“ธุรกิจค้าปลีก” ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบการแพร่ระบาดโควิด-19 มากพอๆกับธุรกิจอื่นๆ เนื่องจากไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ ยิ่งมาตรการล็อคดาวน์ครั้งล่าสุด ธุรกิจค้าปลีกเปิดให้บริการได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านขายยาเท่านั้น เนื่องจากภาครัฐต้องการป้องกันการแพร่ระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นจากสถานที่ดังกล่าว ซึ่งแน่นอนเมื่อมีแค่บริการบางประเภทเปิดให้บริการได้เท่านั้น สิ่งที่ตามมา คือ การขอปรับลดค่าเช่าของบรรดาร้านค้าต่างๆ ที่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้
เมื่อต้องลดค่าเช่า แน่นอนรายได้ของธุรกิจค้าปลีกที่มีรายได้หลักมาจากค่าเช่าต้องปรับลดลงไป ซึ่งจากผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ล่าสุด สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และสมาคมศูนย์การค้าไทย ต้องออกมาประกาศข้อเสนอแนะเพิ่มเติมกับภาครัฐ เพื่อให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ทำธุรกิจกับห้างค้าปลีก เนื่องจากร้านค้าต่างๆ ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการล็อคดาวน์
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในจังหวัดสีแดงเข้ม ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มแรงงาน ผู้ประกอบการทั้งในและนอกระบบประกันสังคม มีระยะเวลาในการช่วยเหลือเป็นระยะเวลา 1 เดือน ครอบคลุม 10 กลุ่มอาชีพ รวมไปถึงการลดค่าน้ำค่าไฟให้กับประชาชนทั่วประเทศเป็นระยะเวลา 2 เดือนนั้น มาตรการดังกล่าวถือว่ามีความรวดเร็วและครอบคลุมได้ดีขึ้นกว่าเดิม แต่สิ่งที่อยากให้ภาครัฐเร่งดำเนินการเพิ่มเติม คือ การเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วทั่วถึงให้กับบุคลากรของกลุ่มการค้าปลีกและบริการ เพื่อให้การล็อคดาวน์ครั้งนี้ เจ็บแต่จบ เพราะถ้าการฉีดวัคซีนเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ก็จะสามารถเปิดประเทศได้
อย่างไรก็ดี แม้ว่ามาตรการเยียวยาที่ภาครัฐประกาศออกมาจะมีความครอบคลุมผู้ที่ได้รับผลกระทบดีขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอ และควรครอบคลุมผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนทุกกลุ่ม ดังนั้น ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทย จึงอยากให้ขยายระยะเวลาในการเยียวยาให้ยาวขึ้น พร้อมเร่งดำเนินการให้เงินเยียวยาถึงมือผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ยังมีข้อเสนอ 3 มาตรการ อยากให้ภาครัฐเร่งดำเนินการควบคู่กันไป ประกอบด้วย
1. มาตรการจัดหาและกระจายวัคซีนที่ชัดเจน โดยการใช้พื้นที่จุดฉีดวัคซีนที่ภาคค้าปลีกและบริการได้เตรียมไว้ทั่วประเทศ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกับเร่งฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรของกลุ่มการค้าปลีกและบริการให้ทั่วถึง ควบคู่ไปกับการสนับสนุนชุดตรวจ Rapid Antigen Test ให้กับธุรกิจในภาคค้าปลีกและบริการ เพื่อนำไปตรวจเชิงรุกให้กับบุคลากรในบริษัท เป็นการลดความเสี่ยงของการระบาด
2. มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการค้าปลีกและบริการ ด้วยการลดค่าน้ำ ค่าไฟ เพิ่มเป็น 50% เป็นระยะเวลา 6 เดือน พร้อมกับเพิ่มมาตรการพักหนี้ ช่วยลูกหนี้ในพื้นที่ล็อคดาวน์ จาก 2 เดือน เป็น 6 เดือน พร้อมหยุดคิดดอกเบี้ยเงินกู้ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่เป็นผู้รับสินเชื่อ Soft Loan จากสถาบันการเงิน เพื่อนำไปให้กับผู้ประกอบการ SME
3. มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน ด้วยการปรับกลไกโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ให้เหมือนกับ โครงการ “ช้อปดีมีคืน” และเพิ่มวงเงินเป็น 100,000 บาท เพื่อกระตุ้นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง นอกจากนี้ ยังควรส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยการจัดเก็บภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มของธุรกิจอีคอมเมิร์ซตั้งแต่บาทแรกและห้ามขายสินค้าต่ำกว่าทุน พร้อมกับปลดล็อคขั้นตอนการออกใบอนุญาตเหลือเพียง 1 ใบ (Super License) จากเดิมที่ต้องขอใบอนุญาตกว่า 43 ใบ จาก 28 หน่วยงาน รวมไปถึงการขยายเวลาโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับนักศึกษาจบใหม่ (Co-payment) ซึ่งจะสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2564 ออกไปอีก 1 ปี และทดลองใช้ระบบการจ้างงานประจำเป็นรายชั่วโมง เพื่อสอดคล้องกับช่วงฟื้นฟูธุรกิจและเกิดการจ้างงานใหม่เพิ่มขึ้น
นายญนน์ กล่าวต่อว่า วิกฤตครั้งนี้ส่งผลกระทบรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการรายย่อย สมาคมฯในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการค้าปลีก จึงเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว เพราะการช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าปลีกและบริการทั่วประเทศกว่า 100 บริษัท จะครอบคลุม SME ที่เป็นห่วงโซ่ทางการค้ามากกว่า 100,000 ราย นับเป็น 40% ของมูลค่าการบริโภคค้าปลีกทั้งประเทศ หรือคิดเป็น 12% ของ GDP ซึ่งมีความสำคัญและถือได้ว่าเป็นเหมือนกระดูกสันหลังของระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งในสถานการณ์ที่ท้าทายแบบนี้ ทางสมาคมฯพร้อมที่จะสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็ว
โดยผู้ประกอบการค้าปลีกจะปรับรูปแบบให้บริการด้วยช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าผ่านช่องทางนี้ได้อย่างสะดวก
นอกจากนี้ ทางภาคีเครือข่ายยังจะบริหารการจัดการสต็อกสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าจำเป็นที่ใช้ในชีวิตประจำวันให้มีจำหน่ายเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคอีกด้วย
ทั้งนี้ จากคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) ได้มีการออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 เรื่อง ขยายพื้นที่สถานการณ์ ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือสีแดงเข้ม เป็น 13 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา นครปฐม พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี สงขลา นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้มีการขานรับมาตรการ และปฎิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ 13 จังหวัด ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 20 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ตามประกาศดังต่อไปนี้
1.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า เปิดบริการได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านยา พื้นที่ฉีดวัคซีน หรือบริการทางการแพทย์ของรัฐ จนถึง 20.00 น.
2.ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์ท และ แคช แอนด์แครี่ ที่ตั้งนอกศูนย์การค้า เปิดตามปกติ และปิดให้บริการ 20.00 น
3.ร้านสะดวกซื้อ และตลาดสด เปิดบริการได้ 04.00 น. ถึง 20.00 น. ของทุกวัน
4.กิจการนอกศูนย์การค้า ดังต่อไปนี้ ร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป โรงงาน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ไปรษณีย์และพัสดุภัณฑ์ ร้านจำหน่ายอาหารสัตว์ ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านจำหน่ายเครื่องมือช่างและอุปกรณ์ก่อสร้าง รวมทั้งบริการส่งสินค้าและอาหารตามสั่ง (Delivery Online) ยังคงเปิดดำเนินการได้ตามความจำเป็น ภายใต้มาตรการคุมโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
และ 5. หากมีประกาศของจังหวัดอื่นใด นอกเหนือจากนี้ ให้ปฎิบัติตามประกาศตามจังหวัดนั้นๆ
ข่าวเด่น