นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งพบผู้ป่วยติดเชื้อและผู้สัมผัสใกล้ชิดทำให้เป็นวงกว้าง นายศักด์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม กำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในระบบคมนาคมขนส่ง กรมการขนส่งทางบกจึงได้ออกประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง มาตรการปฏิบัติเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ รถยนต์สาธารณะ รถจักรยานยนต์สาธารณะ สถานีขนส่งผู้โดยสาร พนักงานขับรถ ผู้บริการ และผู้โดยสาร เพื่อความปลอดภัยของผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้โดยสารที่ต้องการใช้บริการการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท
โดยยึดมาตรการทางด้านสาธารณสุข D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด และเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังขั้นสูงสุด ได้กำหนดการจัดที่นั่งของรถโดยสารประจำทางและรถโดยสารไม่ประจำทาง ให้นั่ง 1 ที่นั่ง เว้น 1 ที่นั่ง หรือให้นั่ง 2 ที่นั่งสำหรับผู้โดยสารที่มาด้วยกันนั่งติดกันได้ ซึ่งต้องมีจำนวนผู้โดยสารไม่เกินร้อยละ 70 ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด หรือให้เหมาะสมตามประเภทของพาหนะ สำหรับการเดินรถโดยสารสาธารณะในเขตเมือง ขอให้ผู้ประกอบการขนส่งปรับลดการให้บริการในช่วงเวลา 23.00 - 04.00 น. หรือช่วงระยะเวลาตามประกาศจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนด ส่วนรถโดยสารสาธารณะข้ามเขตพื้นที่จังหวัด ขอความร่วมมือผู้ประกอบการขนส่งพิจารณาปรับลดจำนวนเที่ยวการเดินรถในการให้บริการขนส่งผู้โดยสารระหว่างจังหวัดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุดเท่าที่สามารถจะทำได้ ทั้งนี้ ให้พิจารณาจัดการเดินรถตามความจำเป็นให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่จังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแต่ละจังหวัดกำหนดอย่างเคร่งครัด
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อไปว่า ผู้ประกอบการขนส่งต้องประชาสัมพันธ์และแนะนำพนักงานขับรถ ผู้บริการ และผู้โดยสาร ลงทะเบียนเข้าใช้แพลตฟอร์ม “SAVE THAI” เพื่อใช้ประเมินความเสี่ยงของตนเอง และแสดงต่อเจ้าหน้าที่ก่อนการเดินทาง พร้อมควบคุม กำกับ ดูแล ผู้โดยสารให้ลงทะเบียนเช็กอิน-เช็กเอาท์ “ไทยชนะ” หรือ “หมอชนะ” หรือกรอกแบบฟอร์มที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด และในระหว่างการเดินทางต้องมีการระบายอากาศภายในรถโดยสารปรับอากาศ รถตู้โดยสารปรับอากาศ โดยให้พนักงานขับรถพิจารณาจอดพักรถ และเปิดประตูหน้าต่างเพื่อระบายอากาศภายในรถขณะเดินทางทุก 2 ชั่วโมง และทำความสะอาดภายในตัวรถและพื้นผิวสัมผัสภายในรถด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวยังได้กำหนดมาตรการปฏิบัติสำหรับการให้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะ ซึ่งมีข้อจำกัดจากลักษณะการโดยสาร ผู้ให้บริการจึงต้องมีมาตรการป้องกันตนเองและผู้โดยสาร โดยให้ทำความสะอาดแฮนด์รถจักรยานยนต์และเบาะนั่งด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ รวมทั้งทำความสะอาดหมวกกันน็อกสำหรับผู้โดยสารทั้งด้านในและด้านนอกหรืออาจมีบริการหมวกคลุมผมแบบใช้แล้วทิ้ง และงดการพูดคุยขณะให้บริการ สำหรับผู้โดยสารที่ใช้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะเป็นประจำควรมีหมวกกันน็อกเป็นของตัวเอง ซึ่งจะมีความปลอดภัยมากที่สุด รวมถึงยังต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดการเดินทางไม่ว่าจะเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะประเภทใดก็ตาม
ข่าวเด่น