การตลาด
สกู๊ป จับตา ''สรยุทธ'' คัมแบค ''รายการข่าว'' ดัน ''เม็ดเงินโฆษณาช่อง 3'' เดือนพ.ค.ฟื้น


เป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากเลยทีเดียวสำหรับการกลับมาของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศข่าวคนดังของช่อง 3 ที่กำลังจะกลับมาคืนจออีกครั้งในเดือน พ.ค.นี้  ผ่านรายการเดิมที่คุ้นเคย คือ ”รายการเรื่องเล่าเช้านี้”  และ ”รายการเรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์” หลังจากหายจากหน้าจอไปนานถึง 5 ปี 

จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ช่อง 3 ได้รับผลกระทบไปแบบเต็มๆ เห็นได้จากเรตติ้งเฉลี่ยของ ”รายการเรื่องเล่าเช้านี้” ในช่วงที่นายสรยุทธ ยังจัดรายการอยู่ เปรียบเทียบกับเรตติ้งเดือนล่าสุด มีตัวเลขตกลงมากกว่า 60% เช่นเดียวกับ ”รายการเรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์”  ที่มีเรตติ้งตกลงไปมากกว่า 30%
 
 
นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ  กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือ MI กล่าวว่า หลังจากที่นายสรยุทธ์ได้ยุติการจัดรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้”  เรตติ้งของรายการดังกล่าวก็มีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง  เพราะนายสรยุทธ ถือได้ว่าเป็นผู้มีอิทธิพลในด้านของการจัดรายการข่าว หรือเรียกได้ว่าเป็น Influencer (KOL) แนวหน้าที่ทรงพลังที่สุดคนนึง  เพราะนอกจากการเป็นผู้ดำเนินรายการข่าว และคุยข่าวแล้ว นายสรยุทธยังเป็นผู้สร้างคอนเทนท์ข่าว ด้วยการนำเสนอข่าวในสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ และสามารถปลุกกระแสข่าว เพื่อสร้างแรงกระเพื่อม (Call to Action) ให้กับสังคมได้เป็นอย่างมาก 
 
เพราะฉะนั้น การวัดความนิยมในตัวนายสรยุทธ ในฐานะกรรมกรข่าว คงวัดจากเรตติ้งผู้ชมรายการข่าวทาง TV ของช่อง3 อย่างเดียวคงไม่พอ แต่ต้องรวมไปถึงจำนวนผู้ชมและผู้มีส่วนร่วมในช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะ social media ต่างๆ ด้วย  เพราะสิ่งดังกล่าวจะเป็นคำตอบที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนถึงความนิยม และการเป็นผู้ทรงอิทธิพลของนายสรยุทธ ที่มีต่อคนไทยและผู้บริโภคข่าวได้เป็นอย่างดี 
 
อย่างไรก็ดี  การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับช่อง 3 ในช่วงเวลาดังกล่าว  ทำให้ทีวีช่องอื่นๆ ได้รับอานิสงส์เชิงบวกทันที  โดยเฉพาะรายการข่าวช่วงเช้า  ของช่อง 7  เนื่องจากพฤติกรรมการดูทีวีของผู้บริโภคจะนิยมเลือกเปลี่ยนช่องไปดูรายการต่างๆ ของช่องที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆก่อนเสมอ  ซึ่งนอกจากช่อง 7 จะได้รับอานิสงส์ไปแบบเต็มๆ จากเรตติ้งที่ตกลงอย่างต่อเนื่องของรายการ“เรื่องเล่าเช้านี้” แล้ว  ปัจจัยดังกล่าวยังส่งผลบวกต่อเรตติ้งรายการข่าวช่วงเช้าของทีวีช่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นช่อง Amarin TV, WorkPoint TV, Thairath TV หรือ One HD
 
 
แม้ว่านายสรยุทธ จะเป็นผู้ทรงอิทธิพลในด้านของรายการข่าว แต่การกลับมาในครั้งนี้ก็มีความท้าทายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา พฤติกรรมการบริโภคสื่อ พฤติกรรมของผู้ชม  พฤติกรรมการเสพรายการข่าว หรือคอนเทนต์ประเภทข่าวมีการเปลี่ยนไปจากเดิมค่อนข้างมาก  เนื่องจากปัจจุบันมีช่องทางให้ผู้บริโภคสามารถชมรายการทีวีได้หลากหลายมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นผ่าน TV ช่องต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 10 ช่อง หรือการรับชมผ่านช่องทางออนไลน์  ที่ปัจจุบันมีทั้งชมผ่าน Social Media ของ Publishers และ KOLs  โดยสามารถชมได้ทั้งผ่านหน้าจอแล็บท็อป และมือถือ ซึ่งในส่วนของช่องทางออนไลน์ปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมของกลุ่มคนรุ่นใหม่
 
นายภวัต กล่าวต่อว่า  การกลับมาทำหน้าที่ผู้ดูแลรายการข่าว และผู้ดำเนินรายการข่าวของนายสรยุทธในครั้งนี้อาจเป็นเรื่องยากและท้าทายมากที่จะดันเรตติ้งกลับไปที่จุดเดิมหรือสูงกว่าเรตติ้งเมื่อ 5 ปีที่แล้ว  เนื่องจากพฤติกรรมการรับชมรายการทีวีของผู้บริโภคเปลี่ยนไป  ซึ่งปัจจุบันมีการรับชมผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น แต่ไม่ได้มีการนำมานับรวมในการวัดเรตติ้ง  ประกอบกับปัจจุบันมีปัจจัยลบในด้านของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงทำให้ผู้ประกอบการทีวีช่องต่างๆ ยังไม่กล้าที่จะปรับขึ้นค่าโฆษณา  โดยในส่วนของรายการข่าวที่มีการขายโฆษณาจะมีเรดการ์ดแพงสุดอยู่ที่ประมาณ 2 แสนบาทต่อนาที 
 
อย่างไรก็ดี  การกลับมาของนายสรยุทธ์ในครั้งนี้ MI คาดการณ์ว่าจะทำให้เรตติ้งรายการข่าวของช่อง 3 มีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน  โดยเฉพาะรายการข่าวช่วงเช้า  ซึ่งนายสรยุทธ จะกลับมาจัดรายการเรื่องเล่าเช้านี้ และรายการเรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ เหมือนเมื่อช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
 
 
สำหรับภาพรวมของสัดส่วนรายการต่างๆ ที่มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณาทางทีวีนั้น คอนเทนต์หลักยังคงเป็นในส่วนของละคร คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30%  ตามด้วยรายการข่าว  25-30%  รายการวาไรตี้  25-30% ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 10-20%  จะเป็นในส่วนของรายการอื่นๆ  โดยในส่วนของปีนี้สื่อทีวียังคงเป็นสื่อหลักที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณามากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนประมาณ  50% ตามด้วยสื่อออนไลน์  30%  ส่วนอีก 20%  เป็นสื่ออื่นๆ
 
ในส่วนของภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาในปีนี้  MI ยังมองว่า มีโอกาสที่จะสามารถเติบโตอยู่ในแดนบวกได้ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายภายในระยะเวลา 1 เดือนนับจากนี้  หรือหากแย่ที่สุดภาพรวมของอุตสาหกรรมโฆษณาก็น่าจะขยายตัวอยู่ในระดับทรงตัวไม่ติดลบ
 
นายภวัต กล่าวปิดท้ายว่า จากการระบาดรอบล่าสุดนี้  ซึ่งถือเป็นระลอกที่ 3 ทำให้ธุรกิจและสภาวะโดยรวมของประเทศไทยกลับมาซบเซาลงอีกครั้งนับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา (ช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์) และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะคลี่คลายในเร็ววันนี้  เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละวันยังคงอยู่ในระดับที่กว่า 1 พันคน  ซึ่งจากสถานการณ์ล่าสุดบริษัท ได้ประเมินความเป็นไปได้หลังจากนี้ไว้ 2 Scenarios ด้วยกันคือ
 
Scenario 1 หากการระบาด ระลอก 3 นี้มีตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ทรงๆอยู่ที่วันละ 1,xxx และมีแนวโน้มที่จะค่อยๆลดลง จนถึงตัวเลขที่น่าพอใจ (ต่ำกว่า 100) ภายในสิ้นเดือนพ.ค.นี้ ประกอบกับจำนวนวัคซีนที่จะมีการฉีดมีการกระจายมากขึ้นตลอดทั้งปี เม็ดเงินสื่อโฆษณาในปี 2564 นี้น่าจะยังพอมีการเติบโตได้บ้าง คือ มองว่าน่าจะมีอัตราการเติบโตได้ที่ประมาณ 4% หรือการใช้เม็ดเงินโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 78,000 ล้าน
 
ส่วน Scenario ที่ 2  หากการระบาดระลอกที่ 3 นี้ มีตัวเลขที่สูงขึ้น โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันทำ New High อย่างต่อเนื่อง  และยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงในเร็ววัน หรือลดลงจนถึงตัวเลขที่น่าพอใจ (ต่ำกว่า 100) ภายในครึ่งปีแรกนี้ เม็ดเงินสื่อโฆษณาในปีนี้น่าจะไม่มีอัตราการเติบโต หรือขยายตัวใกล้เคียงกับปี 2563 ที่ผ่านมา คือ มีการใช้เม็ดเงินโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 75,000 ล้าน ซึ่งหากสถานการณ์เป็นอย่างที่คาดการณ์ใน Scenario ที่ 2  ภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาถือว่าอยู่ในภาวะลำบาก เนื่องจากปีที่ผ่านมามูลค่าของเม็ดเงินโฆษณาอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว
 

LastUpdate 24/04/2564 12:53:56 โดย : Admin
07-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 7, 2024, 11:34 am