เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์วิเคราะห์ คาดส่งออกจะยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่ต้องจับตามองการระบาดรอบใหม่ของ COVID-19 ในหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียน


มูลค่าการส่งออกเดือน พ.ค. 2021 ขยายตัวถึง 41.6%YOY สูงสุดในรอบเกือบ 11 ปี และหากหักทองคำจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 48.8%YOY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์


อัตราเติบโตในระดับสูงของเดือน พ.ค. เกิดจากปัจจัยฐานต่ำปีก่อนเป็นสำคัญ โดยหากพิจารณามูลค่าส่งออกแบบปรับฤดูกาล พบว่าการส่งออกได้ปรับลดความร้อนแรงลงมาระดับหนึ่ง สะท้อนจาก %MoM_sa ที่หดตัว อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกที่ 23,057.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือน พ.ค. ก็ถือว่าเป็นระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยรายเดือนในช่วงปี 2019 ก่อนเกิดวิกฤต และยังคงเป็นไปในทิศทางสอดคล้องกับที่ EIC คาดไว้ทั้งปี 2021 ว่าจะเติบโตที่ 15.0%YOY

ในช่วงที่เหลือของปี การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว โดยคาดว่าเดือน มิ.ย. จะเป็นอีกเดือนที่การส่งออกจะขยายตัวสูงจากปัจจัยฐานต่ำ ก่อนที่อัตราเติบโตจะทยอยปรับลดลง ทั้งนี้ต้องติดตามความเสี่ยงของการระบาดรอบใหม่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ขณะที่ปัญหาค่าระวางเรือสูงจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ได้ทวีความรุนแรงขึ้นอีกจากการระบาดรอบล่าสุดทางตอนใต้ของจีน ซึ่งทำให้ต้นทุนการส่งสินค้าของผู้ประกอบการไทยยังอยู่ในระดับสูงกว่าปกติ

*Key points

มูลค่าการส่งออกเดือนพฤษภาคม 2021 ขยายตัวถึง 41.6%YOY นับเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงสุดในรอบเกือบ 11 ปี และหากหักทองคำการส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 48.8%YOY ทำให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2021 มูลค่าการส่งออกขยายตัวที่ 10.8%YOY และหากไม่รวมทองคำ การส่งออกจะเติบโตถึง 18.6%YOY

ด้านการส่งออกรายสินค้า พบว่าการส่งออกสินค้าสำคัญทุกประเภทมีการขยายตัว โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์

การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบขยายตัวถึง 170.3%YOY ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือนติดต่อกัน โดยตลาดหลักที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เวียดนาม (922%YOY), ออสเตรเลีย (245%YOY), นิวซีแลนด์ (535.8%YOY) และมาเลเซีย (530.2%YOY)
 
น้ำมันสำเร็จรูปขยายตัวถึง 105.5%YOY ตามราคาน้ำมันดิบที่ขยายตัวในระดับสูง โดยมีตลาดหลักที่ขยายตัวคือ  กัมพูชา (153.4%YOY), สิงคโปร์ (225.3%YOY) และมาเลเซีย (151.8%YOY) ผลิตภัณฑ์ยางยังขยายตัวต่อเนื่องที่ 54.7%YOY โดยสินค้าหลักที่ขยายตัวดีคือ ถุงมือยาง (98.1%YOY) ตามความต้องการอุปกรณ์การแพทย์ที่ขยายตัวสูง และยางยานพาหนะ (77.3%YOY) ตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก
 
เม็ดพลาสติกขยายตัวดีที่ 61.4%YOY โดยเฉพาะในตลาดอินเดีย (328.3%YOY), อินโดนีเซีย (225.9%YOY) และเวียดนาม (92.93%YOY)  ขณะที่การส่งออกเคมีภัณฑ์ก็ขยายตัวดีเช่นกันที่ 73.8%YOY โดยมีตลาดหลักที่ขยายตัวสูงคือ จีน (38.2%YOY), เวียดนาม (133.9%YOY) และญี่ปุ่น (129.9%YOY)
 
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวดีที่ 20.5%YOY และ 5.5%YOY ตามลำดับ โดยสินค้าหลักที่ขยายตัวดีคือ ยางพารา (99.2%YOY) และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (59.2%YOY) อย่างไรก็ดี การส่งออกน้ำตาลทรายหดตัวที่ -45.7%YOY โดยหดตัวต่อเนื่อง 14 เดือนติดต่อกัน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการโดนเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในตลาดเวียดนาม ขณะที่การส่งออกข้าวหดตัวเช่นกันที่ -42.1%YOY โดยหดตัวต่อเนื่อง 6 เดือนติดต่อกัน เนื่องจากราคาข้าวของไทยอยู่ในระดับสูงกว่าคู่แข่ง
 
อัญมณีและเครื่องประดับหักทองคำเติบโตสูงถึง 113.3%YOY (หากไม่หักทองคำจะหดตัว -23.8%YOY) โดยสินค้าหลักที่ขยายตัวดีคือ พลอย (246.5%YOY), เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง (195.1%YOY) และเพชร (126.3%YOY)
ด้านการส่งออกรายตลาด พบว่าการส่งออกขยายตัวทุกตลาดสำคัญ โดยเฉพาะอินเดีย สหภาพยุโรป และกลุ่มอาเซียน 5

การส่งออกไปอินเดียขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมากที่ 243.8%YOY โดยมีสินค้าหลักที่ขยายตัวคือ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ (1,095,274%YOY), รถยนต์และส่วนประกอบ (828.1%YOY), เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (364%YOY) และเม็ดพลาสติก (328.3%YOY)
 
การส่งออกไปจีนขยายตัวที่ 25.5%YOY โดยสินค้าหลักที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้ (63.0%YOY), เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ (69.2%YOY) และยางพารา (69.5%YOY)
 
การส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวที่ 44.9%YOY โดยขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 12 เดือน ซึ่งมีสินค้าหลักที่ขยายตัวคือ รถยนต์และส่วนประกอบ (337.5%YOY), อัญมณีและเครื่องประดับ (172.7%YOY) และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (184.7%YOY)
 
การส่งออกไปยุโรปขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 63.1%YOY โดยมีสินค้าหลักคือ อัญมณีและเครื่องประดับ (167.6%YOY), รถยนต์และส่วนประกอบ (150.4%YOY) และเครื่องปรับอากาศ (83.2%YOY)
 
การส่งออกไปตลาดอาเซียน 5 พลิกกลับมาขยายตัวที่ 51.0%YOY จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -4.4%YOY
โดยสินค้าส่งออกหลักที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ (404.8%YOY), น้ำมันสำเร็จรูป (158.8%YOY) และเม็ดพลาสติก (213.50%YOY)
 
 
 

ด้านมูลค่านำเข้าในเดือนพฤษภาคม 2021 ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 63.5%YOY ต่อเนื่องจากการขยายตัวที่ 29.8%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยเป็นการขยายตัวในทุกหมวดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง (203.3%YOY), สินค้าทุน (35.9%YOY), สินค้าอุปโภคบริโภค (33.9%YOY) และยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (71.7%YOY) ขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปขยายตัวเช่นกันที่ 61.7%YOY แต่หากหักทองคำจะเหลือขยายตัวที่ 61.1%YOY แต่ก็ยังนับเป็นการขยายตัวที่สูงมาก ซึ่งส่วนหนึ่งของการนำเข้าวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นอาจนำไปผลิตสินค้าส่งออก จึงเป็นสัญญาณที่ดีต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออกในระยะต่อไป ทั้งนี้ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2021 การนำเข้าขยายตัวที่ 21.5%YOY ขณะที่ดุลการค้าช่วง 5 เดือนแรกเกินดุลที่ 1,494.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

* Implication

การส่งออกเดือนพฤษภาคม 2021 ขยายตัวสูงจากปัจจัยฐานต่ำ สอดคล้องกับตัวเลขส่งออกของหลายประเทศทั่วโลก โดยจากรูปที่ 3 จะเห็นได้ว่ามูลค่าส่งออกของหลายประเทศส่งออกสำคัญของโลกล้วนมีอัตราเติบโตสูงมากในช่วงหลัง เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำปีที่แล้วที่ทั้งโลกมีมาตรการปิดเมืองเข้มข้น จนส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตเพื่อส่งออก (supply chain disruption) ทั้งนี้หากพิจารณามูลค่าการส่งออกของไทยแบบปรับฤดูกาล จะพบว่าการส่งออกไทยปรับลดความร้อนแรงลงมาระดับหนึ่งหลังจากฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในช่วงก่อนหน้า สะท้อนจากการหดตัวเมื่อเทียบกับเดือนเมษายนในปีนี้แบบปรับฤดูกาลที่ -3.5%mom_sa แต่ในภาพรวมยังถือได้ว่ามูลค่าการส่งออกที่ชะลอลงสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ส่งออกทั้งปี 2021 ของ EIC ที่ 15.0%YOY โดยคาดว่าเดือนมิถุนายนจะเป็นอีกเดือนที่มูลค่าการส่งออกจะขยายตัวในระดับสูงจากปัจจัยฐานต่ำ ก่อนอัตราเติบโตจะทยอยปรับลดลงในช่วงที่เหลือของปี
 

การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง อย่างไรก็ดี ต้องติดตามความเสี่ยงของการระบาดรอบใหม่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในอาเซียน ในช่วงที่เหลือของปี เศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน ซึ่งจะส่งผลทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและจีน ที่คาดว่าจะมีพัฒนาการด้านการฉีดวัคซีนที่มากกว่ากลุ่มประเทศด้อยและกำลังพัฒนา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์ล่าสุดของจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกจะปรับลดลงจากยอดสูงสุดในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ในช่วงหลังหลายประเทศเริ่มมีการระบาดมากขึ้นจากไวรัสสายพันธุ์อินเดีย สะท้อนจากจำนวนผู้ติดเชื้อเฉลี่ยรายวันช่วงล่าสุด (เฉลี่ยวันที่ 1 – 19 มิ.ย.) ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเดือนก่อน (พ.ค.) โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทย ทั้งนี้ต้องติดตามต่อไปว่าการระบาดที่เกิดขึ้นจะลุกลามจนกลายเป็นการระบาดระลอกใหม่ และจะกระทบต่อภาคการส่งออกของโลกและของไทยหรือไม่
 

นอกจากนี้ การส่งออกของไทยยังมีปัจจัยกดดันต่อเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) และตู้คอนเทนเนอร์ โดยการขาดแคลนชิปในช่วงปัจจุบันเกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่ การหยุดการผลิตในช่วงก่อนหน้าที่มีการระบาดของ COVID-19 ในปีก่อน ประกอบกับความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มมากขึ้นตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ปัญหาภัยแล้งในไต้หวันซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลก รวมถึงการแย่งชิงสต็อกชิปเนื่องจากการแบ่งขั้วเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งการขาดแคลนชิปได้ส่งผลกระทบต่อหลายอุตสาหกรรม เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องเกมส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น โดยปัญหาดังกล่าวจะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยกดดันต่อเนื่องต่อภาคการส่งออกของไทยและโลกในช่วงที่เหลือของปี

ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ล่าสุดได้ปรับตัวแย่ลงอีกครั้งจากการระบาดระลอกใหม่ทางตอนใต้ของจีน โดยในช่วงก่อนหน้า การฟื้นตัวของภาวะการค้าโลกที่เริ่มปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 ขณะที่หลายท่าเรือ
ของทางฝั่งอเมริกาและยุโรปยังไม่สามารถดำเนินการได้จากการระบาดของ COVID-19 จึงทำให้การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เป็นปัญหาเรื่อยมา ต่อมาเกิดวิกฤตการณ์เรือขวางคลองสุเอซในเดือนมีนาคม 2021 จึงยิ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยซ้ำเติมให้สถานการณ์แย่ลง และล่าสุดปัญหาการแพร่ระบาด COVID-19 รอบใหม่ในมณฑลกวางตุ้งของจีน ได้ทำให้เกิดความล้าช้าในการบริหารจัดการสินค้าของท่าเรือเหยียนเทียนและท่าเรือกว่างโจว ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นลำดับ 3 และ 5 ของโลก จึงทำให้สถานการณ์ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ตึงเครียดเพิ่มเติม สะท้อนจากราคาระวางเรือ (Freight) ที่กลับมาปรับเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงหลัง
 

บทวิเคราะห์จากเว็บไซต์ EIC https://www.scbeic.com/th/detail/product/7648 

ท่านผู้นำเสนอบทวิเคราะห์
 

พนันดร อรุณีนิรมาน, นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
 

วิชาญ กุลาตี, นักวิเคราะห์, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

EIC Online: www.scbeic.com

Line : @scbeic

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 มิ.ย. 2564 เวลา : 11:53:54
07-05-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 7, 2025, 11:02 pm