วิทยาศาสตร์
เปิดบริการแล้ว! นิทรรศการโซนใหม่ ''Astronomy Insight'' และ ''จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่'' ในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร


สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) ร่วมกับ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดตัวนิทรรศการชุดใหม่ “Astronomy Insight” และ“จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่” ภายในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ในมหกรรมดาราศาสตร์ สุดยิ่งใหญ่แห่งปี NARIT AstroFest 2021 พร้อมมาตรการคัดกรองและเฝ้าระวังโควิด 19 เต็มรูปแบบ  ได้รับเกียรติจาก นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกล่าวต้อนรับ และศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาเป็นประธานเปิดงาน เชิญชวนผู้สนใจเข้าชมฟรี! ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปถึง กันยายน 2564

 
 
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า งานวันนี้ถือเป็นความร่วมมือสำคัญยิ่งระหว่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2 หน่วยงานสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ที่มีภารกิจเกี่ยวกับการสร้างความตระหนัก สร้างความรู้ความเข้าใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่สังคมไทย ในการสร้างแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์แห่งใหม่ ในส่วนภูมิภาค 
 
ทั้งสองหน่วยงานได้นำเอาความเชี่ยวชาญของตน มาผสมผสาน สร้างสรรค์ และเติมเต็มซึ่งกันและกัน  ทั้งในเรื่องราวของดาราศาสตร์และการประยุกต์ สู่การพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง โดย สดร. และต่อยอดด้วยชุดนิทรรศการ และกิจกรรมเกี่ยวกับการเปิดประสบการณ์อาชีพสายวิทยาศาสตร์ โดย อพวช. ทำให้อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จังหวัดเชียงใหม่แห่งนี้ เป็นแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่นอกกรุงเทพฯ นับเป็นการขยายโอกาสการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอีกทางหนึ่งด้วย
        
“วิชาดาราศาสตร์เป็นศาสตร์ที่เก่าแก่อยู่คู่กับอารยธรรมโบราณมาช้านาน และเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เด็กรักในการเรียนวิทยาศาสตร์ ชาติใดสนใจดาราศาสตร์ ชาตินั้นจะมีความฝันและความทะเยอทะยานที่ยิ่งใหญ่ นำไปสู่การใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีชั้นสูงในการพัฒนาประเทศ ที่ผ่านมาคนไทยไม่ค่อยเชื่อว่าเรียนวิทยาศาสตร์แล้วจะนำไปใช้ได้จริง และมักจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่นักวิทยาศาสตร์ของไทยมีศักยภาพไม่แพ้ชาติใดในโลก เราจะสร้างดาวเทียม และจะส่งยานอวกาศของไทยไปโคจรรอบดวงจันทร์ภายใน 7 ปี ซึ่งเป็นความท้าทายที่พิสูจน์ว่าไทยทำได้” รมว. อว. กล่าว  

ดร. ศรัณย์  โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า อุทยานดาราศาสตร์ สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เปิดให้บริการท้องฟ้าจำลอง และนิทรรศการดาราศาสตร์ ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา มีผู้มาใช้บริการและเข้าร่วมกิจกรรมดาราศาสตร์ รวมมากกว่า 190,000 คน ในปี 2564 สดร. ได้สร้างสรรค์นิทรรศการดาราศาสตร์ชุดใหม่ ชื่อชุด Astronomy Insight  ต่อยอดแนวคิดจากนิทรรศการชุดเดิมที่จัดแสดงอยู่  นำเสนอองค์ความรู้ดาราศาสตร์ เชิงลึก หลักการและวิธีการศึกษาวิจัยทางดาราศาสตร์ ถ่ายทอดผ่านอุปกรณ์การเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้เข้าชมสนุกกับการเรียนรู้ และมองเห็นภาพการศึกษาวิจัยทางดาราศาสตร์ ประโยชน์ของการศึกษาดาราศาสตร์และการต่อยอดไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แบ่งออกเป็น 4 โซนหลัก ๆ ได้แก่ 
 
โซนที่ 1 นำเสนอเรื่องราวของพื้นฐานฟิสิกส์ดาราศาสตร์เกี่ยวกับแสง
โซนที่ 2 ชวนมาพิสูจน์ทฤษฎีทางดาราศาสตร์ด้วยตัวเอง ผ่านอุปกรณ์จำลองหลักการและตัวอย่างการสร้างชิ้นงานทางดาราศาสตร์  
โซนที่ 3 การศึกษาวิจัยทางดาราศาสตร์เชิงลึก อาทิ การศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ หลุมดำ ขอบเขตของเอกภพ ฯลฯ
โซนที่ 4 นำเสนอเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคตผ่านสื่อการเรียนรู้ในหลากหลายรูปแบบ
 
นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจาก องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สร้างพื้นที่การเรียนรู้ “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่” ภายในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร บนพื้นที่กว่า 1,430 ตารางเมตร ถือเป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยต่อยอด และเติมเต็มนิทรรศการดาราศาสตร์ของ สดร. ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “อพวช. มีภารกิจในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์แก่สังคมไทย และเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่ผู้เข้าชมสามารถมาเรียนรู้และค้นหาคำตอบได้ด้วยตนเอง โดยปัจจุบันเราเปิดให้บริการ 4 พิพิธภัณฑ์ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ และพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ที่ คลองห้า ปทุมธานี และล่าสุดกับแหล่งเรียนรู้ใจกลางกรุง “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เดอะ สตรีท รัชดา” ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีในการกระจายโอกาสด้านการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ไปสู่วงกว้างมากขึ้น ทั้งนี้ อพวช. ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนขยายโอกาสการเรียนรู้นอกห้องเรียนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับเยาวชนและคนไทยทั่วประเทศ จึงพัฒนาและเปิดแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ขึ้นที่ จ. เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอันดับต้น ๆ ของประเทศ ในชื่อ “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่” โดยได้รับความร่วมมือจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ให้จัดตั้ง “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่” ซึ่งเป็นโอกาสและช่องทางในการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับเยาวชนและประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ”
 
สำหรับ “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่” ถือเป็นแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ ที่มุ่งเน้นการสร้างเสริมประสบการณ์และแรงบันดาลใจให้แก่เด็กและเยาวชน ภายใต้แนวคิด Explore , Enjoy and Inspire โดยให้ผู้ชมเรียนรู้อาชีพวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่น่าสนใจ พัฒนาทักษะสู่อาชีพแห่งอนาคต ผ่านนิทรรศการสื่อสัมผัส และกิจกรรมที่สนุกสนานและเข้าใจง่าย โดยแบ่งออกเป็น 5 โซน ดังนี้
 
           โซนที่ 1 เปิดโลกอาชีพแห่งอนาคต The Career of the Future
           โซนที่ 2 เปิดโลกทางการแพทย์ Open The Biomedical World
           โซนที่ 3 ฐานปฏิบัติการภัยพิบัติ Disaster operating Base
           โซนที่ 4 การบินและอวกาศ Aviation and Aerospace technology
           โซนที่ 5 สนุกกับกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์แสนสนุก Inspire Lab และ Innovation Space 
 
อพวช. หวังว่าแหล่งเรียนรู้แห่งนี้จะช่วยขยายโอกาสทางการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำให้กับเยาวชนในภูมิภาคของภาคเหนือเปรียบเสมือนเป็นฟันเฟืองในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต รวมทั้งเป็นสถานที่ที่จะสร้างความสุขสนุกสนานให้กับทุก ๆ คนในครอบครัวในการได้เล่น เรียนรู้ และได้ใช้เวลาร่วมกันได้อย่างดี
พิเศษสุด! สำหรับในช่วงเปิดตัว อพวช. ฉลองด้วยการเปิดให้เข้าชมนิทรรศการฟรี! จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2564 นี้ โดยเปิดให้บริการทุกวันอังคาร-วันศุกร์  09.00 – 16.00 น. และวันเสาร์ – วันอาทิตย์ 10.00 – 17.00 น. (หยุดทุกวันจันทร์) ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Facebook : NSM Science Square at Chiang Mai และติดต่อสอบถามและจองเข้าชมได้ที่ โทร. 093 7458550 และ 02 577 9999 ต่อ 2122-23”


สำหรับงานมหกรรมดาราศาสตร์สุดยิ่งใหญ่แห่งปี  NARIT AstroFest 2021 วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม 2564 ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ที่ผ่านมานอกจากจะเปิดตัวนิทรรศการชุดใหม่ Astronomy Insight และ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่ พร้อมให้บริการประชาชนในวันดังกล่าวแล้ว ยังมีกิจกรรมดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจอีกมากมาย  อาทิ เปิดหลังบ้านชมห้องปฏิบัติการพัฒนาเทคโนโลยีดาราศาสตร์สุดล้ำและห้องวิจัยดาราศาสตร์ กิจกรรมเรียนรู้เทคโนโลยีการรับสัญญาณจากดาวเทียม เกมดาราศาสตร์แสนสนุก  เสวนาพิเศษ “ผู้หญิงในแวดวงดาราศาสตร์” ช่วงค่ำ มีกิจกรรมชมดาวเคล้าเสียงเพลง ดูดาวผ่านกล้องโทรทรรศน์ และกาดดารา จำหน่ายสารพันสินค้าอาหารในธีมดาราศาสตร์ ปิดท้ายด้วยกิจกรรมแจกกล้องกล้องโทรทรรศน์และของรางวัลมากมาย
มหกรรมดาราศาสตร์ในปีนี้ สดร. ยังได้ขยายไปส่วนภูมิภาคด้วย จัดพร้อมกัน 4 แห่งได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา  พร้อมมาตรการ พร้อมมาตรการคัดกรองและเฝ้าระวังโควิด 19 เต็มรูปแบบ มีประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 มี.ค. 2564 เวลา : 20:01:53
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 3:20 am