การตลาด
สกู๊ป ผิดคาด! ''โฆษณาเดือน พ.ค.'' โตพุ่ง 30% สวนทางการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังทรงตัว


 

ถือเป็นข่าวดีของอุตสาหกรรมโฆษณาของไทยเลยก็ว่าได้ แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยในขณะนี้จะยังคงทรงๆ แต่ภาพรวมของอุตสาหกรรมโฆษณากลับปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น  เห็นได้จากเม็ดเงินโฆษณาในช่วงเดือนเม.ย. 2564 ที่ผ่านมา  ซึ่งเป็นช่วงของการเริ่มต้นแพร่ระบาดในระลอกที่ 3 ยังคงสามารถขยายตัวเติบโตได้ที่ 33% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 8,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่เม็ดเงินโฆษณามีมูลค่าเพียง 6,171 ล้านบาทเท่านั้น 

จากข้อมูลของ นีลเส็น ประเทศไทย ระบุว่า ตัวเลขในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 อุตสาหกรรมโฆษณาของไทยยังสามารถเติบโตได้ที่ 3% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 31,477 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่าเพียง  30,415  ล้านบาทเท่านั้น  แนวโน้มที่ดีดังกล่าวยังส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา  เห็นได้จากเม็ดเงินโฆษณาในช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 30%  หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 7,644 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่าเพียง 5,898 ล้านบาทเท่านั้น  เช่นเดียวกับช่วง 5 เดือนของปี 2564 ที่อุตสาหกรรมโฆษณามีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 8% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 39,119 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่าเพียง 36,343 ล้านบาทเท่านั้น 

สำหรับเม็ดเงินของสื่อที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุดในช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา คือ สื่อทีวี มีอัตราการเติบโตสูงถึง 37% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 5,370 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2563  ที่มีมูลค่า 3,930 ล้านบาท  เช่นเดียวกับสื่อในอาคาร ที่มีอัตราการเติบโตสูงถึง 37% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 56 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2563  ที่มีมูลค่า 41 ล้านบาท ส่วนสื่อที่มีอัตราการเติบโตรองลงมา คือ สื่อนอกอาคาร มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 12%  หรือมีมูลค่าอยู่ที่  503 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2563  ที่มีมูลค่า 451 ล้านบาท ตามด้วยสื่อเคลื่อนที่  มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 2% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 299 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2563  ที่มีมูลค่า 293 ล้านบาท และสื่อวิทยุ มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 1% หรือมีมีมูลค่าอยู่ที่ 280 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2563  ที่มีมูลค่า 277 ล้านบาท 

ส่วนสื่อที่ยังมีการขยายตัวติดลบต่อเนื่องในช่วงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา คือ สื่อเคเบิลทีวีและแซทเทลไลท์ทีวี  มีการขยายตัวติดลบที่ 28% หรือมีมูลค่าอยู่ที่  73 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 101 ล้านบาท ตามด้วยสื่อนิตยสาร มีการขยายตัวติดลบอยู่ที่  20% หรือมีมูลค่าอยู่ที่  44 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 55 ล้านบาท และสื่อหนังสือพิมพ์  มีการขยายตัวติดลบอยู่ที่ 10% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 186 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 206 ล้านบาท   

ทั้งนี้ ในส่วนสื่อโรงหนังในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมามีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณาอยู่ที่ 79 ล้านบาท ไม่สามารถนำมาเทียบกับปี 2563 ได้ เนื่องจากปีที่ผ่านมามีการปิดให้บริการไป  เพราะสถานการณ์โควิด-19  เช่นเดียวสื่อโฆษณาดิจิทัลที่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมามีมูลค่าการใช้เม็ดเงินผ่านสื่ออยู่ที่  753 ล้านบาท ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับปี 2563 ได้ เนื่องจากมีการปรับรูปแบบการเก็บข้อมูล   

สำหรับสื่อที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาเติบโตมากที่สุดในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564  คือ  สื่อโรงหนัง  มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 17% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 1,660 ล้านบาท  เพิ่มขึ้นจากช่วงดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 1,422 ล้านบาท ตามด้วยสื่อทีวี  มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 9%  หรือมีมูลค่า  26,322 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า  24,098 ล้านบาท   สื่อนอกอาคาร มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 2% หรือมีมูลค่า  2,618 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 2,565 ล้านบาท และสื่อในอาคาร มีอัตราการเติบโต 1% หรือมีมูลค่า 286 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 283 ล้านบาท

ส่วนสื่อที่ยังมีการขยายตัวติดลบอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา คือ สื่อเคเบิลทีวีและแซทเทลไลท์ทีวี  ขยายตัวติดลบที่ 31% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 460 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 663 ล้านบาท ตามด้วยสื่อเคลื่อนที่ มีการขยายตัวติดลบ 25% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 1,556 ล้านบาท  ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 2,075ล้านบาท  สื่อนิตยสาร ขยายตัวติดลบอยู่ที่ 21% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 253 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 322 ล้านบาท สื่อวิทยุ มีการขยายตัวติดลบอยู่ที่ 1,298 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 1,499 ล้านบาท สื่อหนังสือพิมพ์ มีการขยายตัวติดลบ 12% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 1,002 ล้านบาท  ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 1,145 ล้านบาท ส่วนสื่อโฆษณาดิจิทัล มีมูลค่าอยู่ที่ 3,662 ล้านบาท ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับปี 2563 ได้ เนื่องจากมีการปรับรูปแบบการเก็บข้อมูล           

อย่างไรก็ดี ในส่วนของบริษัทที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในช่วงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา 3 ลำดับแรก  ได้แก่  1. บริษัท ยูนิลีเวอร์ (ไทย)โฮลดิ้งส์ จำกัด มีการใช้เม็ดเงินโฆษณา คิดเป็นมูลค่า 2,168 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่ประมาณ 33% โดยแคมเปญที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา คือ คอมฟอร์ท อัลตร้าแคร์ ปกป้องสีและใยผ้าจากการซัก มีการใช้เม็ดเงินทางสื่อทีวี คิดเป็นมูลค่า 48 ล้านบาท ตามด้วย คนอร์ สูตรใหม่ หอมกลิ่นหมูเพิ่มขึ้น มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณาทางสื่อทีวี  คิดเป็นมูลค่า 25 ล้านบาท 

อันดับ 2 เป็นของบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด มีการใช้เม็ดเงินโฆษณา คิดเป็นมูลค่า 1,355 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่ประมาณ 73% โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนพ.ค. คือ ไมโล ประโยชน์เต็มแก้ว มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาทางสื่อทีวี คิดเป็นมูลค่า 24 ล้านบาท ตามด้วย เนสกาแฟ ทริปเปิ้ล เอสเปรสโซ่ อร่อยเข้มคูณสาม มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาทางสื่อทีวี  คิดเป็นมูลค่า 22 ล้านบาท 

ส่วนอันดับ 3 เป็นของบริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (ประเทศไทย) จำกัด มีการใช้เม็ดเงินโฆษณา คิดเป็นมูลค่า 1,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่ประมาณ 27%  โดยแคมเปญที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนพ.ค. คือ รีจอยส์ ผมนุ่มสลวย พร้อมกลิ่นหอมติดผมยาวนาน มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาทางสื่อทีวี คิดเป็นมูลค่า 29 ล้านบาท ตามด้วย พริงเกิ้ล ลุคใหม่! สุดปัง มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาทางสื่อทีวี คิดเป็นมูลค่า 23 ล้านบาท 

จากแนวโน้มที่ดีดังกล่าว เชื่อว่าเดือน มิ.ย.นี้ ภาพรวมของอุตสาหกรรมโฆษณาก็น่าจะกลับมาคึกคักอีกเช่นกัน เห็นได้จากการที่สินค้าแต่ละตัวออกมาทำกิจกรรมการตลาด และเปิดตัวสินค้าใหม่

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 มิ.ย. 2564 เวลา : 10:31:47
07-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 7, 2024, 4:26 am