หลังจากที่สมาคมภัตตาคารไทย ได้เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมร้านอาหาร เนื่องจากปัจจุบันยอดขายของธุรกิจร้านอาหารหายไปจำนวนมาก เพราะลูกค้าส่วนใหญ่นิยมนั่งรับประทานในร้านมากกว่าซื้อกลับบ้าน ล่าสุด ศบค. ได้ออกมาประกาศมาตรการผ่อนคลายตามข้อเรียกร้อง แต่ยังคงไว้ซึ่งการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย. 2564 เป็นต้นไป
สำหรับมาตรการผ่อนคลายที่จะประกาศในครั้งนี้ ศบค. ยังคงมีการแบ่งตามระดับของพื้นทีของสถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร ดังนี้
1.พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ซึ่งปรับลดเหลือ 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ โดยตัดจังหวัดสมุทรสาคร ออกไปอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) โดยร้านอาหารในพื้นที่ควบคุมสูงสุดนี้ สามารถบริโภคในร้านได้ และเปิดให้บริการได้ไม่เกิน 23.00 น. ส่วนกรณีที่ร้านมีเครื่องปรับอากาศ ให้นั่งได้ไม่เกิน 50% ของพื้นที่ และห้ามจัดกิจกรรมที่มีคนมากกว่า 50 คน ส่วนศูนย์การค้าเปิดได้ตามปกติไม่เกิน 21.00 น. จำกัดจำนวนคนเข้าใช้บริการ แต่งดจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย
2.พื้นที่ควบคุม (สีแดง) 11 จังหวัด ได้แก่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตรัง นครปฐม ปัตตานี เพชรบุรี สงขลา สมุทรสาคร สระบุรี ยะลา และนราธิวาส สามารถบริโภคในร้านได้ และเปิดให้บริการได้ไม่เกิน 23.00 น. ห้ามจัดกิจกรรมมากกว่า 100 คน ศูนย์การค้าเปิดบริการได้ตามปกติ
3.พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 9 จังหวัด ได้แก่จันทบุรี นครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา ระนอง ระยอง ราชบุรี สระแก้ว สมทุรสงคราม สามารถจัดกิจกรรมที่มีคนมากกว่า 150 คนได้ บริโภคในร้านได้ เปิดได้ตามปกติ ศูนย์การค้าเปิดได้ตามปกติ ทั้งนี้ ใน 3 พื้นที่(1-3) ยังไม่สามารถให้นั่งดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้ และยังต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
4.พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) รวม 53 จังหวัด ร้านอาหารเปิดได้ตามปกติ ไม่ห้ามการจำหน่ายและบริโภคแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร แต่ยังห้ามจัดกิจกรรมที่มีคนมากกว่า 200 คน ศูนย์การค้าเปิดได้ตามปกติ สนามกีฬาเปิดได้ทุกประเภท แต่จะต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ราชการกำหนด
จากมาตรการดังกล่าว ผู้ประกอบารร้านอาหารก็น่าจะเริ่มหายใจได้สะดวกขึ้น เนื่องจากสามารถขายอาหารได้ถึงเวลา 23.00 น. ซึ่งสเต็ปถัดไปคงต้องมาลุ้นว่าภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร ตาม 7 ข้อเรียกร้องที่ทางสมาคมภัตตาคารไทย ได้มีการยื่นข้อเสนอเยียวยาไปเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะข้อเสนอดังกล่าวต้องมีผู้ที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องหลายด้านด้วยกัน ซึ่งในส่วนของข้อเรียกร้องจำนวน 7 ข้อ ที่ทางสมาคมภัตตาคารไทยยื่นต่อนายกรัฐมนตรีไปแล้ว มีดังนี้
1.จัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณามาตรการช่วยเหลือทางการเงินเป็นการเฉพาะเกี่ยวกับภัตตาคารและร้านอาหาร ประกอบด้วยคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งซาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และตัวแทนจากผู้ประกอบการร้านอาหาร เนื่องจากที่ผ่านมามาตรการทางการเงินมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสำหรับผู้ประกอบการภัตตาคารและร้านอาหารอย่างมาก เพราะมาตรการทางการเงินที่ออกมาเป็นการมองภาพรวมโดยใช้ฐานปัญหาของธุรกิจอื่น และธนาคารพาณิชย์มักจะไม่นำเสนอข้อมูลสินเชื่อตามมาตรการของรัฐให้กับผู้ประกอบการภัตตาคารและร้านอาหารทราบ และใช้เงื่อนไขของธุรกิจอื่นๆ มาเป็นเกณฑ์พิจารณา
2.ออกมาตรการให้เจ้าของห้างสรรพสินค้า และผู้ให้เช่าที่ตั้งร้านลดค่าเช่าอย่างน้อย 50% เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือน โดยให้เจ้าของที่ดินอาคาร บุคคลทั่วไป ที่ให้ร้านอาหารเช่า สามารถนำส่วนลดไปลดหย่อนภาษีในรอบบัญชีถัดไป เพื่อจูงใจให้เกิดการลดค่าเช่าตามมา โดยรัฐไม่ต้องจ่ายชดเชย
3.งดการจัดเก็บภาษีรอบระยะเวลาบัญชี 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา สำหรับธุรกิจร้านอาหาร
4.ยืดระยะเวลาในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มออกไป 6 เดือน
5.ขอให้รัฐบาลงดจัดเก็บภาษีโรงเรือนจากเจ้าของธุรกิจร้านอาหารเป็นเวลา 1 ปี
6. ลดค่าน้ำ ค่าไฟ 30% ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน
และ 7. ออกมาตรการจ่ายค่าแรงคนละครึ่ง โดยให้พนักงานสามารถเบิกส่วนอีกครึ่งจากประกันสังคมหรืออื่นๆ ได้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน
นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า เป็นระยะเวลามากกว่า 40 วันแล้ว ที่ธุรกิจร้านอาหารในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมถึงพื้นที่ควบคุมสูงสุดให้ความร่วมมือปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรการของ ศบค. เป็นอย่างดี แต่เนื่องจากผู้บริโภคไม่สามารถออกมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทำให้ที่ผ่านมาธุรกิจร้านอาหารจำนวน 50,000 ราย ต้องปิดกิจการไป เนื่องจากประสบปัญหากับภาวะขาดทุน ส่วนร้านอาหารที่ยังสามารถเปิดให้บริการได้ส่วนใหญ่ก็ล้วนแต่อยู่ในสภาพขาดทุน เพราะต้องแบกรับต้นทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนการผลิต ต้นทุนแรงงาน ต้นทุนค่าเช่า ต้นทุนค่าน้ำค่าไฟ หรือต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ ที่แต่ละรายต้องกู้มาเพื่อนำเงินมาหมุนเวียนกิจการ
ทั้งนี้ หากภาครัฐไม่ให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน นางฐนิวรรณ ระบุว่า อาจจะมีร้านอาหารจำนวน 50,000 รายต้องปิดกิจการเพิ่มขึ้นในอีก 2-6 เดือนนับจากนี้ ซึ่งหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวน่าจะส่งผลกระทบต่อเนื่องในส่วนของการเลิกจ้างงาน เนื่องจากห่วงโซ่ซัพพลายเชนหยุดลง เพราะปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารมีข้อจำกัดในการทำธุรกิจค่อนข้างมากไม่ว่าจะเป็นการถูกจำกัดจำนวนที่นั่งภายในร้าน การถูกจำกัดระยะเวลาให้บริการนั่งรับประทานในร้าน หรือการห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในร้าน
โดยนอกจากมาตรการผ่อนปรนแล้ว มาตรการเยียวยาก็เป็นอีกหนึ่งข้อเรียกร้องที่อยากให้ภาครัฐเร่งการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการมีค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบเยอะ ในขณะที่รายรับลดลง จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่อยากให้เร่งการพิจารณาช่วยเหลือ
ข่าวเด่น