หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน หลายธุรกิจต้องอยู่ในสภาวะหยุดชะงัก เนื่องจากการแพร่ระบาดในครั้งนี้มีความรุนแรงมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ความเชื่อมั่นโดยรวมของผู้บริโภคมีการปรับตัวลดลงอีกครั้ง เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ค้าปลีก เนื่องจากไม่สามารถทำธุรกิจได้ตามปกติเหมือนเดิม เพราะมีการปรับเวลาให้บริการ และจำกัดรูปแบบในการจำหน่ายสินค้าและบริการ
ทั้งนี้ หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ และไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัวโควิด-19 ให้สงบได้ภายในเดือน พ.ค. มีนักธุรกิจหลายคนคาดว่า ภาพรวมธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมในสิ้นปี 2564 อาจอยู่ในแดนลบ หรือดีสุดก็ทรงตัวเท่ากับปี 2563 ที่ผ่านมา หากภาครัฐไม่เร่งควบคุมสถานการณ์ เพราะจนถึงขณะนี้ภาพรวมของผู้ติดเชื้อในแต่ละวันของประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับตัวเลข 4 หลัก
นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า จากการที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้จับมือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ทำการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกไทย ในทุกภาคส่วนของทั้งค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการ ซึ่งได้ดำเนินการเป็นประจำทุกเดือน เช่นเดียวกับเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ที่ได้มีการทำแบบสำรวจผ่านช่องทางออนไลน์ระหว่างวันที่ 16-24 เม.ย. 2564 มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามประกอบด้วย ร้านค้าปลีกสินค้าทั่วประเทศ ซึ่งมีช่องทางจำหน่ายรวมกันกว่า 23,000 แห่ง และร้านค้าปลีกบริการภัตตาคารร้านอาหารที่มีช่องทางบริการกว่า 6,000 แห่ง โดยมีข้อสรุปดังนี้
1.ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก (Retail Sentiment Index) เดือนเม.ย. ปรับลดลงกว่า 43% เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค. โดยดัชนีปรับลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 อย่างชัดเจน ใกล้เคียงกับดัชนีความเชื่อมั่นเดือนเม.ย. 2563 สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่ลดลง หลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกสามในเดือนเม.ย. กระจายเป็นวงกว้าง ซึ่งปัจจัยลบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้กำลังซื้อที่ฟื้นตัวช้าเป็นปัจจัยที่เพิ่มความกังวลให้กับผู้ประกอบการ
2.ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า เปรียบเทียบระหว่างดัชนีในเดือนม.ค. 2564 และดัชนีในเดือนเม.ย. 2564 จะพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ในเดือนเม.ย. 2564 ลดต่ำกว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยในเดือนม.ค. 2564 สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นใจถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากประชาชนยังมีข้อกังวลถึงความรุนแรงของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ และความวิตกกังวลถึงความไม่ชัดเจนในแนวทางการฉีดวัคซีนที่ภาครัฐนำเสนอ
3.ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อการเติบโตยอดขายสาขาเดิมเดือนเม.ย. (same store sale growth หรือ SSSG) เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค. (Month on Month) มีทิศทางที่ลดลงกว่า 40% เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค. สะท้อนให้เห็นว่ายอดขายสาขาเดิมเดือนเม.ย. มีการปรับตัวลดลงจากเดือนมี.ค.เกือบครึ่ง ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงทั้งในส่วนของยอดซื้อต่อบิล (Spending per Bill or Basket Size)) และความถี่ในการจับจ่าย (Frequency of Shopping)
4. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายเดิมรายภูมิภาคปรับลดลงจากเดือนเมษายนในทุกภาค สะท้อนถึงสภาวะความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่กระจายทุกภูมิภาค โดยเฉพาะดัชนีที่ลดลงชัดเจน กรุงเทพปริมณฑล และภาคใต้ ที่เป็น Super Spread หลัก
5.ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเมื่อจำแนกตามประเภทความร้านค้าปลีกเปรียบเทียบระหว่างเดือนเม.ย.และเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา พบว่า ลดลงอย่างชัดเจนและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 ในทุกประเภทร้านค้าปลีก ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนทรงตัวเท่าเดิม สะท้อนถึงผู้ประกอบการร้านค้าปลีกไม่มีความหวังและความมั่นใจในมาตรการภาครัฐที่จะฟื้นกำลังซื้อกลับมาได้เร็ว
6.ร้านค้าปลีกประเภทวัสดุก่อสร้าง ตกแต่งและซ่อมบำรุง มีการปรับตัวลดต่ำกว่าเดือนมี.ค. เล็กน้อย แต่ก็ยังอยู่เหนือค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 เนื่องจากราคาเหล็กเป็นปัจจัยสำคัญในการก่อสร้างมีการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ช่วยดันราคาวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ปรับตัวตามขึ้นไปด้วย นอกจากนี้ ร้านค้าประเภทวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง ซ่อมบำรุง ได้รับแรงหนุนจากวิถี New Normal เพราะทำงานที่บ้าน (Work from Home) จึงทำให้มีความนิยมในการปรับภูมิทัศน์ภายในที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับการทำงาน
7.จากประเด็นคำถามพิเศษประจำเดือนให้ผู้ประกอบการประเมินผลกระทบต่อยอดขาย กำลังซื้อ และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ผลการสำรวจผู้ประกอบการที่บริหารร้านค้าปลีกกว่า 29,000 แห่ง พบว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคมีสัญญาณปรับตัวแย่กว่าเดือนมี.ค.มากกว่า 25% นอกจากนี้ ยังมีการประเมินว่ายอดขายจะได้ผลกระทบมากกว่า 15-40% เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.
8.ผู้ประกอบการยังมีความกังวลถึงการจ้างงานที่จะลดลงจากยอดขายที่หดหายไป ผู้ประกอบมีข้อเสนอให้ภาครัฐควรมีมาตรการเยียวยาช่วยจ่ายค่าแรงพนักงาน 50% รวมถึงควรหาแหล่ง Soft Loan ที่เข้าถึงง่ายให้กับผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ
นายฉัตรชัย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างหนัก โดยเฉพาะผลกระทบต่อภาคการค้าปลีก ค้าส่ง ศูนย์การค้า ร้านอาหาร และการท่องเที่ยว เพราะเพียงแค่เขตการควบคุมพิเศษและเข้มงวดสีแดงเข้ม 6 จังหวัด ได้รับผลกระทบถึง 22% ต่อ GPP รวมของประเทศ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทางสมาคมฯ อยากใคร่ขอภาครัฐให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าปลีก ศูนย์การค้า และร้านอาหาร ผ่านข้อเสนอ ดังนี้
1. สนับสนุนค่าจ้างพนักงาน ลดภาระค่าใช้จ่ายด้วยมาตรการภาษี เพื่อไม่ให้มีการลดพนักงานหรือเลิกจ้าง
2. สนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แก่ผู้ประกอบการอย่างจริงจังและรวดเร็ว เพราะด้วยสภาพคล่องที่เหลืออยู่ของผู้ประกอบการค้าปลีกจะสามารถดำเนินธุรกิจได้เพียง 3-6 เดือน
3. ประกาศการจ้างงานแบบรายชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับการบริการต่อผู้บริโภคที่มาเป็นช่วงเวลา โดยให้ใช้กับธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารเป็นการเฉพาะก่อน
4. เร่งรัดการฉีดวัคซีนให้รวดเร็ว ครอบคลุม และทั่วถึง
ข่าวเด่น