การค้า-อุตสาหกรรม
DITP กระตุ้นผู้ส่งออกเร่งปรับตัวตามเทรนด์การค้าโลก ปรับแพคเกจจิ้งตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน


กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สานต่อนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ควบคู่ “เศรษฐกิจ BCG” เดินหน้า Circular Packaging towards BCG กระตุ้นผู้ประกอบการตระหนักถึงการรับมือกับเทรนด์การค้าโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจหมุนเวียน ปรับตัวสู่การเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ไทยได้อย่างยั่งยืน


นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ควบคู่ไปกับนโยบาย “เศรษฐกิจ BCG”* ในการส่งเสริมและยกระดับสินค้าและบริการไทยให้มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพ สามารถแข่งขันได้ในเวทีการค้าโลก โดยที่ผ่านมาได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับหน่วยงานนวัตกรรมภายใต้กระทรวงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และร่วมงานกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อยกระดับมูลค่าในห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการให้สูงขึ้น เปลี่ยนรูปแบบการผลิตจากการ “ผลิตมากแต่สร้างรายได้น้อย” (More for Less) ไปสู่การผลิตสินค้าพรีเมี่ยม “ผลิตน้อยแต่สร้างรายได้มาก” (Less for More )
 
 
“กิจกรรมส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการจัดการระบบหีบห่อ และการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Circular Packaging towards BCG ภายใต้แนวคิด The Future is Circular เป็นหนึ่งในโครงการส่งเสริมสินค้านวัตกรรมและแนวคิดสร้างสรรค์ภายใต้กรอบ BCG สู่สากล** โดยร่วมกับสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย ที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทย ยกระดับและพัฒนาระบบหีบห่อให้มีประสิทธิภาพ ช่วยเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการส่งออกไทยได้ปรับตัวสู่การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
 
 
โดยเฉพาะแนวคิด Circular Economy ที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงวงจรตั้งแต่ต้นถึงปลายทางกระบวนการบรรจุหีบห่อ ตลอดจนระบบการจัดการ การใช้งานบรรจุภัณฑ์   จนสินค้าไปถึงในมือผู้บริโภค ไม่สร้างภาระให้แก่ผู้บริโภคและประเทศปลายทางด้วยการนำกลับมาใช้ใหม่ได้หรือนำไปเข้าสู่การผลิตใหม่ (Re-material) ซึ่งจะสร้างภูมิคุ้มกันให้สามารถก้าวข้ามข้อกีดกันทางการค้าต่าง ๆ ทั้งกำแพงภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี อาทิ มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) ในเวทีการค้าโลก เนื่องจากขณะนี้ตลาดโลกให้ความสนใจกับประเด็นการค้าสีเขียวโดยเฉพาะตลาดที่มีกำลังซื้อสูง อาทิ สหภาพยุโรป ซึ่งได้กำหนดแผนนโยบาย The European Green Deal ที่เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมกับการลดการเกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ครอบคลุมประเด็นผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน”   
 
 
สำหรับผู้ประกอบการที่สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งหมด ได้ถูกคัดเลือกให้เหลือเพียง 20 บริษัท เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมการให้คำปรึกษาเชิงลึกรายบริษัททางออนไลน์ ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม – 24 สิงหาคม 2564 ร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ นางสาวภัทรา คุณวัฒน์ รองเลขาธิการสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย, นายโชตินรินทร์  วิภาดา ผู้เชี่ยวชาญของสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท 345 โพรไวเดอร์ จำกัด และ ผศ.ธนารักษ์ จันทรประสิทธิ์ หัวหน้าภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, นายศุภเดช  หิมะมาน หัวหน้าสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยนเรศวร และนายธีรชัย  ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง และดีไซน์ไดเร็คเตอร์ แบรนด์ Qualy  บริษัท นิว อาไรวา จำกัด
 
 
ในพิธีเปิดกิจกรรม Circular Packaging towards BCG นอกจาก นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย นายมานิต  กมลสุวรรณ นายกสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย แล้ว ยังมีการสัมมนาให้ความรู้ทางออนไลน์ โดยได้รับเกียรติจาก นายสินชัย  เทียนสิริ ผู้อำนวยการสถาบันรหัสสากล (GS 1) อดีตผู้อำนวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE), นายทินกร  เหล่าเราวิโรจน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ไทย และ นายจิรพัฒน์  ฐานสันโดษ Market Packaging Manager, Indochina บริษัท เนสท์เล่ ประเทศไทย จำกัด ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและแนะแนวทางการปรับตัวของผู้ส่งออกไทย
 
 
 
โดยหลังจากที่แต่ละบริษัทผ่านการอบรมเชิงลึกแล้วจะเข้าสู่การจัดทำต้นแบบหีบห่อและบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบเฉพาะ (Prototype Model) โดยเป็นต้นแบบที่คำนึงถึงทุกมิติ ทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่ต้นกระบวนการทางความคิด การออกแบบ การผลิต การขนส่ง การจัดวางจัดเรียงสินค้า การเลือกใช้วัสดุที่ย่อยสลายตามธรรมชาติและนำกลับมาใช้ใหม่ โดยในขั้นตอนนี้จะแสดงให้เห็นถึงการเปรียบเทียบก่อนและหลังการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่ส่งผลต่อการปรับลดต้นทุน อันจะส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจได้ต่อไป 
 
 
“กิจกรรมที่จัดขึ้นครั้งนี้ นอกจากจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของไทยแล้ว ยังช่วยเชื่อมโยงธุรกิจการค้าระหว่างผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไทย ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ไทย และนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ ให้เกิดอีโคซิสเต็ม (Ecosystem) ของอุตสาหกรรมหีบห่อและบรรจุภัณฑ์ที่เข้มแข็ง ทั้งยังสร้างความตระหนักในภาคอุตสาหกรรมและภาคการค้าของไทยให้เห็นถึงความสำคัญของการปรับตัวสู่การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีต่อธุรกิจส่งออกสินค้าไทยในสายตาผู้ซื้อผู้นำเข้าในเวทีสากล ช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยในภาพรวมให้แข็งแกร่งได้อย่างยั่งยืน” นายสมเด็จ กล่าวทิ้งท้าย 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 ก.ค. 2564 เวลา : 10:56:31
18-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 18, 2025, 5:01 pm