ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ค้าปลีกไทยยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะตั้งแต่เดือนเม.ย. ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้บรรดาห้างร้านภายในห้างค้าปลีกยังไม่สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติ เช่นเดียวกับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่ยังคงมีการระมัดระวัง เนื่องจากบางคนมีรายได้หายไป
จากการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกไทยในทุกภาคส่วนของธุรกิจค้าปลีกทั้งค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ซึ่งได้จัดทำเป็นประจำทุกเดือน โดยครั้งนี้ได้จัดทำเป็นครั้งที่ 5 ของปี 2564 เป็นการสำรวจผ่านช่องทางออนไลน์ระหว่างวันที่ 17-25 พ.ค. 2564 มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามประกอบด้วย ร้านค้าปลีก และสินค้าหลากหลายประเภททั่วประเทศ ได้ข้อสรุปว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในเดือน พ.ค.ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนเม.ย. เนื่องจากผู้ประกอบการยังขาดความเชื่อมั่นปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีข้อสรุปดังนี้
1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกรวม (Retail Sentiment Index) เดือนพ.ค. ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากเดือนเม.ย.และยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 มาก สอดคล้องกับภาวะการค้าปลีกที่แย่ลงตามการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 3 ที่รุนแรงขึ้น สะท้อนถึงความกังวลต่อแผนการกระจายวัคซีนและมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อที่ภาครัฐประกาศที่จะอัดฉีดเพิ่มเติมที่ยังไม่ชัดเจน
2. ดัชนีความเชื่อมั่นรวมในอีก 3 เดือนข้างหน้า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 3 เดือนพ.ค. 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 2 เดือนม.ค. 2564 ปรากฏว่าดัชนีเดือนพ.ค. 2564 ลดต่ำกว่า ในเดือนม.ค. 2564 สะท้อนถึงความไม่มั่นใจถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้วยข้อกังวลถึงความยืดเยื้อของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกนี้ อาจจะยาวนานกว่าระลอก 2 มาก
3. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อการเติบโตยอดขายสาขาเดิม เดือนพ.ค. Same Store Sale Growth (SSSG) มีทิศทางที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากข้อมูลยอดขายสาขาเดิมเดือนพ.ค. ลดลงมากกว่า 30-50% เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.และเดือนมี.ค. ตามลำดับ ซึ่งเป็นการลดลงทั้งยอดซื้อต่อบิล (Spending per Bill or Basket Size) และความถี่ในการจับจ่าย (Frequency of Shopping) ผู้ประกอบการกังวลถึงกำลังซื้อที่ลดลงและยังไม่ฟื้นตัวดี รวมถึงมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการไปจับจ่ายที่ร้านค้า
4. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายเดิมเมื่อจำแนกตามรายภูมิภาค ปรากฏว่าปรับลดลงต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 ในทุกภูมิภาค สะท้อนถึงแนวโน้มความต้องการในการใช้จ่ายลดลง โดยเฉพาะภูมิภาคกรุงเทพปริมณฑล ภาคเหนือ และภาคใต้ ที่ลดลงอย่างชัดเจน
5. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการจำแนกตามประเภทร้านค้าปลีก เปรียบเทียบระหว่างเดือนพ.ค.และเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ลดลงอย่างชัดเจนและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 ในทุกประเภทร้านค้าปลีก โดยเฉพาะลดลงอย่างชัดเจนในร้านค้าประเภทสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้า
6. สำหรับร้านค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์ท ดัชนีความเชื่อมั่นดีขึ้นเล็กน้อย สะท้อนถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ผู้บริโภคมีความกังวลที่จะยืดเยื้อ ส่งผลให้พฤติกรรมการซื้อเป็นแบบกักตุนสินค้ามากขึ้น และมุ่งใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น ทำให้มูลค่าการซื้อต่อครั้ง Per Spending หรือ Per Basket เพิ่มขึ้น แต่ความถี่ในการจับจ่ายกลับลดลง
7. สำหรับร้านค้าปลีกประเภทวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง และซ่อมบำรุง น่าจะเป็นร้านค้าประเภทเดียวที่ดัชนีความเชื่อมั่นสูงกว่าระดับค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 ต่อเนื่อง ทั้งนี้จากราคาเหล็กที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้นและมีข่าวว่าภาครัฐจะมีมาตรการมาควบคุม ทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างอื่นที่กำลังปรับราคาตามราคาเหล็กที่สูงขึ้นต้องสะดุด อย่างไรก็ตาม ร้านค้าประเภทวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง ซ่อมบำรุง ยังคงได้รับแรงหนุนจากวิถี New Normal ทำงานที่บ้าน WFH อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นพิเศษเกี่ยวกับ การประเมินผลกระทบต่อยอดขายและกำลังซื้อ การจ้างงานและสภาพคล่องต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ จากมุมมองผู้ประกอบการ ได้แก่
1. ผู้ประกอบการกว่า 29% ระบุว่า ยอดการจับจ่ายและการใช้บริการ (Traffic) ลดลงมากกว่า 25 % การบริหารจัดการต้องปรับลดการจ้างงาน หรือปรับลดชั่วโมงการทำงานรวมถึงลดค่าธรรมเนียมการขาย เพื่อพยุงธุรกิจให้อยู่รอด
2. ผู้ประกอบการ 41% ระบุว่า มีการลดการจ้างงานมากกว่า 25% แล้ว ส่วนอีก 38% บอกว่า จะพยายามคงสภาวะการจ้างงานเดิมแต่คงไม่ได้นาน
3. ผู้ประกอบการ 39% ระบุว่า มีสภาพคล่องเงินทุนหมุนเวียนบริหารจัดการได้ไม่เกิน 6 เดือน ในจำนวนนี้ประมาณ 8% บอกว่า มีสภาพคล่องเหลือเพียงแค่ 1-3 เดือน
4. มาตรการกระตุ้นการจับจ่าย “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ผู้ประกอบการ 56% คาดหมายว่า อาจจะช่วยให้ยอดขายเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการ 38% คาดหมายว่า ยอดขายคงเดิมเพราะกลไกการใช้จ่ายซับซ้อน ไม่เอื้ออำนวยให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ที่นิยมจับจ่ายด้วยเครดิตการ์ดได้ใช้เพิ่มเติมจาก G-Wallet
นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทางสมาคมฯ อยากให้ภาครัฐเร่งรัดแผนกระจายการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นในการจับจ่ายผู้บริโภค พร้อมกับเร่งรัดมาตรการเยียวยาช่วยจ่ายค่าแรงพนักงาน 50% แก่ร้านค้าที่ได้รับผลกระทบจากการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 พร้อมกับเร่งรัดธนาคารพาณิชย์ประสานงานกับห้างค้าปลีกพิจารณาสินเชื่อ Soft Loan แก่คู่ค้า-ซัพพลายเออร์ระดับ Micro SME ตามโมเดล Sand Box สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และปรับแต่งกลไกเอื้อให้ผู้ที่ลงทะเบียนใช้สิทธิ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ให้สามารถใช้เครดิตการ์ดในการจับจ่ายเพิ่มเติมจาก G-Wallet เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มนี้นิยมจับจ่ายสินค้าด้วยเครดิตการ์ดมากกว่าเงินสด
ข่าวเด่น