เดือนมี.ค.2564 ที่ผ่านมาถือเป็นเดือนแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา ที่อุตสาหกรรมโฆษณาของไทยไม่ได้ติดอยู่ในแดนลบ หลังจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่เริ่มออกมาใช้งบเพิ่มขึ้นในการโปรโมทสินค้า และทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย จึงทำให้ภาพรวมในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมโฆษณาของไทยมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 0% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 8,731 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 8,702 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ. 2564 ที่มีมูลค่า 7,220 ล้านบาท มีการขยายตัวติดลบจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่ประมาณ 11%
สำหรับสื่อที่มีการขยายตัวเป็นบวกมากที่สุด คือ สื่อโรงหนัง มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 34% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 484 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 361 ล้านบาท ตามด้วยสื่อนอกอาคารมีอัตราการเติบโตที่ 2% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 574 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 565 ล้านบาท
ส่วนที่ยังมีการขยายตัวติดลบแม้ว่าจะเริ่มมีการใช้งบผ่านสื่อโฆษณามากขึ้น คือ สื่อเคลื่อนที่ มีการขยายตัวติดลบอยู่ที่ 33% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 328 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 488 ล้านบาท ตามด้วยสื่อนิตยสาร มีการขยายตัวติดลบที่ 29% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 56 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 79 ล้านบาท สื่อในอาคาร มีการขยายตัวติดลบที่ 26% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 60 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 81 ล้านบาท สื่อเคเบิลทีวี/แซทเทลไลท์ทีวี มีการขยายตัวติดลบที่ 20% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 113 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 141 ล้านบาท
สื่อต่อมาที่มีการขยายตัวติดลบ คือ สื่อวิทยุ มีการขยายตัวติดลบที่ 11% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 294 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 330 ล้านบาท สื่อหนังสือพิมพ์ มีการขยายตัวติดลบที่ 7% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 221 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 237 ล้านบาท และสื่อทีวี มีการขยายตัวติดลบที่ 2% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 5,850 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 5,995 ล้านบาท ส่วนสื่ออินเตอร์เน็ต มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณาอยู่ที่ 751 ล้านบาท ยังไม่มีการนำมาเปรียบเทียบกันปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการปรับรูปแบบการเก็บตัวเลขใหม่
จากแนวโน้มที่ดีดังกล่าวส่งผลให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมโฆษณาในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 มีการขยายตัวติดลบลดลงเหลืออยู่ที่ 4% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 23,253 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 ทีอุตสาหกรรมโฆษณามีการขยายตัวติดลบอยู่ที่ 7% โดยสื่อที่มีติดลบต่ำที่สุดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา คือ สื่อทีวี มีการขยายตัวติดลบที่ 4% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 15,412 ล้านบาท ตามด้วยสื่อนอกอาคาร มีการขยายตัวติดลบอยู่ที่ 5% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 1,523 ล้านบาท สื่อหนังสือพิมพ์ ขยายตัวติดลบที่ 14% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 629 ล้านบาท สื่อโรงหนัง ขยายตัวติดลบอยู่ที่ 19% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 1,154 ล้านบาท
สื่อในอาคาร ขยายตัวติดลบอยู่ที่ 21% หรืมีมูลค่าอยู่ที่ 159 ล้านบาท สื่อวิทยุ ขยายตัวติดลบที่ 22% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 735 ล้านบาท สื่อนิตยสาร ขยายตัวติดลบที่ 27% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 150 ล้านบาท สื่อเคเบิลทีวี/ แซทเทลไลท์ทีวี ขยายตัวติดลบที่ 34% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 290 ล้านบาท และสื่อเคลื่อนที่ ขยายตัวติดลบอยู่ที่ 34% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 949 ล้านบาท ส่วนสื่ออินเตอร์เน็ต มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณาอยู่ที่ 2,253 ล้านบาท ยังไม่มีการนำมาเปรียบเทียบกันปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการปรับรูปแบบการเก็บตัวเลขใหม่
ในส่วนของอุตสาหกรรมที่มีการใช้งบผ่านสื่อโฆษณามากที่สุดในช่วงเดือนม.ค.- มี.ค. 2564 คือ กลุ่มกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (Food&Beverage) มีการใช้เม็ดเงินคิดมูลค่า 4,791 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% ตามด้วยกลุ่ม Media & Marketing ซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกิจการขายตรง มีการใช้เม็ดเงินคิดเป็นมูลค่า 3,056 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% ขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลและเครื่องสำอาง (Personal Care & Cosmetic) มีการใช้เม็ดเงินคิดเป็นมูลค่า 3,696 ล้านบาท ลดลง -4% และกลุ่มยานยนต์ (Automotive) มีการใช้เม็ดเงินคิดเป็นมูลค่า 1,853 ล้านบาท ลดลง -12% ส่วนกลุ่มที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาลดลงอย่างเห็นได้ชัดและต่อเนื่องจากปีที่แล้วคือ กลุ่มการท่องเที่ยว (Travel) มีการใช้เม็ดเงินคิดเป็นมูลค่า 289 ล้านบาท ลดลงประมาณ -72%
สำหรับบริษัทที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในช่วง 3 เดือนแรกที่ผ่านมา 3 ลำดับแรก คือ 1. บริษัท ยูนิลีเวอร์ (ไทย) โฮลดิ้ง จำกัด มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาคิดเป็นมูลค่า 1,183 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่ประมาณ15% โดยแคมเปญที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาคือ บรีส เอกเซล ชนิดน้ำ มีการใช้เม็ดเงินผ่านทางสื่อทีวีคิดเป็นมูลค่า 44 ล้านบาท ตามด้วย โดฟ ใหม่ แอนตี้ แฮร์ฟอล นอริชเม้นท์ มีการใช้เม็ดเงินผ่านทางสื่อทีวีคิดเป็นมูลค่า 31 ล้านบาท
อันดับ 2 เป็นของบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณาคิดเป็นมูลค่า 888 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่ประมาณ 110% โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาคือ เนสกาแฟ อเมริกาโน่ มีการใช้เม็ดเงินผ่านทางสื่อทีวีคิดเป็นมูลค่า 25 ล้านบาท ตามด้วยผลิตภัณฑ์ S26 ของขวัญวันเกิด มีการใช้เม็ดเงินผ่านทางสื่อทีวีคิดเป็นมูลค่า 21 ล้านบาท
ส่วนอันดับ 3 เป็นของบริษัท พร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (ประเทศไทย) จำกัด มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณาคิดเป็นมูลค่าประมาณ 613 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่ 25% โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา คือ ดาวน์นี่ ใหม่หอมติดทนนานทางสื่อทีวี มีการใช้เม็ดเงินคิดเป็นมูลค่า 25 ล้านบาท ตามด้วย รีจอยส์ ผมนุ่มสลวย ยาวนาน มีการใช้เงินผ่านทางสื่อทีวีคิดเป็นมูลค่า 21 ล้านบาท
แม้ว่าแนวโน้มของเดือนมี.ค.จะดีขึ้น แต่เนื่องจากโรคโควิด-19 มีการกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งในช่วงเดือนเม.ย.นี้ น่าจะทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมโฆษณากลับมาซบเซาอีกครั้ง เนื่องจากมีหลายธุรกิจไม่สามารถทำธุรกิจได้ตามปกติดังเดิม จากผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ต้องมาลุ้นกันว่าเดือนเม.ย.นี้เม็ดเงินโฆษณาจะกลับมาติดลบเท่าไหร่
ข่าวเด่น