การตลาด
สกู๊ป ''สมคิด'' คืนตำแหน่งแม่ทัพ ''สหพัฒน์'' แนะทางรอดธุรกิจ ต้องคิด ''โมเดลใหม่''



หลังจากวางมือทางด้านการเมือง “นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ก็หวนกลับมานั่งเป็นแม่ทัพใหญ่ของเครือสหพัฒน์อีกครั้ง โดยครั้งนี้กลับมาดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ นายสมคิด ยอมรับว่า การทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะปัจจัยลบดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจโดยตรง หลายธุรกิจต้องหยุดชะงัก และมีคนตกงานจำนวนมาก

ผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้หลายธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ เช่นเดียวกับธุรกิจในเครือสหพัฒน์ ที่ได้รับผลกระทบเหมือนกัน เห็นได้ชัดจากรูปแบบของการจัดงานสหกรุ๊ปแฟร์  จากเดิมที่จะใช้ฮอลล์ขนาดใหญ่ในการจัดงาน แต่หลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 ต้องปรับรูปแบบการจัดงานเป็นออนไลน์แทน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19  หนทางเดียวที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้ คือ การเร่งพัฒนาวัคซีน และเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรทั่วประเทศ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และให้สถานการณ์กลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด  ซึ่งจากการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา โควิด-19 ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของผู้คน และสิ่งที่เห็นได้ชัด คือ คนอยู่บ้านมากขึ้น เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตทำให้คนเริ่มเกิดความหวาดกลัว

นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังทำให้รูปแบบการทำงานของผู้คนเปลี่ยนไป คือ มีการทำงานที่บ้าน (Work From Home) กันมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ ทำให้เกิดทัศนคติใหม่ขึ้นมา คือ ความปลอดภัยและสาธารณสุขเป็นสิ่งสำคัญ ผู้คนหลีกเลี่ยงการเดินทาง เศรษฐกิจหยุดชะงัก ผู้ประกอบการบางรายขาดรายได้ และล้มหายไปจากตลาด

แม้ว่าตอนนี้จะมีนักธุรกิจหลายรายประเมินสถานการณ์ว่า เริ่มคลี่คลายและการดำเนินธุรกิจจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม แต่ถ้ายังยึดกับแนวทางเดิมๆ อาจจะยืนอยู่ต่อไม่ได้ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ทำให้ธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหากธุรกิจไหนไม่ปรับตัวตาม ก็อาจจะถูกดิสรัปต์จากผู้ที่มีการปรับตัวและมีความแข็งแกร่งได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการที่จะสามารถไปต่อได้ จะต้องเป็นผู้ที่สามารถคิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ (New Business) ควบคู่กับการพัฒนาการทำตลาดด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ได้

นายสมคิด กล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการในทุกๆ ธุรกิจ ต้องรู้จักการปรับตัว เริ่มจากธุรกิจท่องเที่ยว ที่ผ่านมาจะมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคนต่อปี แต่จากนี้ไปทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม เนื่องจากคนทั้งโลกยังได้รับวัคซีนไม่ทั่วถึง จึงทำให้ไม่สามารถเดินทางไปมาหากันได้เหมือนเดิม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวธุรกิจท่องเที่ยวต้องปรับตัว เปลี่ยนจากการท่องเที่ยวเชิงปริมาณ มาเป็นเชิงคุณภาพ เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวในประเทศ

เช่นเดียวกับ ธุรกิจร้านอาหาร ที่ต้องปรับตัว ด้วยการคิดโมเดลการขายใหม่ๆ เพราะโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป  คือ หันมาซื้ออาหารผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจอาหาร ทั้งรายเล็ก และรายใหญ่ ต้องหันมาเพิ่มช่องทางออนไลน์ในการขายอาหาร เพื่อหารายได้มาชดเชยช่องทางออฟไลน์ ซึ่งที่ผ่านมาจะขายผ่านหน้าร้านกันเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ใครที่ปรับตัวได้ ก็จะอยู่รอด บางรายมียอดขายดีกว่าเดิม

นายสมคิด กล่าวอีกว่า จากพฤติกรรมการช้อปปิ้งออนไลน์ที่เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น ทำให้ธุรกิจค้าปลีกเริ่มหันมาพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ซึ่งการทำการตลาดในรูปแบบดังกล่าว ถือเป็นหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจยุคปัจจุบัน เพราะการพึ่งพาเพียงผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ไม่เพียงพอต่อการขยายธุรกิจ จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันผู้ผลิตเริ่มมีการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อจำหน่ายสินค้าด้วยตัวเอง โดยการสร้างทีมเทคโนโลยีมาศึกษาวิเคราะห์ สร้างกลยุทธ์การทำตลาด เพื่อเอาชนะคู่แข่ง ตอบสนองความต้องการ และใกล้ชิดกับผู้บริโภค  

ขณะเดียวกัน ก็เริ่มมีการปรับตัวด้วยการบริหารจัดการซัพพลายเชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ซึ่งการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจก็เป็นอีกหนึ่งวิธี ที่ทำให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่ง และมีการขยายตัวได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

ด้าน นายธรรมรัตน์ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานจัดงานสหกรุ๊ปแฟร์ กล่าวว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทในปีนี้ ยังคงให้ความสำคัญกับการทำการตลาดในช่องทางออนไลน์ และจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ปีนี้บริษัทยังคงต้องจัดงาน สหกรุ๊ปแฟร์ ครั้งที่ 25 ภายใต้รูปแบบสหกรุ๊ปแฟร์ออนไลน์เหมือนกับปีที่ผ่านมา เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทุกคนควรเว้นระยะห่างทางสังคม อีกทั้งยังสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่นิยมการซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น 

สำหรับการจัดงานสหกรุ๊ปแฟร์ ครั้งที่ 25 ในปีนี้ จะมีขึ้นในวันที่ 1-4 ก.ค. 2564 ภายในงานจะมีสินค้าจำหน่ายมากกว่า 200 แบรนด์ รวมกว่า 20,000 รายการ แบ่งสินค้าออกเป็น 10 หมวด คือ แฟชั่น ชุดชั้นใน สุขภาพ ความงาม ของใช้แม่และเด็ก ของใช้ในครัวเรือน อาหารและเครื่องดื่ม สื่อการเรียนรู้ สินค้าสังฆภัณฑ์  และ อสังหาริมทรัพย์  ซึ่งผู้บริโภคสามารถช้อปตลอด 24 ชั่วโมง ผ่าน 5 แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ของไทย ได้แก่ Shopee, Lazada, JD Central, SahaGroupOnline, Shop Channel และยังสามารถเข้าไปซื้อที่ช่องทางการขายของแต่ละแบรนด์ได้ด้วย โดยสามารถดูรายชื่อแบรนด์และโปรโมชั่นได้ที่ sahagroupfair.com

นอกจากนี้ ในเว็บนี้ยังมีกิจกรรมตลอดงาน เช่น การไลฟ์สดจัด Flash Sale พูดคุยกับดาราชื่อดัง แฟชั่นโชว์ เวิร์คช็อป และการแจกคูปองส่วนลด นำไปใช้ลดเพิ่มในการซื้อสินค้า และเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระผู้บริโภค ภายในงานยังมีการจัดโปรโมชั่นร่วมกับสถาบันทางการเงินและเครือข่ายมือถือ เพื่อมอบส่วนลดให้กับลูกค้า โดยผู้ซื้อทั่วไปจะได้รับส่วนลดและเครดิตเงินคืนจากบัตรเครดิตธนาคารกรุงไทย ออมสิน กสิกรไทย กรุงเทพ กรุงศรี ไทยพาณิชย์ เคทีซี และเฟิร์สช้อยส์ ส่วนร้านค้าจะได้รับส่วนลดและเครดิตเงินคืนจาก SME Bank และ AIS โดยหลังจากจบงานคาดว่าจะมียอดขายเป็นที่น่าพอใจ


LastUpdate 26/06/2564 10:59:48 โดย : Admin
07-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 7, 2024, 4:27 am