นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานกลุ่มการค้าปลีกและบริการ หอการค้าไทย กล่าวถึงผลลัพธ์ของ 3 ภารกิจหลัก ที่เป็นผลการดำเนินการภายใต้นโยบาย Connect the Dots ฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใน 99 วันแรก ของนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทยที่ได้ประกาศไปเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564
นายญนน์กล่าวว่า “ความสำเร็จในครั้งนี้ ถือเป็นบทพิสูจน์ของพลังในการร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ และจริงใจที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ได้จริง โดยกลุ่มการค้าปลีกและบริการมีจุดมุ่งหมายหลัก 3 ประการ คือ
1.ช่วยยกระดับมาตรฐานของสาธารณสุขไทย สร้างระบบการกระจายและฉีดวัคซีนให้รวดเร็ว และทั่วถึง
2.ผลักดันให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุน (Soft Loan)ได้ทั่วถึงและรวดเร็ว เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องอย่างเร่งด่วน และเพื่อให้ SME ได้เงินทุนไปปรับปรุงและขยายธุรกิจ
3.กระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศผ่านโครงการ “ฮักไทย” รวมใจ ไทยไม่ทิ้งกัน รวมทั้ง Hug Thais สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อรองรับการเปิดเมืองและเปิดประเทศ
ภารกิจทั้ง 3 นี้ จะไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จได้ด้วยหน่วยงานหรือบริษัทใด บริษัทหนึ่งเท่านั้น กลุ่มการค้าปลีกและบริการจึงเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการจัดทำแซนด์บ๊อกซ์ เพื่อเป็นต้นแบบและมีการปรับปรุงจนสมบูรณ์ในทุกภารกิจ เพื่อนำไปขยายผลต่อไปให้กับหน่วยงานอื่นๆ สำหรับภารกิจแรก การสร้างระบบการกระจายและฉีดวัคซีนให้รวดเร็วที่มีประสิทธิภาพ (Total Solutions) อีกทั้งยังยกระดับมาตรฐานความสะอาดและสุขอนามัย และปฎิบัติตามกฎของรัฐอย่างเคร่งครัด เป็นการสนับสนุนภาครัฐเพื่อช่วยแก้ปัญหาสาธารณสุข กลุ่มการค้าปลีกและบริการยังเป็นผู้นำในเรื่องของการแก้ไขปัญหาของ SME ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน Soft Loan นอกจากนี้ ยังนำเสนอโครงการ “ฮักไทย” ที่เป็นการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการของคนไทย ในการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทย ความสำเร็จทั้งหมดนี้ เกิดจากการลงมือทำอย่างทันที และเป็นการรวมพลังของทุกหน่วยงานซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นและเสร็จสิ้นเร็วกว่าที่กำหนดไว้”
โดยความสำเร็จทั้ง 3 ภารกิจของกลุ่มการค้าปลีกและบริการ มีดังนี้
1.ช่วยยกระดับมาตรฐานของสาธารณสุขไทย สร้างระบบการกระจายและฉีดวัคซีนให้รวดเร็ว และทั่วถึง โดยกลุ่มการค้าปลีกและบริการเป็นผู้ริเริ่มในการสร้างระบบการจัดการและกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและครบวงจร (Total Solutions) ประกอบด้วย ระบบการปฎิบัติการ และการสื่อสาร รวมถึงจัดหาพื้นที่ รวมทั่วประเทศ 382 แห่ง และในวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ได้เข้าไปเรียนหารือกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ข้อมูลในการจัดเตรียมสถานที่ของภาคเอกชนและเพื่อพิจารณาสนับสนุนข้อเสนอของภาคเอกชนในการทำงานร่วมกับภาครัฐ โดยแบ่งเป็นกรุงเทพฯ 82 แห่งและต่างจังหวัด 300 แห่ง ซึ่งรองรับการฉีดวัคซีนสูงสุด 500,000 คนต่อวัน โดยได้จัดทำแซนบ๊อกซ์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว และเอสซีจี ซึ่งถือเป็นต้นแบบพื้นที่ฉีดวัคซีนที่จะขยายผลต่อไปยังจุดฉีดวัคซีนอื่นๆ ทั้งของภาคเอกชนอีกหลายแห่ง และจุดฉีดวัคซีนของกระทรวงแรงงานในระบบประกันสังคมอีก 67 แห่งทั่วประเทศ
ภาพที่ 1: พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ ตรวจเยี่ยมจุดฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลแห่งแรก ที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564
ภาพที่ 2: กลุ่มการค้าปลีกและบริการนำเสนอพื้นที่ฉีดวัคซีนพร้อมระบบจัดการที่มีประสิทธิภาพและ ครบวงจร รวมทั่วประเทศ 382 แห่ง ให้แก่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2564
2.ผลักดันให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุน (Soft Loan) ได้จริง ทั่วถึงและรวดเร็ว เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องอย่างเร่งด่วน และเพื่อให้ SME ได้เงินทุนไปปรับปรุงและขยายธุรกิจ กลุ่มค้าปลีกและบริการเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก เพราะมี SME ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อยู่ในระบบถึง 2.4 ล้านราย และสร้างการจ้างงานมากกว่า 12 ล้านคน คิดเป็น 34% ของ GDP การบริโภคทั้งประเทศ ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือกับ SME กลุ่มนี้จึงเป็นเรื่องเร่งด่วน เราจึงเป็นศูนย์กลางในการเชื่อม SME ในระบบค้าปลีกกับธนาคาร ด้วยการผนึกกำลังสร้าง Digital Factoring Platform โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทยเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลให้กับธนาคารพาณิชย์ทั้งของภาครัฐ และเอกชน ผ่านสมาคมธนาคารไทยในการพิจารณาสินเชื่อให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว เป็นการแก้ไขปัญหาในการที่ SME โดยเฉพาะรายเล็กไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ โดยมีเป้าหมายที่จะปล่อยสินเชื่อ Soft Loan ให้แก่ SME ทั่วประเทศกว่า 500,000 ราย ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งต้นแบบแซนด์บ็อกซ์นี้ เป็นการตอบรับนโยบาย “โครงการพี่ช่วยน้อง” ของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และทางหอการค้าไทยได้เข้าพบและเรียนปรึกษารายละเอียดของโครงการนี้ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 และได้ขยายแซนด์บ๊อกซ์ต้นแบบไปยังสมาชิกของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และเครือข่ายหอการค้าไทย
นอกจากนี้ กลุ่มการค้าปลีกและบริการยังคงเร่งผลักดันพัฒนาศักยภาพของ SME ไทยให้แข็งแรงในเรื่อง upskill/ reskill รวมทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการดำเนินธุรกิจและการค้าที่เป็นธรรมเพื่อเป็นแต้มต่อให้ SME สามารถฟื้นฟูและขยายธุรกิจต่อไปได้
ภาพที่ 3: กลุ่มการค้าปลีกและบริการ เข้าพบและร่วมหารือรายละเอียดของการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศด้วยการสร้าง Platform ให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564
3.กระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศผ่านโครงการ “ฮักไทย” รวมใจ ไทยไม่ทิ้งกัน รวมทั้ง Hug Thais สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อรองรับการเปิดเมืองและเปิดประเทศ โดยมุ่งให้เกิดการพลิกฟื้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวและใช้จ่ายซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของไทย โครงการ “ฮักไทย” จะช่วยฟื้นฟูการบริโภคภายในประเทศ (Local Consumption) ผ่านการกิน-เที่ยว-ใช้ แบบไทยๆ อุดหนุนสินค้าไทย โดยผู้ประกอบการคนไทย
ภาพที่ 4: โครงการ "ฮักไทย" กระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ผ่าน ฮักกิน ฮักเทียว ฮักใช้
นายญนน์ กล่าวเพิ่มเติมถึงที่มาของโครงการว่า “โครงการ “ฮักไทย” เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดที่จะส่งต่อความห่วงใย และกำลังใจให้กับคนไทยทุกคน ภายใต้ความหมายของคำว่า “ฮัก” ในภาษาไทยที่มีความหมายว่า “รัก” และพ้องเสียงกับคำภาษาอังกฤษที่มีความหมายว่า “กอด” (Hug) ซึ่งเป็นการส่งต่อกำลังใจและโอบกอดคนไทยด้วยความรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่คนไทยทุกคนต้องการกำลังใจเพื่อผ่านพ้นความท้าทายนี้ไปได้ด้วยกัน” และในวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ได้รับเกียรติจาก นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มาเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือเปิดตัวโครงการ “ฮักไทย” ระหว่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย โดย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทย เพื่อเป็นการผลักดันโครงการ “ฮักไทย” ให้เข้าถึงทุกจังหวัด พร้อมสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยทั่วประเทศ ทั้งนี้ ได้สร้างต้นแบบแซนด์บ็อกซ์ครอบคลุมทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ และออมนิชาแนล (Omnichannel) กับกลุ่มเซ็นทรัล และกำลังขยายผลไปยังกลุ่มบริษัทค้าปลีกอื่นๆ ทั่วประเทศ
ตามแผนงานเตรียมเปิดเมืองภูเก็ตในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ จะมีการเปิดตัวโครงการ “ฮักไทย ฮักภูเก็ต” (Hug Thais Hug Phuket) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งคาดว่ารายได้ที่จะมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มแรก จะมีกว่า 12,000 ล้านบาทภายใน 3 เดือน โดยทางหอการค้าไทยได้รับการสนับสนุนโครงการเป็นอย่างดีจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต ซึ่งจะมีการขยายผล “ฮักไทย ฮักภูเก็ต” ไปยังจังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ อีกต่อไปเพื่อเป็นการเปิดเมืองเปิดประเทศและเป็นการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ โดยที่จะมีการทำงานประสานร่วมกับสมาคมต่างๆ อาทิ อาทิ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว สมาคมโรงแรมไทย สมาคมภัตตาคารไทย และสมาคมสายการบินแห่งประเทศไทย เป็นต้น
ภาพที่ 5: สินค้า “ฮักไทย” วางจัดจำหน่ายในตลาดจริงใจ Farmers’ Market ทั้ง 23 สาขา รวมทั้งบนonline platform ของเซ็นทรัล รีเทล
“ภารกิจสำคัญทั้ง 3 เรื่องนี้ป็นบทพิสูจน์ของความร่วมมือร่วมใจในการขับเคลื่อนและร่วมกันแก้ปัญหาเพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานของสาธารณสุขไทย พร้อมสร้างระบบการกระจายและฉีดวัคซีนให้รวดเร็ว และทั่วถึง รวมทั้งการฟื้นฟู SME ไทยให้มีแต้มต่อและเสริมสภาพคล่องโดยมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อ SME ไทยต้องรอด พร้อมเร่งกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ (Local Consumption) ทั้งของชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ผ่านโครงการ “ฮักไทย” เพื่อเป็นการส่งเสริมและยกระดับสินค้าแบรนด์ของคนไทย รวมถึงโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ที่จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยมากกว่า 2.7 แสนล้านบาท ภายใน 6 เดือน คิดเป็น 1.6% ของ GDP ทั้งประเทศ และจะสามารถพยุงการจ้างงานกลับคืนมากว่า 2 ล้านคน เราทุกคนมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ประเทศไทยกลับมาเดินหน้าอย่างเต็มกำลังได้อีกครั้ง พาคนไทยทุกคนก้าวผ่านความท้าทายนี้ไปให้ได้ และพร้อมที่ก้าวต่อไปเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน” นายญนน์กล่าวทิ้งท้าย
ภาพที่ 6: สรุปความสำเร็จ 3 ภารกิจหลักของกลุ่มการค้าปลีกและบริการ หอการค้าไทย
ข่าวเด่น