พาณิชย์’ เห็นศักยภาพสินค้าฮาลาล เตรียมใช้จุดแข็งและความพร้อมของไทยเป็นฐานการผลิต ดันสินค้าฮาลาลไปตลาดโลก ทำงานคู่ขนาน ...สั่งการกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผนึกกำลังหน่วยงานพันธมิตรเปิดคอร์สอบรมการดำเนินธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ เตรียมความพร้อมเปิดตลาดทุกช่องทางทั้งออฟไลน์และออนไลน์ กระตุ้นกำลังซื้อจากผู้บริโภคชาวมุสลิม
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า “รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้ให้ความสำคัญต่อการผลักดันไทยเป็นประเทศผู้นําด้านการพัฒนา ผลิต และส่งออกสินค้าเกษตร/อาหารที่มีมาตรฐานและได้รับความเชื่อมั่นในระดับสากล ภายใต้แผนงานอาหารไทยอาหารโลกของกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะสินค้าฮาลาลของไทยที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลในการเปิดตลาดไปยังกลุ่มที่มีความต้องการบริโภคหรือใช้สินค้าฮาลาล ทั้งอาหารฮาลาล เวชภัณฑ์ฮาลาล เครื่องสำอาง/ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลฮาลาล และแฟชั่นสำหรับชาวมุสลิม ทั้งนี้ ตลาดมุสลิมเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพทั้งจำนวนประชากรและเศรษฐกิจ ประกอบกับประเทศไทยมีความพร้อมและข้อได้เปรียบหลายประการ เริ่มตั้งแต่ภาครัฐตระหนักถึงความสำคัญของตลาดฮาลาลและพร้อมให้การสนับสนุน ผู้ประกอบการมีความพร้อม มีศักยภาพในการผลิตสินค้าและส่งออกสินค้าฮาลาลไปยังตลาดมุสลิมและตลาดที่ไม่ใช่มุสลิม รวมทั้ง ไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบขั้นพื้นฐานที่หลากหลาย มีเอกลักษณ์โดดเด่นได้มาตรฐาน จึงเป็นจุดแข็งสำคัญที่ผลักดันให้สินค้าฮาลาลของไทยมีโอกาสเติบโตบนตลาดโลกได้อย่างแข็งแกร่ง”
“อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไม่เพียงแต่สามารถเจาะตลาดชาวมุสลิมที่เป็นตลาดหลักได้เท่านั้น แต่ยังเป็นที่สนใจและต้องการในประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม (Non-OIC) อีกหลายประเทศด้วย เช่น อินเดีย จีน สิงคโปร์ และไทย เนื่องจากอัตราประชากรมุสลิมมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาและหันมาให้ความสำคัญกับตลาดสินค้าฮาลาลที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในอนาคต และควรให้ความสำคัญกับการขยายตลาดผ่านช่องทางออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวก และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้สามารถเข้าถึงสินค้าได้ง่ายมากขึ้นกว่าเดิม”
รมช.พณ. (นายสินิตย์ เลิศไกร) กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในฐานะที่กระทรวงพาณิชย์ มีภารกิจหลักในการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เข้มแข็งแข่งขันได้ในระดับสากล จึงได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งส่งเสริมผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลใช้ช่องทางออนไลน์ (e-Commerce) เป็นเครื่องมือในการเพิ่มโอกาสทางการตลาด และสร้างรายได้ให้ธุรกิจ สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเน้นการซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคให้มากที่สุด รวมทั้ง สามารถขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้สะดวกมากขึ้นอีกด้วย”
“ล่าสุด กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจฮาลาล ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าฮาลาลไทย และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดคอร์สอบรมการค้าออนไลน์ หลักสูตร “ก้าวถูกทิศ พิชิตธุรกิจฮาลาล ยุค New Normal (ธุรกิจฮาลาล Go Online) ” ในวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ผ่านระบบ Zoom โดยได้รับเกียรติจาก *ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นิฟาริด ระเด่นอาหมัด รองผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย *คุณพิชิต รังสิมันต์ นายกสมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าฮาลาลไทย *ผู้แทนกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และ *ผู้เชี่ยวชาญด้าน e-Commerce มาร่วมถ่ายทอดความรู้ แนวโน้ม ทิศทางอุตสาหกรรมสินค้าฮาลาล และโอกาสธุรกิจฮาลาลในยุค New Normal รวมถึง การสร้างธุรกิจบนออนไลน์ผ่าน Social Media การทำเนื้อหาให้โดนใจผู้บริโภค เทรนด์สินค้าฮาลาล โอกาสธุรกิจฮาลาลในตลาดโลกทั้งออฟไลน์และออนไลน์”
“ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมอบรมออนไลน์หลักสูตรฯ ดังกล่าว สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ทาง www.dbd.go.th เลือกหัวข้อ อบรมสัมมนา สอบถามรายละเอียดได้ทางอีเมล์ : e-commerce@dbd.go.th โทร0 2547 5959” รมช.พณ. กล่าวทิ้งท้าย
ปัจจุบัน ประชากรมุสลิมคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของประชากรโลกที่มีกว่า 7,871 ล้านคน หรือคิดเป็นกว่า 2,000 ล้านคน ตลาดอาหารฮาลาลจึงเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อสูง มีมูลค่าตลาดทั่วโลกประมาณ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของโลก ในปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไทยมีมูลค่าส่งออกถึง 35,037 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 2.44 % ของมูลค่าตลาดอาหารฮาลาลโลก ซึ่งไทยมีความได้เปรียบในด้านโลจิสติกส์ และมีสินค้าที่มีความหลากหลายตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันไทยมีบริษัทที่ได้รับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลประมาณ 5,000 บริษัท มีผลิตภัณฑ์ที่ขอรับการรับรองฮาลาลมากกว่า 160,000 รายการ โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ สารปรุงแต่งอาหาร อาหาร และเครื่องดื่ม ตามลำดับ (ข้อมูลของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย)
ข่าวเด่น