หุ้นทอง
เทคนิคสแกนหาหุ้นผันผวนต่ำเข้าพอร์ต


นับตั้งแต่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดหุ้นไทยก็ได้รับผลกระทบ อีกทั้งมีความผันผวนและความเสี่ยงที่สูงขึ้นมาก ส่งผลให้ผลตอบแทนจากการลงทุนปรับลดลงหรือถึงขั้นขาดทุน

 
 
เมื่อสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอน ทำให้คุณพยายามหากลยุทธ์การลงทุนเพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทน มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอบอกว่า มีกลยุทธ์หนึ่งที่ได้รับความนิยมในช่วงตลาดหุ้นผันผวน คือ การหาหุ้นที่มีความผันผวนต่ำ เข้ามาเก็บไว้ในพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนโดยรวม
 
โดยในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูง ไม่เพียงคัดเลือกหุ้นที่มีความผันผวนต่ำเข้ามาอยู่ในพอร์ตเท่านั้น แต่คุณควรเพิ่มน้ำหนักหุ้นประเภทนี้ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตลงทุนให้ต่ำกว่าความผันผวนของตลาดหุ้นโดยรวม
 
 
ธีมการลงทุนหุ้นผันผวนต่ำ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ทำการคัดเลือกหุ้นที่มีค่าความผันผวนต่ำที่สุด 40 ตัวในแต่ละช่วงเวลา และนำมาทดสอบสร้างเป็นกลุ่มหุ้น ซึ่งหุ้นที่นำมาทดสอบนี้ต้องมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ที่สามารถลงทุนได้อย่างคล่องตัว เช่น สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free-Float) ไม่น้อยกว่า 20% ของทุนชำระแล้วของบริษัท, มูลค่าการซื้อขายรายวันเฉลี่ยที่มากพอสมควร, มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท และมีการซื้อขายเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป
 
โดยในการทดสอบสร้างกลุ่มหุ้นที่มีความผันผวนต่ำนั้น เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้คัดเลือกหุ้นที่มีความผันผวนต่ำที่สุด 40 ตัวในแต่ละช่วงเวลาแล้ว จะกระจายน้ำหนักการลงทุนด้วยการใช้วิธีคำนวณแบบถ่วงน้ำหนักด้วยส่วนกลับของความผันผวน ซึ่งคำนวณจากส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของผลตอบแทนรายวันย้อนหลัง 1 ปี ของหุ้นแต่ละตัว โดยจะให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นที่มีความผันผวนต่ำในสัดส่วนที่สูง (แต่จำกัดน้ำหนักของหุ้นแต่ละตัวไม่เกิน 10% ในทุกรอบที่มีการปรับพอร์ต ซึ่งมีรอบระยะเวลาในการปรับทุกไตรมาส)
 

จากการทดสอบ พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีน้ำหนักสูงสุดในพอร์ตลงทุน ได้แก่ กลุ่มบริการ พลังงานและสาธารณูปโภค และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันอยู่ประมาณ 70% ของกลุ่มหุ้น ในขณะที่หุ้นที่มีน้ำหนักมากที่สุด 10 อันดับแรก ส่วนใหญ่เป็นหุ้นมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่ มีสภาพคล่องสูง และกระจายตัวไปในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบโครงสร้างพื้นฐานหรือธุรกิจที่ผลิตสินค้าและบริการที่จำเป็นในการใช้ชีวิต

โดยหากมองในแง่ของการวัดผลตอบแทนรวมของการลงทุนในหุ้นกลุ่มที่มีความผันผวนต่ำ (SET Low Vol) เปรียบเทียบกับดัชนีผลตอบแทนรวมของตลาด SET 100 Total Return Index (SET 100 TRI) จากกราฟ พบว่าผลตอบแทนของหุ้นกลุ่มที่มีความผันผวนต่ำค่อนข้างสม่ำเสมอในแง่ของผลตอบแทนส่วนเกินจากผลตอบแทนดัชนีอ้างอิง (Alpha) โดยเป็นบวกถึง 8 ปีจาก 10 ปีย้อนหลัง (ปี 2553 – 2563) อีกทั้งในปีที่ผลตอบแทนรวมของตลาดติดลบ หุ้นกลุ่มผันผวนต่ำก็ติดลบน้อยกว่า

นอกจากนี้ หากวิเคราะห์ผลตอบแทนรวมแบบย้อนหลังตามช่วงเวลา พบว่าหุ้นกลุ่มผันผวนต่ำให้ผลตอบแทนรวมใกล้เคียงหรือมากกว่าดัชนี SET 100 TRI เช่นเดียวกัน ขณะเดียวกันค่าความเสี่ยงของผลตอบแทนหรือความผันผวนของผลการดำเนินงานต่อปี (Standard Deviation : SD) ก็ต่ำกว่าอีกด้วย
 
เช่น ผลตอบแทน 10 ปีย้อนหลัง (30 ธันวาคม 2552 – 30 กันยายน 2563) หุ้นกลุ่มผันผวนต่ำให้ผลตอบแทนรวม 90.89% โดยมีค่าความเสี่ยง (SD) อยู่ที่ 17.41% ขณะที่ดัชนี SET 100 TRI ผลตอบแทนรวม 64.03% มีค่าความเสี่ยง (SD) อยู่ที่ 18.07% หรือบางช่วงที่ผลตอบแทนรวมติดลบ หุ้นกลุ่มผันผวนต่ำก็ติดลบน้อยกว่าและค่าความเสี่ยง (SD) ก็ต่ำกว่าด้วย
 
 
จากการทดสอบในการคัดกรองหุ้นกลุ่มผันผวนต่ำเข้าพอร์ต อาจจะพอชี้ให้เห็นว่าการเน้นลงทุนในหุ้นผันผวนต่ำ สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูงหรือตลาดมีโอกาสที่จะเป็นขาลง
 
สำหรับนักลงทุนที่สนใจอยากค้นหา “หุ้นผันผวนต่ำ” ด้วยตนเอง หรืออยากทดลองใช้ปัจจัยอื่นมาพิจารณาในการสร้างพอร์ตลงทุนตาม Theme การลงทุนรูปแบบต่างๆ เช่น ผลการดำเนินงานของบริษัท มูลค่าของหลักทรัพย์ หรืออัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ลองเข้าไปที่เว็บไซต์ www.setsmart.com ซึ่งตอนนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดโอกาสให้ได้ทดลองใช้งาน SETSMART ฟรี 15 วัน เพียงแค่สมัครเป็นสมาชิก SET Member เท่านั้น และหากใครที่ต้องการใช้ต่อ ก็มีค่าใช้จ่ายเพียง 250 บาทต่อเดือน โดยมีข้อมูลที่จะได้รับ เช่น ภาวะการซื้อขาย เทรนด์นักลงทุนต่างชาติ หรือข้อมูลหุ้น อนุพันธ์ และกองทุนรวม ครบจบในเว็บเดียว ติดตามรายละเอียดมี่เว็บไซด์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 พ.ค. 2564 เวลา : 09:52:14
07-07-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ July 7, 2025, 11:18 am