ก่อนหน้านี้ เคยมีคำกล่าวที่ว่า “ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี” กลุ่มสินค้าประเภทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จะขายดีสวนกระแสเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัว แต่สำหรับในยุคปัจจุบันดูเหมือนว่าทฤษฎีดังกล่าวจะนำมาใช้ไม่ได้แล้ว เพราะหากดูตัวเลขอัตราการเติบโตของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปี 2563 ที่ผ่านมาต่อเนื่องมาจนถึงปี 2564 ตลาดรวมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากตัวเลขในช่วง 2-3 เดือนแรกของปี 2564 ที่มีการปรับตัวลดลง หรือติดลบสูงถึง 7% เหมือนเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 แม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว กำลังซื้อผู้บริโภคจะยังไม่ฟื้น
หนึ่งในปัจจัยที่น่าจะทำให้ผู้บริโภคไม่เลือกซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรับประทานเหมือนช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่เมื่อใดที่เศรษฐกิจไม่ดีผู้บริโภคต้องหันไปซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรับประทาน น่าจะเป็นเพราะปัจจุบันผู้บริโภคมีทางเลือกในการรับประทานอาหารมากขึ้น ประกอบกับภาครัฐมีการออกมาตรการและมีโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของผู้บริโภค จึงทำให้ผู้บริโภคเลือกที่จะใช้เงินไปกับการซื้ออาหารที่มีประโยชน์มากกว่าการซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรับประทาน
ปัจจุบันตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศไทย มีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น มาม่า ครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ประมาณ 45% ตามด้วย ไวไว 24% ยำยำ 22% และแบรนด์อื่นๆ อีกประมาณ 9% ซึ่งในส่วนของแบรนด์อื่นๆ นอกจากจะมีแบรนด์ของคนไทยรวมอยู่ในนี้ด้วยแล้ว ยังมีแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากต่างประเทศรวมอยู่ด้วย ทั้ง เกาหลี ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยเฉพาะแบรนด์เกาหลี ที่เป็นแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่พยายามบุกหนักและทำให้ตลาดรวมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศไทยเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก ส่วนแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยในส่วนของแบรนด์อื่นๆ เช่น โคคา เอฟเอฟ ซื่อสัตย์ และท่าสยาม ยังคงทำการตลาดอยู่ในวงจำกัดและค่อยเป็นค่อยไป
นายยูจิ มิซุตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท วันไทยอุตสาหกรรมการอาหาร จำกัด ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชั้นนำในประเทศไทย ภายใต้แบรนด์ “ยำยำ” กล่าวว่า แม้ว่าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะมีแนวโน้มการชะลอตัว หลังจากมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่บริษัทก็ยังมีความเชื่อมั่นว่าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศไทยยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีท่ามกลางวิกฤติ เนื่องจากประชาชนได้รับผลกระทบ จึงมีความต้องการสินค้าราคาประหยัดเพื่อใช้ในการบริโภค
และเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค ส่งผลให้ ยำยำ ต้องออกมาเตรียมความพร้อมในด้านของการผลิต ด้วยการเร่งขยายกำลังการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งตลาดภายในและตลาดต่างประเทศที่ยังคงมีการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ยังต้องอยู่บ้านเพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้เต็มที่ ทำให้ผู้บริโภคยังคงต้องซื้ออาหารแห้งมาตุนไว้เพื่อใช้ในการบริโภค
และเพื่อเป็นการฉลองในโอกาสครบรอบ 50 ปี ล่าสุด บริษัท วันไทยอุตสาหกรรมการอาหาร จำกัด ได้ออกมาประกาศวิสัยทัศน์และพันธกิจใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกิจหลักของกลุ่มบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ ที่ต้องการขับเคลื่อนองค์กรและธุรกิจไปสู่โลกแห่งการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ด้วยการพัฒนาอาหารพร้อมรับประทานที่อร่อยและดีต่อสุขภาพ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ที่ต้องการคุณค่าอาหารที่มีโภชนาการที่เพิ่มขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย ในการพัฒนาและผลิตอาหาร เพื่อสร้างประสบการณ์ “อยากทานยำยำอีกครั้ง” ให้กับผู้บริโภค
นายยูจิ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้มีการปรับปรุงรสชาติและรูปโฉมบรรจุภัณฑ์ของแบรนด์ ยำยำ ทั้งแบบซอง และถ้วย เพื่อให้ถูกใจผู้บริโภคและกระตุ้นยอดขายอยู่ตลอดเวลา และล่าสุดบริษัทได้มีการ “รีเฟรช แบรนด์” ครั้งใหญ่ในรอบทศวรรษ หลังจากปี 2557 บริษัทได้มีการปรับโลโก้และแพ็กเกจใหม่ที่ใหญ่ขึ้น พร้อมกับชูคอนเซ็ปต์ ส่งความสุขที่มาจากความอร่อย โดยการเพิ่มรอยยิ้มเข้าไปในโลโก้ เพื่อสื่อถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของ ยำยำในการส่งความสุขจากความอร่อยสู่ผู้บริโภค
หลังจากนั้นในปี 2562 ยำยำ ก็ได้มีการปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้กับแบรนต์อีกครั้ง เพื่อให้แบรนด์มีความโดดเด่นและชัดเจน ด้วยการปรับโลโก้เพิ่มรูปทรงกลม ซึ่งสื่อถึงความมุ่งมั่นท้าทายของยำยำเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดและความอร่อย นอกจากนี้ ยำยำ ยังได้มีการปรับปรุงในด้านของรสชาติ เพื่อให้ถูกปากผู้บริโภคชาวไทยมากยิ่งขึ้น
นายยูจิกล่าวอีกว่า อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่บริษัทนำมาใช้ เพื่อสร้างกระแสให้กับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยำยำ คือ การดึงศิลปิน-นักแสดง ที่เป็นที่รู้จักมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ เช่น ปู ไปรยา สวนดอกไม้ ลุนด์เบิร์ก, เต๋อ ฉันทวิชช์ ธนะเสวี ,กอล์ฟ ฟักกลิ้ง ฮีโร และศิลปินวง ทรี แมน ดาวน์ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่มีการปรับตัวไปตามเหตุปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมตลอดเวลา ทำให้ปัจจุบันผู้บริโภคมีการใช้ชีวิตที่เร่งรีบมากขึ้น ซึ่งนอกจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เป็นหนึ่งในอาหารที่สามารถรับประทานได้อย่างรวดเร็วแล้ว ผู้บริโภคส่วนหนึ่งยังหันไปบริโภคอาหารที่มีความสะดวกและมีความรวดเร็วอื่นๆ ด้วย เช่น การสั่งอาหารเดลิเวอรี่มารับประทาน ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้ง่ายมาก เพียงแค่เปิดสมาร์ทโฟนก็สามารถสั่งอาหารร้านโปรดมารับประทานได้แล้ว
นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังสามารถซื้อหรือสั่งอาหารจากร้านสะดวกซื้อ มารับประทานได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็น อาหารแช่แข็ง (Frozen Food) หรืออาหารพร้อมทาน (Ready-To-Eat) ซึ่งปัจจุบันมีเมนูให้เลือกค่อนข้างหลากหลายรูปแบบ ด้วยเหตุนี้ ยำยำ จึงต้องปรับตัว ปรับกลยุทธ์ ด้วยการหันมาขยายช่องทางการจัดจำหน่าย เพื่อรับมือกับการแข่งขันสูงที่เพิ่มสูงขึ้น และรักษาฐานลูกค้าเก่าให้อยู่กับ ยำยำ ไปอีกนานๆ
หนึ่งในช่องทางการจำหน่ายที่ ยำยำ จะให้ความสำคัญมากขึ้น คือ เว็บไซต์ www.ajinomoto.com แพลตฟอร์ม อี-คอมเมิร์ซ อย่าง ช้อปปี้ (Shopee) และลาซาด้า (Lazada) แอพพลิเคชั่นไลน์ @iloveyumyum และเพจเฟซบุ๊ค I Love Yum Yum เพื่อให้สิ้นปี 2564 มียอดขายเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ จากปัจจุบันมีสัดส่วนยอดขายตลาดในประเทศ 75% และต่างประเทศ 25% โดยตลาดในประเทศ มียอดขายมาจากแบบซอง 82% แบบถ้วย 5% และยำยำช้างน้อย 13%
ข่าวเด่น