นับวันมูลค่าตลาดรวมสตรีทฟู้ดจะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจร้านอาหารประเภทสตรีทฟู้ดมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ ผู้บริโภคหันมาสนใจรับประทานอาหารประเภทสตรีทฟู้ดมากขึ้น เนื่องจากมีรสชาติอร่อย และที่สำคัญไปกว่านั้น คือ ราคาไม่แพง
จากข้อมูลของยูโรมอนิเตอร์ บริษัทชั้นนำระดับโลกที่ให้บริการด้านการวิเคราะห์กลยุทธ์การตลาด และข้อมูลข่าวกรองด้านธุรกิจระดับโลก ออกมาระบุว่า มูลค่าตลาดอาหารสตรีทฟู้ดโดยรวมในประเทศไทย เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมามีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 228,000 ล้านบาท ในปี 2562 มีการปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 276,000 ล้านบาท และในปี 2563 ที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีปัจจัยลบในด้านของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่มูลค่ารวมของอาหารสตรีทฟู้ดก็ยังคงอยู่ในระดับที่ประมาณ 270,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่ายังเป็นตัวเลขในระดับที่สูง
สำหรับปี 2564 นี้ มีการคาดการณ์กันว่าทิศทางของมูลค่าตลาดรวมสตรีทฟู้ดน่าจะมีอัตราการเติบโตได้ที่ประมาณ 5 - 6% หรือ มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 340,000 ล้านบาท เนื่องจากเป็นอาหารที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนไทย และสามารถหารับประทานได้ง่าย เพราะราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับอาหารที่จำหน่ายในห้างค้าปลีก
แนวโน้มที่ดีดังกล่าว ทำให้มีผู้สนใจจำนวนมากอยากเข้ามาชิงเค้กในธุรกิจนี้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ แน่นอนถ้าผู้ประกอบการรายใหญ่ลงมาเล่นในตลาดนี้ รายเล็กก็น่าจะอยู่ยากนิดนึง เพราะแม้ว่าจะมีช่องว่างให้เข้ามาทำตลาดได้อีกมาก แต่จากจำนวนคู่แข่งที่มากขึ้น ประกอบกับปัจจุบันมีผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและกำลังซื้อ ภายหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้รายเล็กที่มีสายป่านสั้นเริ่มอยู่ยาก
และเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ล่าสุดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้หาแนวทางยกระดับสตรีทฟู้ดไทย เพื่อให้สอดคล้องนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ให้เข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ในช่วงปลายปี 2564 นี้ จะมีการผลักดันโครงการพัฒนานวัตกรรมรถเข็นรักษ์โลกเพื่อสตรีทฟู้ด ซึ่งรถเข็นดังกล่าวจะมีความพิเศษด้วยกัน 3 ด้าน คือ 1. รูปแบบสวยงาม 2. ถูกสุขอนามัย และ 3. เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม มีถังดักไขมันและบำบัดน้ำเสียใส่ไว้ในตัวรถเข็น เพื่อบำบัดก่อนทิ้งลงท่อระบายน้ำได้อีกด้วย สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ สวทช. คาดว่าจะเริ่มนำร่องในบริเวณถนนเยาวราชและถนนข้าวหลาม โดย กรุงเทพมหานคร (กทม.)จะมีการจัดระเบียบรถเข็นขายอาหารใหม่ ซึ่งในส่วนนี้ สวทช. จะออกค่าใช้จ่ายให้ 60% เป็นเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ส่วนผู้ค้าออกค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือ 40% แต่ล่าสุดจากการเจรจากับธนาคารออมสินรับจะช่วยสนับสนุนออกค่าใช้จ่ายในส่วนผู้ค้าให้อีกด้วย โดย สวทช.จะทำรถเข็นรูปแบบใหม่ 3 แบบ มอบให้เขตสัมพันธวงศ์ รวม 100 คัน นำไปจัดแบ่งให้ ผู้ค้าตามประเภทของอาหารที่ขาย ซึ่งในอนาคต รถเข็นรูปแบบใหม่ในเยาวราชจะกลายเป็นต้นแบบผู้ค้าอาหารที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับพื้นที่อื่นด้วย
ขณะที่ภาครัฐเริ่มออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ในส่วนของภาคเอกชนรายใหญ่ก็ทยอยออกมาประกาศตัวบุกตลาดสตรีทฟู้ดกันอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN ที่ได้มีการเปิดตัวร้านอาหารตามสั่งภายใต้แบรนด์ "เขียง" ไปก่อนหน้านี้ และล่าสุดก็ได้มีการเปิดตัว "เขียงรถเข็น" สาขาแรกในย่านท่าพระ เพื่อเป็นสาขาต้นแบบและสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจที่ต้องการจะลงทุนเปิดร้านอาหารสตรีทฟู้ด
เช่นเดียวกับ บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด เจ้าของแบรนด์บาร์บีคิวพลาซ่า ที่ออกมาเปิดตัว "แฟรนไชส์หมูทอดกอดคอ" เพื่อช่วยคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้สามารถกลับมาลืมตาอ้าปาก และดำรงชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง ขณะเดียวกัน บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG ก็ออกมาเปิดตัวร้านอาหารจานด่วนภายใต้ “อร่อยดี” (Aroi Dee) เพื่อบุกตลาดสตรีทฟู้ดในรูปแบบการขายแฟรนไชส์ พร้อมกับตั้งเป้าขยายสาขาให้ครบ 300 สาขาภายใน 5 ปีนับจากนี้
และรายล่าสุดที่สนใจโดดเข้าสู่ตลาดสตรีทฟู้ด คือ บริษัท เชสเตอร์ฟู้ด จำกัด ในกลุ่ม บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ที่ออกมาเปิดตัวร้านอาหารตามสั่งภายใต้แบรนด์ "ตะหลิว" เพื่อบุกตลาดสตรีทฟู้ด โดยประเดิมสาขาแรกที่ห้างเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส สาขาพระราม 4
น.ส.ลลนา บุญงามศรี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจร้านอาหารบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า จากกระแสตลาดสตรีทฟู้ดที่กำลังมาแรงบริษัทจึงเล็งเห็นโอกาสในการพัฒนาร้านอาหารแบรนด์ใหม่ภายใต้ชื่อ “ตะหลิว” ในเครือเชสเตอร์ มาต่อยอดธุรกิจ ด้วยการชูจุดเด่นของแบรนด์ คือ เมนูข้าวและพริกน้ำปลา เป็นกิมมิกของร้าน ซึ่งรูปแบบของอาหารที่จำหน่ายภายในร้านตะหลิวจะเน้นไปในส่วนของอาหารตามสั่ง โดยมีเมนูอาหารไทยยอดนิยมให้เลือกมากมาย เช่น ผัดกะเพรา ผัดพริกเผา ต้มยำ และประเภทเส้น เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังชูจุดเด่นในด้านของราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ และรสชาติอาหาร เนื่องจากร้านตะหลิวได้มีการคิดค้นสูตรเฉพาะที่ใช้วัตถุดิบหลักคุณภาพพรีเมียม สด สะอาด ได้มาตรฐาน และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้มาเป็นจุดขายของร้าน เพื่อให้ได้รสชาติอาหารกลมกล่อม อร่อย และเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้าที่ต้องการทานอาหารไทย
น.ส.ลลนา กล่าวอีกว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจของแบรนด์ตะหลิวนั้น บริษัทได้วางไว้เป็นร้านอาหารสตรีทฟู้ดพรีเมียม ด้วยการออกแบบลักษณะร้านให้ตอบรับกับพื้นที่ใช้สอยและความสะดวกในการเลือกซื้อ 3 รูปแบบ ได้แก่ ร้านขนาดเล็กในฟู้ดคอร์ท เช่น สาขาโรงพยาบาลศิริราช, คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา, ฟอร์จูนทาวเวอร์ และไบเทคบางนา ร้านแบบมีที่นั่ง สาขาศูนย์การค้าอิมพีเรียล สำโรง, ปั๊มน้ำมัน ปตท. พหลโยธิน กม. 25 และร้านรูปแบบ Cloud Kitchen จะเน้นแบบเดลิเวอรี่เท่านั้น ปัจจุบันเปิดให้บริการที่สาขาเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส พระราม 4
จากการออกมารุกตลาดอย่างหนักของผู้ประกอบการรายใหญ่ เชื่อว่าน่าจะขับเคลื่อนให้มูลค่าตลาดอาหารสตรีทฟู้ดในปี 2564 นี้มีแนวโน้มการเติบโตดีกว่าปี 2564 อย่างแน่นอน แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกครั้งก็ตาม
ข่าวเด่น