กุญแจสู่ความสำเร็จของการทำธุรกิจ หลายคนอาจจะนึกถึงการเอาชนะคู่แข่ง เพื่อจะเป็นหนึ่งให้ได้ แต่สำหรับ 2 สุดยอดผู้ประกอบการเอสเอ็มอีธุรกิจกาแฟจากแดนอีสานและเหนือ คือ “หจก.โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว” จ.นครราชสีมา กับ “หจก.น่านดูโอ คอฟฟี่” จ.น่าน กลับมองตรงกันข้าม หันมาจับมือประสานพลัง เปลี่ยนคู่แข่งเป็น “คู่ค้า” เสริมศักยภาพกันและกัน ต่อยอดธุรกิจเติบโต ผลักดันผลผลิตเกษตรกาแฟไทยให้เพิ่มมูลค่า และเปิดโอกาสขยายตลาดก้าวไปสู่ตลาดโลก
โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว ดำเนินธุรกิจคาเฟ่สุดเก๋ ณ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา บุกเบิกโดยนายปกรณ์ เตชสิทธิ์วรโชติ ตั้งแต่ปี 2555 มีจุดเด่นบรรยากาศร้านสวยงามยอดเยี่ยม อยู่ติดริมแม่น้ำ ประกอบกับกาแฟรสชาติเยี่ยม ทำให้ร้านเป็นที่นิยมจากลูกค้านักท่องเที่ยวทั่วประเทศ นอกจากนั้น ยังพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากกาแฟ แบรนด์ “โรงคั่วกาแฟ Coffee Factory” เช่น เมล็ดกาแฟคั่วบรรจุซอง ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ไม่ว่าจะเป็นแชมพู สบู่ ครีมอาบน้ำ เป็นต้น
นายปกรณ์ เล่าต่อว่า วัตถุดิบกาแฟที่นำมาใช้ในร้าน และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่จะซื้อจากทางภาคเหนือ โดยเฉพาะ จ.น่าน ซึ่งเป็นแหล่งปลูกกาแฟคุณภาพดีเยี่ยม ที่ผ่านมา จะต้องเดินทางไป จ.น่าน ด้วยตัวเอง เพื่อคัดเลือกแหล่งเพาะปลูก และเกษตรกรผู้ปลูกที่ได้มาตรฐานตามต้องการ โดยจะรับซื้อเป็นเมล็ดกาแฟสด หลังจากนั้น ต้องนำมาเข้ากระบวนการแปรรูป แล้วจึงนำไปคั่วใช้งานได้ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าว มีภาระต้นทุนค่อนข้างสูง และใช้เวลานาน
จากประเด็นดังกล่าว นำมาสู่การจับมือกับห้างหุ้นส่วนจำกัด น่านดูโอ คอฟฟี่ โดยนางสาววัชรี พรมทอง ซึ่งเป็นผู้ผลิต และจำหน่ายกาแฟครบวงจร จ.น่าน ตั้งแต่ปลูก คั่ว และพัฒนาผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกาแฟสำเร็จรูปชนิดต่าง ๆ ภายใต้แบรนด์ “ภูมิใจ๋ คอฟฟี่” “ภูคอฟฟี่” และ “ดูโอ คอฟฟี่” โดยเบื้องต้น โรงคั่วกาแฟฯ จะสั่งซื้อเมล็ดกาแฟตากแห้งจากน่านดูโอฯ ประมาณ 10 ตัน โดยทางน่านดูโอฯ ทำหน้าที่คัดกรองวัตถุดิบเมล็ดกาแฟที่มีมาตรฐานคุณภาพตรงตามความต้องการ ช่วยเพิ่มความสะดวกและลดต้นทุนเวลาในการเฟ้นหาวัตถุดิบไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
“ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของโรงคั่วกาแฟ มุ่งตลาดพรีเมียม เราจึงต้องการวัตถุดิบคุณภาพดี และมีปริมาณมากเพียงพอ ซึ่งที่ผ่านมา ผมต้องไปคัดสรรด้วยตัวเอง แต่เนื่องจากผมเป็นลูกค้า SME D Bank (ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว.) นอกจากธนาคารจะช่วยสนับสนุนเงินทุนในการซื้อเครื่องจักร กับเป็นเงินทุนหมุนเวียนซื้อวัตถุดิบเมล็ดกาแฟแล้ว ธนาคารได้แนะนำให้รู้จักกับน่านดูโอ ซึ่งเป็นลูกค้าของ SME D Bank เช่นกัน ทำให้เกิดการต่อยอดจับคู่ธุรกิจ ทำให้ผมมีแหล่งซื้อวัตถุดิบที่สะดวก และคุณภาพดีตรงตามความต้องการ” เจ้าของธุรกิจ โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว เผย
นายปกรณ์ เล่าให้ฟังต่อว่า การจับคู่ธุรกิจครั้งนี้ ส่งผลดีต่อธุรกิจของโรงคั่วกาแฟฯ โดยเฉพาะการนำวัตถุดิบกาแฟไปแปรรูปเป็นสินค้ากลุ่มเครื่องสำอาง ซึ่งตลาดกำลังเติบโตด้วยดี โดยเฉพาะต่างประเทศ จึงเป็นโอกาสดีในการต่อยอดธุรกิจ ด้วยการชูจุดเด่นทำจากวัตถุดิบจากเกษตรอินทรีย์ เพื่อขยายตลาดส่งออกต่อไป
ด้านนางสาววัชรี เล่าว่า ธุรกิจของน่านดูโอฯ เกิดจากแนวคิดต้องการสร้างงานให้แก่ชุมชนท้องถิ่นบ้านเกิด จ.น่าน โดยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกาแฟด้วยอินทรีย์ นอกจากจะช่วยสร้างรายได้แล้ว ยังเป็นการช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศจากการเผาป่าเพื่อปลูกข้าวโพด โดยน่านดูโอฯ จะรับซื้อผลผลิตกาแฟจากเกษตรกรท้องถิ่น ในราคาสูงกว่าท้องตลาด ประมาณ 3 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อจูงใจให้เกษตรกร ปลูกกาแฟให้ได้คุณภาพมาตรฐานตามต้องการ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“การจับคู่ธุรกิจกับโรงคั่วกาแฟฯ โดยคุณปกรณ์ ในครั้งนี้ ทำให้น่านดูโอฯ ได้พบเจอคู่ค้ารายใหม่ที่มีศักยภาพในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งเป็นเรื่องยากมากหากจะไปพบเจอได้ด้วยตัวเอง อีกทั้ง เป็นคู่ค้าที่ผ่านการแนะนำโดย SME D Bank ช่วยการันตีคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นในความร่วมมือทางธุรกิจ” เจ้าของธุรกิจน่านดูโอฯ ระบุ
ทั้งนี้ ปัจจุบัน น่านดูโอฯ มีส่วนสร้างงานสร้างเงินให้แก่ลูกไร่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ผ่านเครือข่ายกว่า 1,400 ครัวเรือน หรือกว่า 4,250 คน บนเนื้อที่ปลูกกาแฟกว่าหมื่นไร่ มีผลผลิตกว่า 250 ตันต่อปี ขณะที่ โรงงานของน่านดูโอฯ ได้รับมาตรฐานสากล ทั้ง GMP HACCP และ HALAL ควบคุมการผลิตโดยนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร รวมถึง ได้รับมาตรฐานแปลงปลูก GAP จากสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด และ ThaiGAP จาก TÜV NORD (Thailand) Ltd. ทำให้เมล็ดกาแฟดิบมีมาตรฐานสากล และสืบย้อนกลับไปยังเกษตรกรผู้ปลูกได้
แม้ “โรงคั่วกาแฟฯ” และ “น่านดูโอ คอฟฟี่” จะทำธุรกิจใกล้เคียงกัน ทว่า เอสเอ็มอีทั้งสอง ไม่เคยมองผู้ประกอบการในธุรกิจเดียวกันเป็นคู่แข่ง ตรงกันข้าม กลับมองว่าเป็นเพื่อนร่วมวงการที่สามารถช่วยเหลือเกื้อหนุนเสริมศักยภาพความเข้มแข็งซึ่งกันและกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีปัจจัยโควิด-19 เข้ามากระทบ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องมีพันธมิตร ซึ่งนอกเหนือจากความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันเองแล้ว เมื่อหน่วยงานภาครัฐ อย่าง SME D Bank เข้ามาช่วยเหลือ ทั้งด้านการเงิน การตลาด ตลอดจนเป็นสะพานเชื่อมให้เกิดการจับคู่ธุรกิจระหว่างกัน ยิ่งช่วยเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวเสริมว่า ธนาคารยึดมั่นให้บริการผู้ประกอบการเอสเอ็มอีครบวงจร ดังนั้น กระบวนการทำงานของธนาคาร จึงไม่จบแค่การปล่อยสินเชื่อเท่านั้น ทว่า ธนาคารจะดูแลเอสเอ็มอีต่อเนื่องตลอดเส้นทางธุรกิจ เพื่อให้ลูกค้าเติบโตอย่างยั่งยืน กรณีของ “โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว” และ “น่านดูโอ คอฟฟี่” เป็นตัวอย่างที่ดีของการประสานพลังของเอสเอ็มอีไทย ซึ่งธนาคารเล็งเห็นโอกาสที่จะช่วยเหลือลูกค้าได้อีกทางหนึ่ง จึงทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้ลูกค้าจับคู่ธุรกิจระหว่างกัน
ที่สำคัญ ผู้ประกอบการทั้งสองราย ต่างมีแนวคิดตรงกันที่ต้องการช่วยเหลือสนับสนุนยกระดับคุณภาพชีวิตชาวบ้านและเกษตรกรในท้องถิ่น ดังนั้น การจับคู่ธุรกิจครั้งนี้ นอกจากลูกค้าทั้งสองราย จะได้รับประโยชน์ในส่วนธุรกิจของตัวเองแล้ว ยังส่งต่อคุณประโยชน์ไปสู่ซับพรายเชนกาแฟของภาคอีสานและภาคเหนือ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟจะมีรายได้จากการประกอบอาชีพ ขณะที่การควบคุมคุณภาพการปลูกเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก่อประโยชน์กับธรรมชาติและชุมชน ส่วนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกาแฟ ช่วยให้เกิดการพัฒนา ขยายตลาดเพิ่มขึ้น และเพิ่มมูลค่ากาแฟไทย โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในกลุ่มเครื่องสำอาง ซึ่งตลาดกำลังเติบโตอย่างสูง ขณะที่ ผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และยังเป็นการสร้างชื่อให้วัตถุดิบกาแฟไทยเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง สร้างโอกาส ตลาดเติบโตทั้งในและต่างประเทศ ต่อไปในอนาคต
ข่าวเด่น