การตลาด
สกู๊ป ''เซ่น'' พิษระบาดโควิด-19 ปิดตำนาน 54 ปี ''โคคาสุกี้ สาขาสยามสแควร์''


ปิดตำนานไปเรียบร้อย สำหรับร้านโคคาสุกี้ สาขาสยามสแควร์ หลังเปิดให้มานาน 54 ปี หลังจากเจอพิษเศรษฐกิจรุมเร้า  ประกอบกับการแข่งขันในธุรกิจอาหารนับวันยิ่งมีความรุนแรง  ยิ่งปัจจุบันมีปัจจัยลบในด้านของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกิดขึ้น  และยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงเมื่อใด เลยทำให้บริษัท โคคา โฮลดิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตัดสินใจที่จะปิดให้บริการร้านโคคาสุกี้ สาขาสยามสแควร์

อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ ร้านโคคาสุกี้ สาขาสยามสแควร์ ต้องปิดตัวลง คือ สาขาสยามสแควร์ บริเวณสยามสแควร์ ซอย 7 ถนนอังรีดูนังต์ แขวงและเขตปทุมวัน กรุงเทพฯ จะหมดสัญญาเช่าพื้นที่กับสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต้องการย่อขนาดของร้านให้เล็กลง โดยเตรียมที่จะเปิดร้านโคคาในรูปแบบป๊อบอัพ ขนาด 30 ที่นั่ง จำหน่ายเมนูอาหารจานเดียวและเมนูสุกี้ในราคาที่ถูกกว่า เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งกำลังหาพื้นที่ย่านสยามอยู่  จึงทำให้ตัดสินใจปิดสาขาดังกล่าว
 
โดยเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมาเฟซบุ๊ก COCA Restaurant ของร้านโคคาสุกี้ โพสต์ข้อความระบุว่า #ตำแหน่งอยู่ไม่นาน ตำนานอยู่ตลอดไป สาขาสยามสแควร์ เปิดให้บริการวันสุดท้ายในวันที่ 18 พ.ค. 2564 นี้ แต่สาขาอื่นยังให้บริการตามปกตินะคะ โคคาและพนักงานทุกคนขอขอบคุณลูกค้าตลอดระยะเวลา 54 ปี ที่อยู่เคียงข้างโคคามาตลอด หลายคนมีความทรงจำที่ดีกับที่แห่งนี้มาก โคคาอยากเชิญลูกค้าทุกท่านในโอกาสสุดท้ายที่ได้ถ่ายรูปกับความทรงจำดีๆที่สาขานี้  #เราเคยจีบกันที่โคคา
 
 
จากการปิดให้บริการของร้านโคคาสุกี้ สาขาสยามสแควร์ สร้างความฮือฮาในโลกออนไลน์ และวงการร้านอาหารพอสมควร  เนื่องจากโคคาสุกี้ถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในวงการธุรกิจร้านอาหาร  และสาขาสยามสแควร์ก็ถือเป็นสาขาที่เปิดให้บริการมาอย่างยาวนาน และเป็นที่รู้จักของกลุ่มวัยทำงาน และเด็กนักเรียนและนักศึกษาในย่านนั้น
 
ย้อนกลับไปดูประวัติของร้านโคคาสุกี้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2500 โดยนายศรีชัย และนางปัทมา พันธุ์เพ็ญโสภณ เริ่มต้นจากห้องอาหารจีนกวางตุ้งขนาด 20 ที่นั่ง ที่ถนนเดโช แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ ก่อนจะย้ายมาที่ ภัตตาคารโคคา ขนาด 800 ที่นั่ง ในซอยทานตะวัน แถวถนนสุรวงศ์ โดยเป็นภัตตาคารแห่งแรกที่นำการปรุงอาหารแบบสุกี้ เข้ามาเผยแพร่และสร้างชื่อเสียงในประเทศไทย โดยที่ลูกค้าสามารถเลือกวัตถุดิบในการปรุงสุกี้ได้หลากหลายชนิดตามใจชอบ เช่น เนื้อสัตว์ อาหารทะเล และผักสดต่างๆ ที่สามารถแยกเป็นจานเล็กๆ ตามต้องการแทนการจัดจานและเสิร์ฟรวมมาเป็นชุดใหญ่ๆ ในแบบดั้งเดิม
 
 
ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 นายพิทยา พันธุ์เพ็ญโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโคคา โฮลดิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด  ทายาทรุ่นที่สองของโคคาเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว ก่อนจะจดทะเบียนเป็นบริษัท โคคา โฮลดิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และขยายสาขาไปยังสุขุมวิท 39 ไทม์สแควร์ เซ็นทรัลเวิลด์ พหลโยธิน สยามเซ็นเตอร์ และสาขาชายหาดพัทยา รวมทั้งยังขยายไปสู่สาขาต่างประเทศในปี พ.ศ. 2530 ได้แก่ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไต้หวัน ลาว พม่า เกาหลีใต้ และจีน
 
ปัจจุบัน บริษัท โคคา โฮลดิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้มีการขยายธุรกิจให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น  โดยแต่ละธุรกิจที่เปิดตัวขึ้นมาใหม่ยังคงเป็นธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มของธุรกิจร้านอาหาร เช่น ร้านเบเกอรี่ครัวซองด์เฮ้าส์ (Kroissant House), ร้านอาหารไทยแม็งโกทรี (Mango Tree), ห้องอาหารญี่ปุ่นโบตันเต (Bo Tan Tei) และร้านอาหารญี่ปุ่นนิคา-อิ (Nika-i) 
 
นอกจากนี้  ยังมีการขยายธุรกิจเข้าไปสู่โรงงานสำหรับแปรรูปผลิตภัณฑ์แช่แข็งและบรรจุหีบห่อ พร้อมจัดส่งไปยังร้านอาหารทุกสาขาในเครือ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งก็ได้ผลการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย  เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์แช่แข็งและบรรจุหีบห่อกำลังได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่  เนื่องจากมีความสะดวกสบาย  เหมาะกับชีวิตที่เร่งรีบในปัจจุบัน
 
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะปิดสาขาสยามสแควร์ไป แต่โคคาสุกี้ ก็ยังมีสาขาอื่นๆ ให้บริการอีก 6 สาขา ได้แก่ สาขาสุรวงศ์ สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ สาขาสุขุมวิท 39 สาขาเมกาบางนา สาขากรุงเทพกรีฑา และ สาขาหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ยังเปิดให้บริการตามปกติ
 
 
น.ส.นัฐธารี พันธุ์เพ็ญโสภณ  ประธานเจ้าหน้าที่ บริหารฝ่ายปฏิบัติการ  บริษัท โคคา โฮลดิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า หลังจากเจอผลกระทบโควิด-19 ทำให้บริษัทต้องหันมาปรับ Business Model ว่าควรย่อขนาดภัตตาคารใหญ่ๆ ลงมา  โดยเฉพาะสาขาที่มีจำนวนที่นั่งมากถึง 300-400 ที่นั่งไม่ควรทำอย่างมากในตอนนี้ เพราะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน  ขณะเดียวกัน  ก็จะหันมาให้บริการเป็นเดลิเวอรี่มากขึ้น
 
 
นอกจากนี้ โคคา โฮลดิ้งฯ ยังมีการเปิดธุรกิจในรูปแบบโคคาป๊อปอัพ ที่หัวหินและที่กรุงเทพกรีฑา เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ง่ายขึ้น เช่นเดียวกับการเปิดตัว “น้ำจิ้มสุกี้” สูตรพิเศษ “เผ็ดร้อน” ที่บ่มจากพริก 30 ชนิด เข้ามาทำตลาด ซึ่งทำการคิดค้นสูตรโดย น.ส.นัฐธารี พันธุ์เพ็ญโสภณ  เนื่องจากเธอเรียนมาทางด้านโภชนาการและวิทยาศาสตร์การอาหาร (Food Science) จากมหาวิทยาลัย คิงส์คอลเลจลอนดอน (King’s College London) จึงคิดค้นสูตรที่มีซอสตัวเดียวจบ ไม่ต้องเติมพริกขี้หนู กระเทียม มะนาว ให้ยุ่งยาก
 
และเมื่อไม่นานมานี้ โคคา โฮลดิ้งฯ ยังได้มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรไทยโนนมาลัย บ้านโศกนาก ต.หินเหล็กไฟ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านนำร่องที่ได้รับอนุญาตปลูกกัญชาครัวเรือนละ 6 ต้น เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจะรับซื้อใบกัญชาจากเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรไทยโนนมาลัย ทั้ง 7 ครัวเรือน เพื่อนำไปเป็นส่วนประกอบอาหารจำหน่าย เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางและโอกาสการจำหน่าย ใบ ราก ลำต้นของกัญชา ส่วนที่เหลือจากช่อดอกที่ส่งให้ทางโรงพยาบาล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

LastUpdate 22/05/2564 12:56:07 โดย : Admin
07-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 7, 2024, 9:53 am