ด้วยมูลค่าตลาดรวมของซูเปอร์มาร์เก็ตในไทยที่มีมูลค่ามากกว่า 80,000 ล้านบาท และมีการเติบโตเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 10% ส่งผลให้การการแข่งขันในธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตนับวันจะยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกหลายรายเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับกลุ่มธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต เช่นเดียวกับบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ที่ยังคงเดินหน้าพัฒนาบริการในส่วนของธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตย่างต่อเนื่อง
ตลอดระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เดอะมอลล์ ได้มีการนำบริการใหม่ๆ มาตอบสนองความต้องการของลูกค้ามาโดยตลอด และจากกำลังซื้อพร้อมกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ผ่านมา ส่งผลให้ เดอะมอลล์ ต้องออกมาประกาศรีเฟรชแบรนด์ของซูเปอร์มาร์เก็ตใหม่ ด้วยการเปลี่ยนชื่อจาก "โฮมเฟรชมาร์ท" เป็น "กูร์เมต์ มาร์เก็ต" ในปี 2559 เพื่อพาแบรนด์กูร์เมต์ มาร์เก็ต ก้าวไปสู่การเป็น “พรีเมียม ซูเปอร์มาร์เก็ต”ภายใต้แนวคิด “คัดสรรสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้บริโภค” และรองรับไลฟ์สไตล์ของคนเมืองที่มีการขยายตัวมากขึ้น
นางอัจฉรา อัมพุช รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า กูร์เมต์ มาร์เก็ต เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตของกลุ่มเดอะมอลล์ที่อยู่ในตลาดมานานกว่า 17 ปีแล้ว ซึ่งถือเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน และเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปบริษัทจึงต้องมีการยกระดับการให้บริการของกูร์เมต์ มาร์เก็ต ให้เหนือกว่าซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป เพื่อให้บริการของกูร์เมต์ มาร์เก็ต ก้าวไปสู่การเป็น "เวิลด์คลาสเดสติเนชั่นซูเปอร์มาร์เก็ต" ในอนาคต
นายศุภวุฒิ ไชยประสิทธ์กุล ผู้อำนวยการใหญ่บริหารสินค้าซูเปอร์มาร์เก็ต บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า เหตุผลที่ทำให้บริษัทต้องออกมาปรับโฉมกูร์เมต์ มาร์เก็ต ในครั้งนี้ มี 3 ปัจจัยหลักด้วย คือ 1. การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต่างจากอดีตอย่างมากทำให้ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไป อีกทั้งด้วยจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เป็นตัวเร่งอีกด้วย ที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวให้ทันกับเทรนด์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และสร้างดีมานด์ที่ต่างจากคู่แข่ง
2. คู่ค้าของเรา ที่ต้องมีการพัฒนาและร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรามีมากมาย ทั้งจากคู่ค้าในประเทศกับต่างประเทศ ทำให้เราสามารถนำมาเป็นจุดแข็งในการพัฒนาสินค้าอาหารและบริการต่างๆได้ และ 3. การร่วมมือกับชุมชน ซึ่งจากโควิดที่ผ่านมา กระทบต่อความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างมาก ขณะที่เราเองก็ทำงานร่วมกับชุมชนแทบจะเรียกได้ว่าครบทั้ง 77 จังหวัดแล้ว มากกว่า 2,000 ชุมชน ทั้งในเรื่องของสินค้า อาหาร ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชน ทำให้เรามองเห็นถึงแนวคิดที่จะผลักดันสินค้าของชุมชนเหล่านี้ขึ้นมามีความโดดเด่นมากขึ้น
ทั้งนี้ จากการที่ เดอะมอลล์ มีจำนวนสมาชิกผู้ถือบัตร เอ็มการ์ดมากกว่า 4.5 ล้านราย ทำให้สามารถเก็บข้อมูลและพฤติกรรมการจับจ่ายของลูกค้าได้อย่างดี ซึ่งข้อมูลที่ได้มาจากสมาชิกและลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการรวมกันทุกสาขากว่า 1 ล้านราย ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการทำตลาดซูเปอร์มาร์เก็ตของ เดอะมอลล์ เป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ เพื่อนำไปปรับใช้เป็นกลยุทธ์ในการทำตลาดที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี
สำหรับกูร์เมต์ มาร์เก็ต สาขาแรกที่ เดอะมอลล์ ได้เลือกนำไปปรับโฉมยกเครื่องครั้งใหญ่ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า คือ กูร์เมต์มาร์เก็ต สาขาเดอะมอลล์งามวงศ์วาน ซึ่งหลังจากเปิดบริการโฉมใหม่ในช่วงเดือนพ.ย. 2563 ที่ผ่านมาพบว่า ลูกค้าให้ความสนใจและการตอบรับเป็นอย่างดี เช่นเดียวกับกูร์เมต์ มาร์เกต สาขาสยามพารากอน ที่ เดอะมอลล์ เลือกเป็นสาขาที่ 2 ในการปรับโฉมใหม่ ซึ่งหลังจากเริ่มทำการปรับปรุงมาตั้งแต่ปลายปี 253 ที่ผ่านมา และทยอยแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการเป็นโซนๆ พบว่าลูกค้าให้ผลการตอบรับดีเช่นกัน ส่วนกูร์เมต์ มาร์เก็ต สาขาที่ 3 ที่จะทำการปรับโฉม คือ เดอะมอลล์ท่าพระ เดอะมอลล์ จะทำการปรับพื้นที่ทั้งหมดจำนวน 14,000 ตารางเมตร ซึ่งหลังจากปรับปรุงแล้วเสร็จ คาดว่าจะได้ผลการตอบรับดีไม่แพ้สาขาที่ผ่านๆมาเช่นกัน
ปัจจุบันกูร์เมต์ มาร์เก็ต มีจำนวนสาขาที่เปิดให้บริการรวม 17 สาขา แบ่งออกเป็น 3 โมเดล คือ โมเดล1 เป็นสาขาแฟลกชิบสโตร์ ประกอบด้วย สาขาสยามพารากอน สาขาดิ เอ็มโพเรียม และสาขาดิ เอ็มควอเธียร์ เป็นต้น, โมเดล 2 คือ รอบนอกเมือง ประกอบด้วย สาขาเดอะมอลล์บางแค สาขาเดอะมอลล์ท่าพระ สาขาเดอะมอลล์งามวงศ์วาน และสาขาเดอะมอลล์บางกะปิ เป็นต้น ส่วนโมเดล 3 จะเป็นในส่วนของรูปแบบสแตนด์อโลน เน้นทำเลที่เปิดให้บริการในส่วนของพื้นที่ค้าปลีกของพันธมิตร เช่น คอมมูนิตี้มอลล์ และสถานีรถไฟฟ้า เป็นต้น
จากแผนการดำเนินงานดังกล่าว เดอะมอลล์ มีแผนที่จะยกระดับการปรับปรุงซูเปอร์มาร์เก็ตใหม่ทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปีนับจากนี้ ภายใต้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของงบลงทุนในแต่ละสาขาอาจจะไม่เท่ากัน เนื่องจากขึ้นอยู่กับพื้นที่ เช่น ถ้าเป็นโมเดล 1 กับ 2 ที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ของเดอะมอลล์เองก็ใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาทต่อสาขา แต่ถ้าเป็นสาขาที่สร้างใหม่ก็อาจจะใช้งบมากกว่า 200 ล้านบาท ส่วนโมเดล 3 ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ค้าปลีกของพันธมิตรจะใช้งบลงทุนเฉลี่ยประมาณ 50 – 70 ล้านบาทต่อสาขา ซึ่งโมเดลที่ 3 เดอะมอลล์ จะไม่ผลักดันให้เป็นถึงขั้นเป็นเวิลด์คลาสเดสติเนชั่น เพราะมีพื้นที่ไม่มาก
นายศุภวุฒิ กล่าว ในส่วนของการปรับโฉมใหม่ของสาขาสยามพารากอน บริษัทได้ใช้งบลงทุนไปกว่า 100 ล้านบาท เพื่อปรับกูร์เมต์ มาร์เก็ต ให้เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตโฉมใหม่ภายใต้คอนเซ็ปต์ Gourmet Market Style โดยมีแกนหลัก คือ คำว่า Market ที่ได้ Inspiration มาจาก Market หลากหลายแห่ง ทั้งจากเมืองเก่าในฝั่งยุโรปที่มีความคลาสสิก หรือ เมืองใหม่ๆ ที่มี vibe ของความ modern แบบมี lifestyle นำมาผสมผสานกันเป็น New Town และ Old Town ด้วยการเพิ่มพื้นที่เป็น 8,000 ตารางเมตร จากเดิมมีประมาณ 6,000 ตารางเมตร และเพิ่มสินค้เป็นมากกว่า 50,000 รายการจากทั่วทุกมุมโลก
นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 โซนหลัก คือ 1.โซน Farm Market จะมีการดีไซน์รูปแบบให้มีลักษณะคล้ายอาคาร Barn House ใส่ลูกเล่นด้วยการจำลองให้มีแสง รอดผ่านหลังคาลงมาภายใน ซึ่งในโซนนี้จะมีผักสด ผลไม้สด และ เครื่องปรุงต่างๆ 2.โซน Town Hall ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรูปแบบของตลาดกลางในยุโรป ที่มี Structure เป็นเหล็กและกระเบื้องดินเผาสีส้ม เป็นวัสดุมุงหลังคา และมีช่องแสงด้านบนอาคาร ขณะที่ด้านล่างจะเป็นพื้นที่ของ Specialty Shop และส่วน Dine in ที่จะมีทั้ง Butcher Shop, Sea Food, Cheese และ Charcuteries Shop ซึ่งหลังจากปรับโฉมใหม่ดังกล่าวคาดว่าสาขาสยามพารากอนจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มไม่ต่ำกว่า 10% เมื่อเทียบกับปี 2563
ข่าวเด่น