ธุรกิจขายปลีก-ส่ง สินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ โตไม่หยุด ปี ‘64 (ม.ค. - เม.ย.) เอกชนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้น 24.42% ขณะที่นักลงทุนต่างชาติไม่พลาดโอกาสทองหอบเงินเข้ามาลงทุนกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.49% อเมริกันนำโด่งเบอร์ 1 ...ปี ‘62 ผลกำไรรวมทั้งธุรกิจมากกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท ด้านธุรกิจขนาดเล็ก (S) มีกำไรสุทธิถึง 51.76% ของผลกำไรทั้งธุรกิจ
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า “ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 3 ทำให้ประชาชนมีความตื่นตัวเรื่องการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่มผู้สูงอายุ ปริมาณความต้องการสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์จึงเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้ง การเข้าถึงสินค้า ทางการแพทย์ที่ง่ายและสะดวกขึ้นทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ ทำให้ธุรกิจขายปลีก-ส่ง สินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์เป็นธุรกิจที่น่าจับตามองและมีโอกาสเติบโตได้ในระยะยาว”
“ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้วิเคราะห์ธุรกิจดาวเด่นเดือนเมษายน 2564 พบว่า ธุรกิจขายปลีก-ส่ง สินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ มีอัตราการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 (มกราคม - เมษายน) มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจฯ ใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.42 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับปริมาณความต้องการยาและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน”
รมช.พณ. (นายสินิตย์ เลิศไกร) กล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2564) มีธุรกิจขายปลีก-ส่ง สินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ ที่ดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้นจำนวน 10,386 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.31 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินกิจการอยู่ และมีมูลค่าการลงทุน 82,286.84 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.42 ของเงินลงทุนทั้งหมดของกิจการที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ดำเนินการในรูปแบบบริษัทจำกัด จำนวน 8,360 ราย (ร้อยละ 80.49) มูลค่าเงินลงทุน 76,073.19 ล้านบาท ห้างหุ้นส่วนจำกัด จำนวน 2,017 ราย (ร้อยละ 19.42) มูลค่าเงินลงทุน 2,151.26 ล้านบาท และ บริษัทมหาชนจำกัด 9 ราย (ร้อยละ 0.09) มูลค่าเงินลงทุน 4,062.40 ล้านบาท”
“ธุรกิจฯ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 5,149 ราย (ร้อยละ 49.57) และมีทุนจดทะเบียน 54,871.22 ล้านบาท (ร้อยละ 66.69) และอันดับ 2 ตั้งอยู่ภาคกลาง จำนวน 2,215 ราย (ร้อยละ 21.68) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความต้องการสินค้าจำนวนมาก อีกทั้งเป็นศูนย์กลางการขนส่งคมนาคมที่มีความหลากหลายทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ ทำให้สามารถกระจายสินค้าได้เป็นอย่างดี”
“เมื่อพิจารณาจากผลกำไรของกลุ่มธุรกิจฯ ตั้งแต่ปี 2560 - 2562 พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ปี 2560 กำไรสุทธิ 17,114.45 ล้านบาท ปี 2561 กำไรสุทธิ 18,799.66 ล้านบาท ปี 2562 มีกำไรสุทธิ 19,141.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.82 (ปี 2563 อยู่ระหว่างการวิเคราะห์และประมวลผล) โดยธุรกิจขนาดเล็ก (S) มีกำไรถึง 9,907.66 ล้านบาท (ร้อยละ 51.76) ของกำไรจากทุกขนาดธุรกิจ ในขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ (L) มีกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับปี 2561 แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจขนาดเล็ก (S) และขนาดใหญ่ (L) ที่มีมากกว่าธุรกิจขนาดกลาง (M) ดังนั้น หากผู้ประกอบการขนาดกลางสามารถสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ มีการบริหารจัดการธุรกิจและค่าใช้จ่ายที่ดี เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า รวมทั้ง ขยายผลิตภัณฑ์ให้เข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ก็จะสามารถเพิ่มรายได้ และส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) ในตลาดขายปลีก-ส่ง สินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ได้เพิ่มมากขึ้น”
“อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่กำลังจะเข้าสู่ธุรกิจขายปลีก-ส่ง สินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ ควรคำนึงถึงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ เช่น การตั้งราคา การเปลี่ยนแปลงราคา รวมถึงการส่งออกยารักษาโรคและสินค้าทางเวชภัณฑ์ โดยต้องแจ้งล่วงหน้าตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีสินค้าที่อยู่ในรายการสินค้าและบริการควบคุม “หมวดยาและเวชภัณฑ์” คือ ยารักษาโรค เวชภัณฑ์เกี่ยวกับ การรักษาโรค หน้ากากอนามัย และผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรศึกษาหลักเกณฑ์และข้อกำหนดในการจำหน่ายสินค้าดังกล่าวด้วย เพื่อเป็นการดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้องและมีธรรมาภิบาล” รมช.พณ.กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวเด่น