การตลาด
สกู๊ป ''ซีพี'' เดินหน้ารีแบรนด์ห้าง ''โลตัส'' ปูทางเตรียมเปิดศึก ''ไฮเปอร์มาร์เก็ต''


หลังจากห้างเทสโก้ โลตัส  ได้กลับคืนสู่เจ้าของเดิมอย่าง "ซีพี" อีกครั้งในช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา  ด้วยมูลค่าการซื้อขายกว่า 10,576 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 338,445 ล้านบาท โดยเป็นการเข้าซื้อผ่าน 3 บริษัทในเครือ ได้แก่ ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง 40%, CP ALL 40% และ CPF 20%  ส่งผลให้ "ซีพี" ได้ธุรกิจของห้างเทสโก้ โลตัส ทั้งในส่วนของในประเทศไทยและมาเลเซียไว้ครอบครอง

สำหรับในส่วนของประเทศไทย  ช่วงเวลาที่มีการซื้อขายกิจการดังกล่าว ร้านค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco Lotus  ประกอบด้วย  ร้านรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต 214 สาขา ตลาดโลตัส 179 สาขา และเทสโก้ เอ็กซ์เพรส 1,574 สาขา และให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า 191 สาขา (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนส.ค. 2562 ) ขณะที่เทสโก้ ประเทศมาเลเซีย ประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco มีร้านในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตประมาณ  46 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ตจํานวน 13 สาขา ร้านค้าขนาดเล็กจํานวน 9 สาขา และธุรกิจให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าอีกประมาณ 56 สาขา การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้หลายคนหันมาจับตามองซีพีมากขึ้นว่าจะกินรวบตลาดค้าปลีกหรือไม่ 
 
เนื่องจากปัจจุบัน ซีพี มีห้างค้าปลีกที่อยู่ในมือเกือบครบทุกเซ็กเม้นท์ไม่ว่าจะเป็นห้างค้าส่งภายใต้แบรนด์ "แม็คโคร"  ซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างแบรนด์ "ซีพีเฟรชมาร์ท" หรือร้านสะดวกซื้อ(คอนวีเนียนสโตร์) อย่างแบบรนด์ เซเว่นอีเลฟเว่น  
 
ทั้งนี้ หลังจากทำการซื้อขายตามขั้นตอนเรียบร้อย ซีพี ก็เดินหน้าลุยธุรกิจห้างเทสโก้ โลตัสทันที เริ่มจากการขออนุญาตทางการค้าผ่านทางคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ให้ บริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ซื้อหุ้น บริษัทเทสโก้ สโตร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งถือเป็นหุ้นใหญ่ในบริษัทเอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จํากัด ผู้บริหารธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco Lotus ในประเทศไทย
 
พร้อมกันนี้  ซีพี ยังได้ทำการเปลี่ยนชื่อบริษัทเทสโก้ สโตร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็น บริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมกับเปลี่ยนกรรมการบริษัททั้งหมด  โดยมี นายอดิเรก ศรีประทักษ์  นายอำรุง สรรพสิทธิ์วงศ์  และ ศุภชัย เจียรวนนท์  เป็นผู้บริหารระดับสูง  ขณะเดียวกันก็ได้ทำการเปลี่ยนเครื่องหมายการค้าจาก Tesco Lotus เป็น Lotus's โดยเริ่มเปลี่ยนสาขาที่เลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2564 ที่ผ่านมา  เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงประสบการณ์ในการช้อปปิ้งที่ “Smart”  อีกทั้งยังเป็นการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันและในอนาคต  
 
 
นอกจากนี้ แบรนด์ “Lotus’s”  ยังสะท้อนถึงประสบการณ์ช้อปปิ้งที่ทันสมัยยิ่งขึ้นและสดใสกว่าเดิม เพื่อให้ลูกค้า รู้สึกดีดี ทุกวัน ที่โลตัส โดยเครื่องหมาย ที่ออกแบบเป็นรูป Drop Pin สื่อถึงการปักหมุกให้โลตัสเป็นจุดหมายที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้า ส่วนตัวอักษร S สื่อถึงความ Smart ครอบคลุมทุกด้าน ที่มาจากเอกลักษณ์ที่สร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ 4 ข้อคือ 1.Total smart supply chain and innovative products คัดสรรคุณภาพที่ดีที่สุด เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น 2. Seamless omni-channel experience ให้คุณรู้สึกดีดี ได้ทุกที่ ทุกเวลา
 
3.Integrated technology and data innovation ความคุ้มค่าที่มากกว่าแค่ราคา และออกแบบมาเพื่อคุณโดยเฉพาะ และ 4. Committed sustainability living เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน ซึ่งหลังจากรีแบรนด์สาขาเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา เป็นการนำร่อง ซีพี ก็จะเร่งดำเนินการทยอยที่เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตต่อไปทันที เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับห้างโลตัส และง่ายต่อการทำการตลาด 
 
ในส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ตและศูนย์การค้า ซีพี ก็มีแผนที่จะปรับรูปแบบให้เป็น Mega Food Store ที่มีอาหารครบครัน ทั้งในส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ต แผนกอาหารสด อาหารพร้อมทาน และอาหารแห้ง รวมถึงร้านค้าเช่า และศูนย์อาหาร โดยบริการใหม่ๆอีกมากมาย เพื่อชีวิตที่สะดวกสบายกว่าเดิม ซึ่งแนวทางดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด และให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้ามากขึ้น
 
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวไม่ได้มีเฉพาะแค่รูปแบบของไฮเปอร์มาร์เก็ตเท่านั้น  ในส่วนของรูปแบบร้านสะดวกซื้อที่รู้จักกันดีภายใต้แบรนด์ “เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส” ก็มีการรีแบรนด์ใหม่เป็น “โลตัส โก เฟรช” (Lotus’s go fresh) เช่นกัน โดยเริ่มสาขาแรกที่ซอยเอกชัย 99 ก่อนที่จะดำเนินการทยอยปรับในส่วนของสาขาที่เหลือ ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 1,000 สาขา ถือเป็นงานยักษ์ของซีพีเหมือนกัน  โดยช่วงระหว่างที่มีการรีแบรนด์ก็ได้มีการดูผลการตอบรับควบคู่กันไป 
 
นอกจากจะมีการปรับภาพลักษณ์ของร้านให้ดูสดใสและมีความทันสมัยมากขึ้นแล้ว ซีพี ยังได้มีการปรับรูปแบบของบริการ ด้วยการหันมาเน้นการมอบสินค้าอาหารสุดคุณภาพสูงอย่างครบครัน พร้อมสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคนิวนอร์มัลที่ขยับมาซื้ออาหารสดในร้านขนาดเล็กที่ใกล้บ้านมากกว่าเดิม โดยจะทยอยเปลี่ยนชื่อใหม่ที่เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส ทั้งหมดในเร็วๆ 
 
 
อย่างไรก็ดี แม้ว่าตอนนี้ ซีพี จะยังไม่สามารถเปิดยุทธศาสตร์ในการเปิดเกมรุกธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตได้ เนื่องจากยังมีข้อจำกัดในด้านของปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและกำลังซื้อ  เพราะปัจจุบันเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้กลับมาแพร่ระบาดอย่างหนักอีกครั้งในประเทศไทย  ส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในด้านของการจับจ่ายใช้สอย และเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถขายสินค้าได้ในช่วงเวลานี้ ล่าสุดได้มีการเปิดพื้นที่ให้กับผู้ประกอบการ SME ให้จำหน่ายสินค้า “ฟรี” พร้อมกับมีการประชาสัมพันธ์  เพื่อให้งลูกค้าเข้าถึงสินค้าได้มากขึ้น
 
ขณะเดียวกันก็ได้มีการตั้งทีมงานผู้ให้คำปรึกษาทางด้านธุรกิจมืออาชีพ เพื่อเพิ่มโอกาสในการค้าขาย เช่น ช่องทางต่อยอดธุรกิจออนไลน์, กิจกรรมทางการตลาด และสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์  เพื่อร่วมกันพัฒนากิจการของผู้ประกอบการขนาดเล็กในชุมชนในฐานะคู่ค้าให้สามารถจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจให้มีอัตราการเติบโตอย่างยั่งยืน
 
จากแนวทางการดำเนินธุรกิจดังกล่าวถือว่าเป็นสิ่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก ว่านับจากนี้ธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทยจะมีทิศทางการแข่งขันเป็นอย่างไร เพราะทั้งโลตัส และบิ๊กซี ต่างอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ทรงอิทธิพลทางธุรกิจ แม้ว่าตอนนี้จะยังเห็นภาพไม่ชัด เชื่อว่าหลังโควิด-19 คลี่คลายมีหนังม้วนใหญ่มาให้ดูอย่างแน่นอน 
 

LastUpdate 24/04/2564 13:16:15 โดย : Admin
07-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 7, 2024, 11:31 am