การค้า-อุตสาหกรรม
'กรมเจรจาฯ' ปลื้ม! ไทยส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารไปตลาดเอฟทีเอ 2 เดือนแรก พุ่ง 7.2%


กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ปลื้ม! ไทยส่งออกสินค้าเครื่องปรุงรสอาหารไปตลาดเอฟทีเอ 2 เดือนแรกของปี 2564 มูลค่า 83 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึง 7.2% สินค้าประเภทซอสฮอตสุด ตลาดคู่เอฟทีเอขยายตัวสูงทุกตลาด ทั้งอาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ชี้! ตลาดเครื่องปรุงรสอาหารไทยมีแนวโน้มเติบโตระยะยาว แนะผู้ประกอบการหาโอกาสเจาะตลาดใหม่ๆ ที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย  


 
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สินค้าเครื่องปรุงรสอาหารเป็นหนึ่งในสินค้าดาวเด่นของไทยที่มีศักยภาพ และมียอดการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 ไทยส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารออกสู่ตลาดโลกมูลค่า 140.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.6% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 ขณะที่การส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารไป 18 ประเทศคู่เอฟทีเอขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าการส่งออกรวม 83 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตถึง 7.2% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 (สัดส่วน 59% ของการส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารทั้งหมด) ซึ่งการส่งออกไปตลาดคู่เอฟทีเอขยายตัวสูงเกือบทุกตลาด เช่น อาเซียนและญี่ปุ่น (ขยายตัว 6%) เกาหลีใต้ (ขยายตัว 23%) จีน (ขยายตัว 41%) ฮ่องกง (ขยายตัว 36%)  นิวซีแลนด์ (ขยายตัว 6%) ชีลี (ขยายตัว 123%) และเปรู (ขยายตัว 542%) เป็นต้น สินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัว อาทิ ประเภทซอส (ขยายตัว 18%) น้ำปลา (ขยายตัว 8%) ผงปรุงรส (ขยายตัว 4%) และสิ่งปรุงรสอื่นๆ (ขยายตัว 9%)  

นางอรมน เสริมว่า ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้สินค้าเครื่องปรุงรสอาหารของไทยเติบโตและได้เปรียบคู่แข่งในเรื่องราคา เนื่องจากประเทศคู่เอฟทีเอส่วนใหญ่ไม่เก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าส่งออกจากไทยแล้ว โดยคู่เอฟทีเอ 16 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ฮ่องกง อินเดีย ชิลี และเปรู ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องปรุงรสอาหารที่ส่งออกจากไทยแล้ว เหลือเพียง 2 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่ลดภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องปรุงรสส่วนใหญ่ให้ไทยแล้ว เหลือสินค้าบางรายการที่ยังเก็บภาษีนำเข้า เช่น ซอสมะเขือเทศ ซอสถั่วเหลืองและเต้าเจี้ยว เป็นต้น   

“ตลาดเครื่องปรุงรสอาหารของไทยมีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว เนื่องจากรสชาติอาหารไทยครองใจผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศ รวมทั้งปัจจุบันเครื่องปรุงรสอาหารของไทยได้เริ่มวางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำแล้ว ประกอบกับการขยายตัวของธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคารไทยในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วย จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะขยายตลาดส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเจาะตลาดใหม่ๆ ที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับคุณภาพมาตรฐานของวัตถุดิบ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย ตอบโจทย์ทั้งด้านความสะดวกสบาย และกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพ” นางอรมนกล่าว

ปัจจุบันไทยครองตำแหน่งประเทศผู้ส่งออกเป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจากสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และจีน โดยในปี 2563 ไทยส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารสู่ตลาดโลกมูลค่า 851 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 8.0% จากปี 2562 และส่งออกไป 18 ประเทศคู่เอฟทีเอ มูลค่ารวมกันถึง 442 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9.1% จากปี 2562 (สัดส่วน 57% ของการส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารทั้งหมด) ตลาดส่งออกสำคัญของไทยขยายตัวทุกตลาด อาทิ อาเซียน (263 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8%) ญี่ปุ่น (84 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13%) ออสเตรเลีย (64 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 16%) จีน (24 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2%) และเกาหลีใต้ (20 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9%)

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 เม.ย. 2564 เวลา : 09:30:08
18-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 18, 2025, 9:09 am