‘จุรินทร์’ หารือเอกอัครราชทูตปานามาฯ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ รมว.พาณิชย์ของไทยมีโอกาสต้อนรับทูตปานามาประจำประเทศไทย พร้อมผลักดันส่งออกสินค้าข้าวจากไทยเพิ่ม พร้อมใช้เป็นประตูขยายการส่งออก สู่ประเทศแถบลาตินอเมริกา หวังเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างไทย-ปานามา หลังโควิด-19
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า น.ส. อิตเซล การินา เชน ชัน เอกอัครราชทูตปานามาประจำประเทศไทย ได้เข้าเยี่ยมคารวะ ในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 โดยทั้งสองฝ่ายต่างชื่นชมความสัมพันธ์อันดีที่มีมาอย่างยาวนานและใกล้จะครบ 40 ปี ในปี 2565 และนี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยมีโอกาสต้อนรับทูตปานามาประจำประเทศไทย ถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้มีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับปานามาและความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุน
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ได้หารือเพื่อผลักดันการค้าการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อีกมากปานามาแม้ว่าจะเป็นประเทศเล็ก แต่จัดว่าเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ปัจจุบันจะมีมูลค่าการค้าระหว่างกันไม่มากนัก แต่เนื่องจากความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง ปานามาจึงสามารถเป็นประตูสำหรับการกระจายสินค้าของไทยไปสู่ภูมิภาคลาตินอเมริกาได้ ในช่วงที่ผ่านมา ปานามาเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับสินค้าออกที่สำคัญของไทยหลายรายการ อาทิ รถยนต์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ โทรทัศน์ และเครื่องซักผ้า นอกจากนี้ ยังมีสินค้าที่ไทยมีศักยภาพที่จะขยายฐานตลาดส่งออกในปานามา อาทิ สินค้าข้าวอาหารสำเร็จรูป ผลไม้กระป๋อง และยางรถยนต์ รวมทั้งสินค้าที่มีความต้องการสูงในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น ถุงมือยางและหน้ากากอนามัย จึงได้ขอให้ปานามาสนับสนุนการนำเข้าสินค้าของไทย โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิและข้าวกล้อง ซึ่งปานามาก็เป็นประเทศที่บริโภคข้าวสูงเป็นอันดับที่ 17 ของโลก แต่ยังนำเข้าข้าวส่วนใหญ่จากประเทศใกล้เคียง จึงน่าจะเป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้ขยายตลาดข้าว ซึ่งข้าวไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นข้าวคุณภาพสูง พร้อมกับสินค้าศักยภาพอื่นๆ ของไทยเข้าสู่ตลาดปานามา ทั้งสองฝ่ายหวังว่า การพบปะหารืออย่างใกล้ชิดจะทำให้การค้าระหว่างกัน ซึ่งหดตัวต่อเนื่องในระยะหลัง กลับฟื้นตัวขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
นายจุรินทร์ เสริมว่า ได้เชิญชวนภาคเอกชนของปานามาเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการค้าของกระทรวงพาณิชย์ เช่น การร่วมงานแสดงสินค้าและเจรจาจับคู่ธุรกิจ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยเร็ว ๆ นี้ ในวันที่ 25 มีนาคม 2564 จะมีกิจกรรมจับคู่ธุรกิจสินค้าผลไม้สดและแปรรูปออนไลน์ (Online Business Matching) และมีงานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX-ANUGA ASIA 2021 ในเดือนพฤษภาคม 2564 ณ IMPACT เมืองทองธานี นอกจากนี้ ยังได้หารือช่องทางในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยเฉพาะ ปานามาที่มีความเชี่ยวชาญด้านบริการ โลจีสติกส์ และการบริหารจัดการท่าเรือจนติดอันดับโลก
ทั้งนี้ ในปี 2563 ไทยและปานามามีมูลค่าการค้าระหว่างกันราว 130 ล้านเหรียญสหรัฐ (3,900 ล้านบาท) โดยไทยส่งออกไปยังปานามาเป็นมูลค่า 86 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,580 ล้านบาท) และนำเข้าเป็นมูลค่าราว 43 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,300 ล้านบาท) โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าปานามา ราว 43 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,300 ล้านบาท) สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังปานามา ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และเครื่องซักผ้า สำหรับสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากปานามา ได้แก่ เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
ข่าวเด่น