สถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังระบาดระลอกใหม่อยู่ในขณะนี้ ยังคงแพร่กระจายและรุนแรงอย่างต่อเนื่อง คนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังยิ่งต้องระวัง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจ ที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นหากได้รับเชื้อ เพราะกล้ามเนื้อหัวใจทำงานแย่ลงอาจเกิดอาการหัวใจล้มเหลวได้ การฉีดวัคซีนโควิด-19 จึงมีความสำคัญ เพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรค และเพิ่มโอกาสรอดชีวิตในผู้ป่วย
นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์หัวใจ หัวหน้าศูนย์ตรวจสมรรถภาพหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า ปัจจุบันวัคซีนโควิด-19 ที่กำลังใช้อยู่ และกำลังจะมีใช้ในประเทศไทยนั้น ประกอบด้วย 1.Sinovac จากประเทศจีนเป็นวัคซีนที่ผลิตจากไวรัสที่ไม่มีชีวิต (เชื้อตาย) 2.AstraZeneca/Oxford วัคซีนที่ใช้ไวรัส Adenovirus เป็นไวรัสที่ไม่ได้ก่อโรคในคน เข้าไปในเซลล์เพื่อผลิตภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อโควิด-19 3.Sputnik V จากรัสเซีย เป็นวัคซีนที่ผลิตจากเทคโนโลยีเวกเตอร์ไวรัส (Viral Vector) เหมือนกับวัคซีน AstraZeneca คือ ใช้ไวรัสชนิดอื่นเป็นตัวพาสารพันธุกรรมของไวรัสโควิด -19 เข้าสู่ร่างกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน 4.mRNA from Pfizer วัคซีนที่ใช้เทคนิคชนิดใหม่อย่าง mRNA โดยการฉีดพันธุกรรมโมเลกุลที่เรียกว่า mRNA 5.ChulaVac เป็นวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทย โดยใช้เทคนิค mRNA แบบเดียวกันกับไฟเซอร์หรือ Moderna และ 6.สยามไบโอไซเอนซ์ บริษัทของไทยที่ผลิตวัคซีนถอดแบบการผลิตเดียวกับเทคนิคของ AstraZeneca/Oxford
ปัจจุบันมีการพูดถึงอย่างมากถึงผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนโควิด -19 ซึ่งความจริงแล้วผลข้างเคียงมีน้อยมาก และส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง หากชั่งน้ำหนักแล้วประโยชน์ที่ได้รับจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด -19 นั้นมากมายกว่าหลายเท่า เพราะหากฉีดวัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็วเท่าไร ทุกคนก็จะได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติได้เร็วขึ้นเท่านั้น
สำหรับผลข้างเคียงจากวัคซีนโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งหลายคนค่อนข้างเป็นกังวล คือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งการเกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดดำในสมอง หลอดเลือดดำที่ขา หรือเป็นสาเหตุให้ลิ่มเลือดเหล่านั้นหลุดแล้วไปอุดตันที่เส้นเลือดปอด ภาวะนี้เกิดขึ้นเพราะมีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเกล็ดเลือดในร่างกายของเราเอง ทำให้เกล็ดเลือดต่ำลงและกระตุ้นให้มีการสร้างระบบการแข็งตัวของเลือดขึ้นในร่างกาย แต่ภาวะนี้ไม่ได้เป็นภาวะที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังจากฉีดวัคซีนโควิด -19 เท่านั้น ในทางการแพทย์ถือว่าภาวะนี้เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้จากการรักษาโรคในระบบหลอดเลือดและหัวใจอยู่แล้ว ในขณะนี้ บางประเทศได้ยับยั้งการฉีดวัคซีนโควิด -19 ชนิดนี้แล้ว เพื่อทำการศึกษาเพิ่มเติมถึงผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น ส่วนภาวะที่คล้ายกับโรคของหลอดเลือดสมองซึ่งมีรายงานออกมาในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดb-19 ในประเทศไทย ยังเป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราวและไม่ได้รุนแรงที่ทำให้เกิดความพิการ และสามารถหายขาดจากภาวะเหล่านั้นได้ ก็ยังคงต้องติดตามผลกันต่อไป
ทั้งนี้ การป้องกันการระบาดของโควิด -19 คือ ต้องให้ประชากรอย่างน้อย 60%- 70% ขึ้นไปได้รับวัคซีน เพื่อปิดวงจรการระบาดทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด -19 จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรฉีดให้กับทุกคนที่ไม่มีข้อห้ามในการฉีด โดยเฉพาะผู้ป่วยเรื้อรังที่มีความเสี่ยงสูงและมีอันตรายถึงชีวิตถ้าหากติดเชื้อโควิด -19 เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคปอด และโรคทางเดินทางหายใจ โรคไตเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
สำหรับคนที่มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีน ได้แก่ ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงจากการฉีดวัคซีนโควิด -19 ครั้งแรก หรือแพ้ส่วนประกอบของวัคซีนรุนแรง ผู้ที่เจ็บป่วยแบบเฉียบพลันและอาการยังไม่คงที่ ผู้ที่มีโรคเรื้อรังและยังปรากฏอาการในปัจจุบัน เช่น โรคหัวใจ โรคทางระบบประสาทบางชนิด ฯลฯ ผู้ที่อายุน้อยกว่า 18 ปี ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น (เพิ่มเติม รอประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข) นอกจากนี้ วัคซีนแต่ละชนิดอาจไม่ได้เหมาะกับทุกคนจึงจำเป็นที่จะต้องเลือกชนิดของวัคซีนที่จะฉีดให้เหมาะสมเพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น
การหยุดความรุนแรงของโรคที่สำคัญคือ การหยุดการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส เพราะการกลายพันธุ์อาจนำมาซึ่งการหลบภูมิคุ้มกันและวัคซีนจะไม่ได้ผล ดังนั้น การเตรียมตัวและเร่งฉีดวัคซีนให้ในคนที่ควรต้องฉีด หลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนในคนที่มีข้อห้ามในการฉีด ย่อมจะทำให้ประสบความสำเร็จในการป้องกันโรค และความหวังของประชากรที่จะกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขก็จะอยู่ไม่ไกล สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ รพ.หัวใจกรุงเทพ โทร. 02-310-3000 โทร.171 หรือ LINE Official : @hearthospital
ข่าวเด่น