การค้า-อุตสาหกรรม
กรมพัฒน์ฯ แชร์กลยุทธ์ในการพิจารณาทรัพย์ให้ผู้รับหลักประกันและผู้บังคับหลักประกัน ให้พร้อมปล่อยสินเชื่อด้วยความมั่นใจ เพิ่มเงินทุนต่อลมหายใจให้ธุรกิจได้ลุยต่อ


กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดหลักสูตรติวเข้มกลยุทธ์ในการพิจารณาทรัพย์หลักประกันและการบังคับหลักประกัน โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นผู้รับหลักประกันและผู้บังคับหลักประกัน เพื่อติดอาวุธทางความรู้ 3 ด้าน คือ การพิจาณาทรัพย์สินหลักประกัน 6 ประเภท, การประเมินมูลค่าไม้ยืนต้น และการถ่ายทอดประสบการณ์ตรงการบังคับทรัพย์ประเภทกิจการ หลักสูตรนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้รับหลักประกันในการเรียนรู้กลยุทธ์/เทคนิคการพิจารณาทรัพย์แต่ละประเภท การแชร์ประสบการณ์การประเมินมูลค่าต้นไม้จาก ธ.ก.ส. และการบังคับหลักประกันทรัพย์ประเภทกิจการจากผู้บังคับหลักประกัน ส่งผลดีต่อการเพิ่มจำนวนการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจได้นำไปต่อทุน   


 
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ในวันนี้ (วันศุกร์ที่ 2 เมษายน 2564) กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้จัดสัมมนา เรื่อง ‘กลยุทธ์ในการพิจารณาทรัพย์หลักประกันและการบังคับหลักประกัน’   ณ ศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาคือ กลุ่มผู้รับหลักประกัน (สถาบันการเงินและผู้รับหลักประกันอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เช่น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริ่ง ผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อแบบลิสซิ่ง และผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เป็นต้น) และผู้บังคับหลักประกัน (ในกรณีที่ธุรกิจนำทรัพย์สินประเภทกิจการมาเป็นหลักประกัน) สำหรับเนื้อหาการสัมมนาแบ่งเป็น 3 หัวข้อหลัก โดยกรมฯ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านหลักประกันทางธุรกิจมาให้ความรู้พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่อง การพิจารณาทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกันได้ตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ 6 ประเภท ได้แก่
 
1) กิจการ 2) สิทธิเรียกร้อง เช่น บัญชีเงินฝาก สิทธิการเช่า ลูกหนี้การค้า 3) สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น สินค้าคงคลัง เครื่องจักร รถยนต์ 4) อสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง เช่น ที่ดินจัดสรร/หมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม 5) ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ และ 6) ทรัพย์สินอื่น ซึ่งขณะนี้คือ ไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้ โดยไม่ต้องส่งมอบการครอบครองให้แก่เจ้าหนี้ ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจยังสามารถใช้ทรัพย์สินนั้นต่อยอดทางธุรกิจหรือผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อไป   

อธิบดี กล่าวต่อว่า “นอกจากนี้ ยังได้เชิญวิทยากรจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นธนาคารแรกที่รับไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันแล้ว มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่อง วิธีการประเมินมูลค่าไม้ การพิจารณาประเภทไม้ยืนต้น ที่ผ่านมาการนำทรัพย์สินประเภทต้นไม้มาเป็นหลักประกันยังมีข้อจำกัดของธนาคารพาณิชย์ที่ยังไม่รับไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันเพราะเป็นเรื่องใหม่และไม่มีความเชี่ยวชาญในการประเมินมูลค่าต้นไม้ รวมถึงการพิจารณาไม้ยืนต้นและแนวทางการติดตามตรวจสอบ ซึ่งจะสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาที่เป็นทั้งธนาคารพาณิชย์และผู้บังคับหลักประกันให้สามารถนำไปปรับใช้กับการพิจารณาปล่อยสินเชื่อได้ และการบรรยายถ่ายทอดประสบการณ์ตรง เรื่อง ประสบการณ์ในการบังคับทรัพย์ประเภทกิจการจากผู้บังคับหลักประกัน  การสัมมนาในวันนี้เป็นการติวเข้มผู้รับหลักประกันให้เป็นพี่เลี้ยงช่วยให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการในการนำทรัพย์สินแต่ละประเภทมาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ได้ เป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนให้กับผู้ขอสินเชื่อมากขึ้น
 
ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายที่สนใจสมัครเข้าร่วมการสัมมนาในครั้งต่อไปที่มีกำหนดจะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2564 สามารถติดตามการเปิดรับสมัครได้ที่ กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ เบอร์โทร 02 547 4944  Email : Training.stro@gmail.com” 
 
 “ตั้งแต่กรมฯ ได้เริ่มจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ (4 กรกฎาคม 2559) จนถึงปัจจุบันมีผู้รับหลักประกันแล้วจำนวน 317 ราย และมีผู้บังคับหลักประกันจำนวน 333 ราย ทั้งนี้ สถิติการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564) มีผู้มาขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 592,748 คำขอ จำนวนเงินสูงสุดที่ใช้ทรัพย์สินเป็นหลักประกัน รวมทั้งสิ้น 9,431,986 ล้านบาท โดยสิทธิเรียกร้องยังคงเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด ร้อยละ 76.81 (มูลค่า 7,244,831 ล้านบาท) รองลงมา สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ได้แก่ สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ เครื่องบิน สัตว์พาหนะ ร้อยละ 23.15 (มูลค่า 2,183,525 ล้านบาท) ทรัพย์สินทางปัญญา ร้อยละ 0.02 (มูลค่า 1,985ล้านบาท) กิจการ ร้อยละ 0.01 (มูลค่า 1,114 ล้านบาท) อสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ร้อยละ 0.004 (มูลค่า 397 ล้านบาท) และไม้ยืนต้น ร้อยละ 0.001 (มูลค่า 134 ล้านบาท)” อธิบดี กล่าวทิ้งท้าย    
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 เม.ย. 2564 เวลา : 12:51:09
18-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 18, 2025, 8:43 am