การค้า-อุตสาหกรรม
ภาคธุรกิจเชื่อมั่นวัคซีนโควิด-19 ช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อ และกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศให้กลับมาฟื้นตัวเร็วขึ้น


กรมพัฒน์ฯ ระดมความเห็นภาคธุรกิจแฟรนไชส์ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เตรียมจัดงาน ‘แฟรนไชส์สร้างอาชีพ’ ทั่วประเทศ หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย สร้างรายได้ ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เห็นพ้อง!! วัคซีนโควิด-19 ช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อ และกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศให้กลับมาฟื้นตัวเร็วขึ้น มั่นใจ!! ภาครัฐบริหารจัดการได้ดี และทุกคนต้องช่วยกัน 


 
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 3 กลายเป็นวัฏจักรที่สร้างความบอบช้ำและส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนอีกครั้ง โดยช่วงเวลาที่ผ่านมา ภาคธุรกิจอยู่ระหว่างการฟื้นฟูให้ธุรกิจกลับมาเข้มแข็งและกำลังดำเนินไปได้ด้วยดี แต่เมื่อการแพร่ระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้น ทำให้บางธุรกิจต้องหยุดชะงักลงไม่สามารถเดินต่อไปได้ และบางธุรกิจต้องหันกลับมาทบทวนแผนการฟื้นฟูใหม่เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด ขณะที่ลูกจ้างในองค์กรธุรกิจหลายรายต้องถูกเลิกจ้างหรือลดเงินเดือน ส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมกระทบในวงกว้าง สิ่งสำคัญคือ สถานการณ์เช่นนี้...ทำอย่างไรให้ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง มีอาชีพ มีรายได้ และคืนความมั่นคงในชีวิตกลับมาอีกครั้ง เบื้องต้น ‘โมเดลธุรกิจแฟรนไชส์’ ยังคงเป็นทางเลือกหลักที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้านำมาใช้ในการ ‘สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้’ เนื่องจากเป็นโมเดลธุรกิจสำเร็จรูปสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยประกอบธุรกิจสามารถนำไปประกอบธุรกิจได้ทันที โดยมีเจ้าของแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซอร์) คอยเป็นพี่เลี้ยงที่ปรึกษาในการติวเข้มการประกอบธุรกิจให้ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงสำหรับผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ไปประกอบเป็นอาชีพ และที่สำคัญ คือ มีขนาดเงินลงทุนที่หลากหลายให้เลือก ตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักล้าน ทำให้ผู้ที่มีเงินไม่มากก็สามารถเลือกลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการได้ไม่ยาก” 

อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า “กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงเตรียมจัดงาน ‘แฟรนไชส์สร้างอาชีพ’ ขึ้นทั่วประเทศ ภายหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการระดมความคิดเห็นจากผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์หลากหลายแบรนด์และประเภทธุรกิจภายใต้สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ รวมทั้ง สถาบันการเงินที่จะร่วมออกคูหาให้คำปรึกษาด้านการเงิน/การลงทุน และผู้บริหารเว็บไซต์ ThaifranchiseCenter ถึงรูปแบบ สถานที่การจัดงาน ค่าธรรมเนียมอัตราพิเศษในการซื้อแฟรนไชส์ และสิทธิพิเศษอื่นๆ เพื่อร่วมด้วยช่วยกันเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ช่วยเหลือผู้ที่ตกงานหรือกำลังมองหาอาชีพให้กลับมามีงานทำหรือเป็นเจ้าของกิจการ ตลอดจน ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง”  

“ทั้งนี้ ระหว่างการระดมความคิดเห็น ภาคธุรกิจได้พูดถึงความสำคัญและแสดงความเชื่อมั่นต่อการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า ‘วัคซีน’ จะเป็นตัวแปรและตัวช่วยสำคัญที่จะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อลง และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาฟื้นตัวเร็วขึ้น โดยภาครัฐกำลังเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชนทั่วประเทศให้ได้มากที่สุดตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป คาดว่าหลังจากนี้ประมาณ 2-3 เดือนก็จะสามารถจัดโรดโชว์ ‘แฟรนไชส์สร้างอาชีพ’ ได้ทั่วประเทศ แต่ก็ยังคงต้องรักษาระยะห่างทางสังคมไว้ และตั้งการ์ดให้สูงเพื่อไม่ให้โรคโควิด-19 กลับมาระบาดซ้ำอีก ดังนั้น การฉีดวัคซีนจึงเป็นความหวังของภาคธุรกิจที่จะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ และมั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนได้เป็นอย่างดี” 

 “ทั้งนี้ จากปัญหาการถูกเลิกจ้างและมีผู้ว่างงานเกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กรมฯ จึงขอเชิญชวนผู้ที่กำลังประสบปัญหาดังกล่าวหรือผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการ ให้พิจารณาธุรกิจแฟรนไชส์เป็นทางเลือกในการนำไปประกอบเป็นอาชีพเพื่อหารายได้ โดยสามารถดูรายละเอียดและข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์ได้ที่ เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th และเว็บไซต์ franchise.dbd.go.th รวมถึง เว็บไซต์หน่วยงานพันธมิตร Thaifranchisecenter.com”  

“เบื้องต้น กรมฯ ได้กำหนดจัดงาน ‘แฟรนไชส์สร้างอาชีพ’ ทั้งหมด 16 ครั้ง แบ่งเป็นส่วนกลาง 1 ครั้ง และส่วนภูมิภาค 15 ครั้ง โดยจะมีการนำธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีขนาดการลงทุนตั้งแต่ระดับเล็กถึงระดับกลางไปให้ประชาชนได้เลือกลงทุนทำอาชีพ โดยจะเน้นที่ความหลากหลายของประเภทธุรกิจ ผู้ที่เข้าร่วมงานจะสามารถเลือกประเภทธุรกิจที่ตนเองสนใจและตรงตามความต้องการจริงๆ นอกจากนี้ ภายในงานจะมีการให้ความรู้ในการเลือกซื้อแฟรนไชส์ที่ตรงใจ จากผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจแฟรนไชส์โดยเฉพาะ ทำให้ประชาชนที่กำลังจะตัดสินใจเลือกซื้อแฟรนไชส์ มีความเข้าใจถึงธุรกิจอย่างถ่องแท้ และพร้อมที่จะลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ด้วยความเชื่อมั่น” 

“ธุรกิจแฟรนไชส์ถือเป็นกลุ่มธุรกิจสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย และเป็นธุรกิจที่ช่วยแก้ไขวิกฤตการว่างงานของผู้ถูกเลิกจ้างหรือต้องการมีกิจการเป็นของตนเองได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เข้าถึงและครอบคลุมทุกระดับ เริ่มตั้งแต่ 1) แฟรนไชส์ขนาดเล็กที่พบได้ในลักษณะหน้าร้าน (Kiosk) หรือ Mobile Unit : Food Truck ตามแหล่งชุมชน 2) แฟรนไชส์ขนาดกลางที่แพร่หลายตามศูนย์การค้าและสถานีบริการน้ำมัน และ 3) แฟรนไชส์ขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนห้างสรรพสินค้า หรือจัดตั้งเป็นร้านค้าเฉพาะขนาดใหญ่ (Stand Alone) จนกระทั่งถึงแฟรนไชส์กลุ่มที่มีความแข็งแกร่งจนสามารถขยายสู่ตลาดต่างประเทศได้” อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย 

ปัจจุบัน ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 2.5 แสนล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.7 ของ GDP ทั้งประเทศ ทั้งนี้ จากข้อมูลของเว็บไซต์ Thaismecenter.com คาดว่าปี 2564 ธุรกิจแฟรนไชส์จะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 3 แสนล้านบาท และมีจำนวนสาขาธุรกิจแฟรนไชส์เพิ่มขึ้นประมาณ 5,000 สาขา โดยส่วนใหญ่จะเป็นแฟรนไชส์ขนาดเล็ก ใช้เงินลงทุนจำนวนไม่มาก ประเภทธุรกิจที่ได้รับความสนใจ คือ ธุรกิจประเภทอาหาร เครื่องดื่ม ขนมทานเล่น โดยจะมีการเปิดร้านในทำเลใกล้แหล่งชุมชนทั่วไปและตลาดนัด นอกจากนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ใช้เงินลงทุน 3 แสน - 5 ล้านบาท ก็ยังจะได้รับความนิยมเช่นเดียวกันสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการ เนื่องจากเป็นแฟรนไชส์ที่บริษัทแม่ให้การสนับสนุนเรื่องการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง จึงมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง สร้างความมั่นคงได้เป็นอย่างดี 
 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์ ได้ที่ ส่วนส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทรศัพท์ 0 2547 5953 อีเมล : franchisedbd@gmail.com และ www.dbd.go.th  

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 พ.ค. 2564 เวลา : 10:54:05
18-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 18, 2025, 11:49 am