ยังคงขยายตัวอยู่ในแดนบวกอย่างต่อเนื่อง สำหรับอุตสาหกรรมโฆษณาของไทย แม้ว่าช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงเดือน ก.ค. ในขณะนี้ ประเทศไทยยังคงได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง แต่ตัวเลขการเติบโตของอุตสาหกรรมโฆษณา ยังคงทำให้คนในวงการโฆษณารู้สึกหายใจโล่งขึ้น เนื่องจากเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมโฆษณาของไทยยังสามารถเติบโตได้ที่ 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 แม้ว่าจะปรับตัวลงจากเดือน พ.ค. ที่มีอัตราการเติบโตสูงถึง 30%
จากข้อมูลของ นีลเส็น ประเทศไทย ระบุว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมของไทยในช่วงเดือน มิ.ย.2564 มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 13% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 7,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 6,599 ล้านบาท โดยสื่อที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุด สื่อในอาคาร มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 68% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 47 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 28 ล้านบาท ตามด้วย สื่อทีวี เติบโตที่ 21% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 5,234 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 4,323 ล้านบาท ,สื่อนอกอาคาร มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 17% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 485 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 413 ล้านบาท ,สื่อนิตยสาร มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 9% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 48 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 44 ล้านบาท และสื่อวิทยุ มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 4% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 277 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 267 ล้านบาท
ส่วนสื่อที่มีอัตราการเติบโตติดลบมากที่สุดในช่วงเดือน มิ.ย.2564 คือ โรงหนัง ที่ขยายตัวติดลบ 56% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 111 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 250 ล้านบาท ตามด้วย สื่อเคเบิลทีวี/แซทเทลไลท์ทีวี ขยายตัวติดลบที่ 37% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 74 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 117 ล้านบาท ,สื่อเคลื่อนที่ ขยายตัวติดลบอยู่ที่ 16% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 276 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 329 ล้านบาท และ สื่อหนังสือพิมพ์ ขยายตัวติดลบที่ 7% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 223 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 240 ล้านบาท ส่วน สื่อดิจิทัล มีมูลค่าอยู่ที่ 663 ล้านบาทไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนได้ เนื่องจากมีการปรับรูปแบบการเก็บข้อมูล
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมครึ่งปีแรกของปี 2564 หรือภาพรวม 6 เดือนแรก มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 8% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 46,565 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 42,942 ล้านบาท โดยสื่อที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด คือ สื่อทีวี มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 11% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 31,563 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 28,421 ล้านบาท ตามด้วย สื่อโรงหนัง มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 6% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 1,771 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 1,672 ล้านบาท และ สื่อนอกอาคาร มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 4% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 3,104 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 2,978 ล้านบาท
ในส่วนของสื่อที่มีการขยายตัวติดลบมากที่สุด คือ สื่อเคเบิลทีวี/แซทเทลไลท์ทีวี มีการขยายตัวติดลบที่ 32% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 534 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 780 ล้านบาท ตามด้วย สื่อเคลื่อนที่ ขยายตัวติดลบที่ 24% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 1,832 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 2,404 ล้านบาท ,สื่อนิตยสาร ขยายตัวติดลบที่ 17% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 302 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 365 ล้านบาท, สื่อหนังสือพิมพ์ ขยายตัวติดลบอยู่ที่ 12% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 1,225 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 1,386 ล้านบาท และสื่อวิทยุ ขยายตัวติดลบอยู่ที่ 11% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 1,576 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 1,766 ล้านบาท ส่วน สื่อดิจิทัล มีมูลค่าอยู่ที่ 4,325 ล้านบาท ไม่สามารถเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนได้ เนื่องจากมีการปรับรูปแบบการเก็บข้อมูล
ทั้งนี้ หากไปดูในส่วนของอุตสาหกรรมที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณามากที่สุดในช่วงเดือนม.ค.- มิ.ย. ที่ผ่านมา อันดับ 1 เป็นของ กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food&Beverage) มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณา คิดเป็นมูลค่า 9,378 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ประมาณ 31% อันดับ 2 เป็นกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลและเครื่องสำอาง (Personal Care & Cosmetic) มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณาคิดเป็นมูลค่า 7,871 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ประมาณ 18% อันดับ 3 เป็นกลุ่มธุรกิจยานยนต์ (Automotive) มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณาคิดเป็นมูลค่า 3,115 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ประมาณ 1% อันดับ 4 เป็นกลุ่มธุรกิจเครือข่ายการสื่อสาร (Telecommunication) มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณาคิดเป็นมูลค่า 1,975 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ประมาณ 10% และอันดับ 5 กลุ่มธุรกิจการเงินการลงทุน (Finance) มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณาคิดเป็นมูลค่า 1,889 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ประมาณ 15%
และหากมาดูในส่วนของบริษัทที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 โดย 3 อันดับแรก คือ อันดับ 1 บริษัท ยุนิลีเวอร์ (ไทย) โฮลดิ้งส์ จำกัด มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณาคิดเป็นมูลค่า 2,734 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่ประมาณ 57% โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนมิ.ย. คือ ทุกทุกตัว U ทำสิ่งดีดี มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อทีวี คิดเป็นมูลค่า 40 ล้านบาท ตามด้วยคอมฟอร์ท อัลตร้าแคร์ ปกป้องสีและใยผ้าจากการซัก มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อทีวี คิดเป็นมูลค่า 38 ล้านบาท
อันดับ 2 บริษัท เนสท์เล่(ไทย) จำกัด มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อคิดเป็นมูลค่า 1,538 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่ประมาณ 49% โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา คือ เนสกาแฟ เบลนด์ แอนด์ บรู กลมกล่อม หอม ครบ มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อทีวี คิดเป็นมูลค่า 43 ล้านบาท ตามด้วย ไมโล ประโยชน์เต็มกล่อง มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อทีวี คิดเป็นมูลค่า 26 ล้านบาท
อันดับ 3 บริษัท พร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (ประเทศไทย) จำกัด มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อคิดเป็นมูลค่า 1,183 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่ประมาณ 26% โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา คือ ออรัลบี ทรีดีไวท์ ยาสีฟันสูตรฟันขาว มีการใช้เม็เงินผ่านสื่อทีวี คิดเป็นมูลค่า 19 ล้านบาท ตามด้วยเฮดแอนด์โชว์เดอร์ เหนือกว่า 5 เท่า มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อทีวี คิดเป็นมูลค่า 18 ล้านบาท
ข่าวเด่น