นางพรรณี พุ่มพันธ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกมุ่งพัฒนาช่องทางการให้บริการรับชำระภาษีรถประจำปีให้มีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของประชาชน จึงได้พัฒนาบริการรับชำระภาษีรถประจำปีผ่านระบบออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเจ้าของรถไม่ต้องเดินทางมาที่สำนักงานขนส่ง โดยรถที่ค้างชำระภาษีเกินกว่า 1 ปี หรือรถเก๋ง รถกระบะ รถตู้ ที่มีอายุการใช้งานเกิน 7 ปี หรือรถจักรยานยนต์ที่มีอายุการใช้งานเกิน 5 ปี ต้องนำรถเข้าตรวจสภาพและมีผลผ่านการตรวจสภาพรถจากสถานตรวจสภาพรถ (ตรอ.) ก่อนดำเนินการชำระภาษีรถผ่านช่องทางออนไลน์ที่เว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก https://eservice.dlt.go.th หรือผ่านแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax ส่งผลให้สถิติการให้บริการชำระภาษีรถยนต์ผ่านระบบออนไลน์ประจำเดือนพฤษภาคม 2564 สูงสุดในรอบปีงบประมาณ 2564
โดยเฉพาะผ่านทางเว็บไซต์ https://eservice.dlt.go.th/ มีจำนวนผู้ใช้บริการสูงถึง 50,753 คัน และผ่านแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax มีผู้ใช้บริการจำนวน 3,253 คัน โดยเชื่อมั่นว่าหลังจากนี้จะได้รับความนิยมจากประชาชนเจ้าของรถเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะไม่ต้องเดินทางมาที่สำนักงานขนส่ง อยู่ที่ไหนก็สามารถชำระภาษีรถประจำปีได้ ในส่วนของสถิติการรับชำระภาษีรถประจำปีที่สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้น ที่ 1-5 มีผู้ใช้บริการจำนวน 374,945 คัน บริการเลื่อนล้อต่อภาษี (Drive Thru for Tax) จำนวน 59,352 คัน ในขณะที่การให้บริการชำระภาษีผ่านตู้รับชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติ (Kiosk) มีผู้ใช้บริการจำนวน 1,403 คัน เคาน์เตอร์เซอร์วิส มีผู้ใช้บริการจำนวน 13,616 คัน ที่ทำการไปรษณีย์ จำนวน 809 คัน และผ่านแอปพลิเคชัน mPAY และ Truemoney Wallet จำนวน 1,000 คัน รวมมียอดผู้ใช้บริการชำระภาษีประจำเดือนพฤษภาคม 2564 จำนวนทั้งสิ้น 505,131 คัน
รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า เจ้าของรถสามารถชำระภาษีรถล่วงหน้าก่อนครบกำหนด 90 วัน ก่อนวันที่ภาษีรถสิ้นอายุ ได้ผ่านทุกช่องทางต่างๆ ทั้งภายในสำนักงานขนส่ง และภายนอก อาทิ เคาน์เตอร์เซอร์วิส ร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น แอปพลิเคชัน Truemoney Wallet mPAY ที่ทำการไปรษณีย์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ส่วนการบริการชำระภาษีรถประจำปีที่ห้างสรรพสินค้าในวันเสาร์-อาทิตย์ “ช้อปให้พอ แล้วต่อภาษี (Shop Thru for Tax)” ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลบางส่วน อยู่ในระหว่างการติดตามประเมินสถานการณ์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่สำหรับต่างจังหวัดให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาความเหมาะสมร่วมกับจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
หากมีความเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ก็ให้ถือปฏิบัติตามมติของจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ทั้งนี้ การให้บริการประชาชนในทุกกระบวนงานต้องดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดต่อแพร่กระจายของโรค
ข่าวเด่น