้มจากการซื้อสินค้า เพื่อแลกของพรีเมี่ยม และรับสิทธิร่วมกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น ขณะเดียวกัน จะมีการจัดโรดโชว์ไปตามพื้นที่ต่างๆ ควบคู่ไปกับการจัดอีเวนต์หน้าร้านในพื้นที่ที่สามารถจัดกิจกรรมได้ ซึ่งหลังจากออกมาทำกิจกรรมการตลาดในรูปแบบดังกล่าว พานาโซนิค มั่นใจว่ายอดขายเครื่องปรับอากาศในปีงบประมาณ 2564 (เม.ย. 64-มี.ค. 65) น่าจะมีอัตราการเติบโตได้ที่ 15% เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2563 ที่มียอดขายหดตัวไป 10%
ด้านแบรนด์มิตซูบิชิ ก็ออกมาประกาศไลน์อัพสินค้าปี 2564 ทั้งเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และพัดลม เข้าทำตลาดหลากหลายฟังก์ชั่น โดยในส่วนของไลน์เครื่องปรับอากาศ ในปีนี้ มิตซูบิชิ จะเน้นการผลิตสินค้าไปที่ตัวฟังก์ชั่น มิสเตอร์สลิม ECO EYE INVERTER XT Series สามารถปิด-เปิดอัตโนมัติเมื่อไม่มี-มีคนในห้อง และมีแผ่นกรองฝุ่น PM 2.5
นายชินจิ คามิยะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา จำกัด ผู้บริหารเครื่องปรับอากาศมิตซูบิชิ กล่าวว่า จากสถานการณ์ของโควิด-19 ที่ยังคงมีการแพร่ระบาดต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการดำเนินชีวิตภายใต้รูปแบบชีวิตวิถีใหม่ หรือนิว นอร์มอล คือ ต้องการฟังก์ชั่นอำนวยความสะดวก การกรองอากาศ การประหยัดพลังงาน โดยเฉพาะระบบอินเวอร์เตอร์ที่น่าจะขยายสัดส่วนจาก 73% เป็น 80% ของตลาดในปีนี้ เช่นเดียวกับการขายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซที่ปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นมากถึง 150%
สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ มิตซูบิชิ จะให้ความสำคัญมากขึ้น คือ กลุ่มลูกค้าองค์กรหรือบีทูบี เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มลูกค้าดังกล่าวมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี แม้ว่าจะมีผลกระทบในด้านของการแพร่ระบาดขงโรคโควิด-19 ทำให้ยอดขายปรับตัวลดลงไปบ้าง แต่หลังจากมีการปรับกลยุทธ์ ด้วยการหันมาจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ ควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับแอร์ระบบอินเวอร์เตอร์พบว่า กลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้ความสนใจกลุ่มสินค้าในระบบอินเวอร์เตอร์มากขึ้น
ฟากแบรนด์ซัมซุงก็เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมเครื่องปรับอากาศเพื่อสุขภาพเข้ามาทำตลาดอย่างจริงจังด้วยการส่ง “ WindFree™ Premium Plus” เข้ามาทำตลาด เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่ใส่ใจสุขภาพของทุกคนในครอบครัวเนื่องจากเครื่องปรับอากาศระบบดังกล่าวสามารถรักษาอุณหภูมิให้พอเหมาะไม่มีลมปะทะตัว มีระบบฟอกอากาศพร้อมระบบทำความสะอาดตัวเครื่องที่ช่วยลดปริมาณเชื้อโรคและสิ่งสกปรกต่างๆ ได้
นายเผดิมศักดิ์ รัตนเรืองศักดิ์ ผู้อำนวยการ ธุรกิจเครื่องปรับอากาศ บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จํากัด ผู้บริหารเครื่องปรับอากาศภายใต้แบรนด์ ซัมซุง กล่าวว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจในปีนี้ บริษัทได้มีการปรับกลยุทธ์พัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้วยการเพิ่มความหลากหลายในทุกไลน์อัพ ทุกเรนจ์ ให้ครอบคลุมทุกความต้องการของตลาด และเน้นฟีเจอร์สุขภาพเข้าไปมากขึ้น เพื่อเจาะตลาดครอบครัวใหม่ในเซกเมนต์พรีเมียม ซึ่งคาดว่าจะมีมากถึง 5 หมื่นครอบครัวต่อปี หรือคิดเป็น 10% ของอัตราการเกิดของคนไทย โดยตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าพรีเมียมให้โตขึ้น 3 เท่า ดันยอดขายรวมโตขึ้นกว่า 60% และขึ้นเป็นแบรนด์อันดับ 1 ของตลาดแอร์เพื่อสุขภาพ
น.ส.ปารมี ทองเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จํากัด กล่าวว่า แผนการทำตลาดของกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศซัมซุงในปีนี้ บริษัทจะเน้นการสื่อสารเพื่อกระตุ้นการรับรู้และความสนใจของผู้บริโภคในวงกว้าง ด้วยการทำแคมเปญโฆษณาผ่านช่องทาง Above the line และดิจิทัล เพื่อเพิ่มการจดจำแบรนด์ และยกระดับไปสู่การเป็น Top of Mind Brand โดยในปีนี้บริษัทได้ใช้งบการตลาดเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 2 เท่า ซึ่งในส่วนของพรีเซ็นเตอร์ที่นำมาใช้ในปีนี้ คือ ชมพู่ อารยา เอ ฮาร์เก็ต และลูกแฝด สายฟ้า-พายุ เพื่อเป็นตัวแทนของครอบครัวยุคใหม่ที่ต้องการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับคนในครอบครัวควบคู่ไปกับการตอกย้ำภาพลักษณ์ของเครื่องปรับอากาศซัมซุงที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มครอบครัวยุคใหม่
ข่าวเด่น