การตลาด
สกู๊ป''CPN ย้ำเบอร์ 1 ธุรกิจค้าปลีกไทย'' ลุยซื้อหุ้น SF จาก MAJOR เสริมพอร์ตศูนย์การค้า


สร้างความฮือฮาให้กับวงการค้าปลีกเป็นอย่างมากเลยทีเดียว เมื่อบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR ประกาศขายหุ้นที่มีอยู่ในมือทั้งหมดในบริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF เพื่อนำเงินมาอุดแผลจากธุรกิจโรงหนังที่นับวันแผลยิ่งจะอักเสบเพิ่มขึ้นทุกวัน หลังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ เพราะปัจจัยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  
 

จากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ MAJOR เริ่มมีการประกาศหาผู้ที่สนใจเข้ามาถือหุ้นที่มีอยู่ในมือทั้งหมดของ SF ซึ่งหลังจากเริ่มประกาศออกไปในช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ก็มีกระแสข่าวออกมาว่าบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ให้ความสนใจที่จะเข้าถือหุ้นจำนวน 30.36% ที่ MAJOR ถืออยู่ใน SF  เนื่องจาก SF มีธุรกิจศูนย์การค้าที่พัฒนาและบริการอยู่มากถึง 18 โครงการ มีพื้นที่ให้เช่ารวมกันมากกว่า 4.3 แสนตารางเมตร  

ในจำนวนดังกล่าว ประกอบด้วยโครงการของ SF เอง จำนวน 17 โครงการ รวมพื้นที่ให้เช่า 2.3 แสนตารางเมตร และโครงการร่วมทุนกับบริษัท อิคาโน่ จำกัด  (เจ้าของแบรนด์ IKEA) เพื่อพัฒนาโครงการ Mega Bangna (เมกา บางนา)  โดย SF เข้าร่วมทุนในโครงการดังกล่าวในสัดส่วน 49% และบริษัท เอส.พี.เอส.โกลเบิ้ล เทรด จำกัด 2% ส่วนที่เหลืออีก 49% เป็นการลงทุนของบริษัท อิคาโน่  
 

ปัจจุบัน โครงการ Mega Bangna  มีพื้นที่ให้เช่ารวมอยู่ที่ประมาณ 2 แสนตารางเมตร โดยในแต่ละปีโครงการดังกล่าวจะมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2,200-2,500 ล้านบาท/ปี และมีกำไรต่อปีอยู่ที่ประมาณ 800-1,000 ล้านบาท ซึ่งหากคิดเฉพาะสัดส่วนหุ้นที่ SF ลงทุน (49%)ในแต่ละปี SF จะมีผลกำไรจากการทำโครงการดังกล่าวมากถึง 400-500 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว 

ด้วยศักยภาพของทำเลที่ตั้งและศักยภาพของธุรกิจ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม CPN จึงสนใจเข้าซื้อหุ้นของ SF เพราะหากคิดแค่เพียงผลตอบแทนทางธุรกิจที่จะได้กลับคืนมาเพียงแค่โครงการเมกา บางนา แห่งเดียว CPN ก็ได้กำไรเกินคุ้มแล้ว และถ้าหากนำความแข็งแกร่งของโครงการเมกา บางนา ซึ่งมีความแข็งแกร่งในด้านของธุรกิจค้าปลีกในโซนทิศตะวันออกมารวม อาจพูดได้ว่า CPN คุ้มเกินคุ้ม ด้วยเหตุปัจจัยนี้ เมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา CPN จึงมีการประกาศเข้าซื้อหุ้นของ SF ต่อจาก MAJOR อย่างเป็นทางการในจำนวน 30.36% หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 7,765 ล้านบาท และเตรียมทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมดของ SF เพิ่มเติม ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะต้องใช้เงินอีกไม่ต่ำกว่า 1.78 หมื่นล้านบาท หรือต้องใช้เงินมากถึง 2.55 หมื่นล้านบาท ในการซื้อขายให้แล้วเสร็จเรียบร้อย    

 
นายปรีชา เอกคุณากูล  กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN  กล่าวว่า เหตุผลที่บริษัทตัดสินใจเข้าซื้อกิจการของ SF ในครั้งนี้ ว่า ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตในระยะสั้นและระยะยาวให้กับธุรกิจ ซึ่งถือเป็นการดำเนินธุรกิจตามยุทธศาสตร์ที่บริษัทได้วางแผนไว้ และการซื้อหุ้น SF จาก MAJOR ก็ถือเป็นการบรรลุข้อตกลงแบบ win win ทั้งสองฝ่าย เพราะบริษัทได้หุ้นในสัดส่วน 30.36% ที่ MAJOR  ถืออยู่มาครอง ในขณะที่ MAJOR ก็ได้เงินจากการซื้อขายไปกว่า 7,765 ล้านบาท เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจ ซึ่งเมื่อเอาเงินก้อนนี้ไปจ่ายหนี้ที่มีอยู่ก็ยังทำให้ MAJOR เหลือเงินสดมาเสริมสภาพคล่องได้อีกกว่า 2,000 ล้านบาท เพราะเป็นที่รู้กันดีอยู่ว่าตอนนี้ธุรกิจโรงภาพยนตร์ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบโควิด-19  อย่างรุนแรง   

นอกจากนี้ การเข้าซื้อกิจการของ SF ในครั้งนี้ ยังเป็นการช่วยขยายพอร์ตโครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่ระดับ Super Regional Mall ของ CPN เพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง คือ เซ็นทรัล เวสต์เกต และเมกา บางนา รวมไปถึงการต่อยอดการลงทุนร่วมกับอิเกีย ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของ SF ต่อไปในอนาคตด้วย 

นายปรีชากล่าวต่อว่า นอกจากจะเสริมพอร์ตการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่แล้ว ยังถือเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับพอร์ตธุรกิจขนาดเล็กอย่างคอมมูนิตี้มอลล์ ซึ่ง SF มีอยู่ในมือหลายโครงการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นโครงการ เจ-อเวนิว คอมมูนิตี้มอลล์สุดฮอทในย่านทองหล่อ และคอมมูนิตี้มอลล์ อีกหลายๆ แห่ง ซึ่งบริษัทมีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบดังกล่าวในอนาคต   

พร้อมกันนี้ SF ยังมีที่ดินที่เป็นแลนด์แบงก์อยู่ในเขต CBD ของกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่อีกหลายแห่ง รวมไปถึงที่ดินผืนใหญ่ในย่านบางใหญ่และรังสิตที่รอการพัฒนา จากมูลค่าทรัพย์สินทางธุรกิจที่ CPN จะได้รับจากการลงทุนในครั้งนี้ จึงไม่น่าแปลกใจ เมื่อมีการเสนอขาย CPN จึงให้ความสนใจและตัดสินใจซื้อในระยะเวลาอันรวดเร็ว เพราะในอนาคตทรัพย์สินดังกล่าวสามารถสร้างผลตอบแทนที่มหาศาลให้กับ CPN ได้   
 

ทั้งนี้ หากมามองในด้านธุรกิจของ CPN ปัจจุบันมีศูนย์การค้าที่อยู่ภายใต้การบริหารงานรวมทั้งหมด 34 โครงการ อาคารสำนักงาน 10 โครงการ อาคารที่พักอาศัยเพื่อเช่า 1 โครงการ และโรงแรม 2 โครงการ โดยได้มีการว่าจ้างบริษัทภายนอกที่มีความชำนาญให้เป็นผู้บริหารงาน มีการถือหุ้นในบริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLAND ในสัดส่วน  67.53% โดย GLAND มีที่ดินเปล่าในทำเลที่มีศักยภาพเหมาะสำหรับการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสม (mixed-use development) ในพื้นที่กรุงเทพฯ 

นอกจากนี้ ยังมีโครงการอาคารที่พักอาศัยเพื่อขายอยู่ในพอร์ตอีก 18 โครงการ มีการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN รีเทล โกรท (CPNREIT) แบ่งเป็น ศูนย์การค้า 7 โครงการ อาคารสำนักงาน 4 โครงการ และโรงแรม 1 โครงการ โดย CPN ถือหุ้นประมาณ 30% และได้ให้กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN คอมเมอร์เชียล โกรท (CPNCG) เช่าอาคารสำนักงาน 1 โครงการ ซึ่ง CPN ถือหุ้น 25%  พร้อมกันนี้ ยังเป็นผู้จัดการกองทุน CPNREIT และเป็นผู้บริหารสินทรัพย์ของ CPNREIT และ CPNCG ซึ่งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ทั้ง 2 แห่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 

อย่างไรก็ดี หากมองเฉพาะธุรกิจค้าปลีกที่มีอยู่ในมือ ปัจจุบัน CPN มีพื้นที่ค้าปลีก รวมทั้งหมดกว่า 1.8 ล้านตร.ม. ทั้งที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด  ซึ่งการเข้าถือหุ้นใน SF ซึ่งมีพื้นที่ค้าปลีกรวมอยู่ในมือกว่า 2 แสนตร.ม. ทำให้ปัจจุบัน CPN มีพื้นที่ค้าปลีกในมือรวมมากกว่า 2 ล้านตร.ม. ย้ำการเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจค้าปลีกของไทยแบบหนีคู่แข่งอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง

LastUpdate 10/07/2564 19:29:13 โดย : Admin
07-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 7, 2024, 4:34 am