การค้า-อุตสาหกรรม
'กรมเจรจาฯ' แนะผู้ประกอบการเตรียมใช้ RCEP เจาะตลาดจีนเพิ่ม


กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยจีนจะยกเลิกเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกจากไทยภายใต้ RCEP สัดส่วนถึง 90.5% ของจำนวนสินค้าทั้งหมด พร้อมยกเลิกภาษีสินค้า 33 รายการ เพิ่มเติมจาก ACFTA ทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ ชี้! ผู้ประกอบการไทยได้ประโยชน์เพียบ แนะใช้โอกาสส่งออกสินค้าเจาะตลาดจีนเพิ่ม




นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงประโยชน์จากการเข้าสู่ตลาดจีนภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เพิ่มเติมจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยมีกับจีนอยู่แล้ว 1 ฉบับ คือ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) โดยภายใต้ความตกลง RCEP จีนจะยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกจากไทย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90.5 ของจำนวนสินค้าทั้งหมด ซึ่งจำนวนสินค้าที่จะยกเลิกภาษีทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ คิดเป็นร้อยละ 67.9 ของจำนวนสินค้าทั้งหมด ที่เหลือจะทยอยยกเลิก นอกจากนี้ ยังมีสินค้า 33 รายการ ที่จีนยกเลิกภาษีศุลกากรให้ไทยเพิ่มเติมจาก ACFTA โดยมีทั้งที่จะยกเลิกทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้และทยอยลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ภายใน 10-20 ปี   

นางอรมน เสริมว่า สินค้าที่จีนยกเลิกภาษีศุลกากรให้ไทยเพิ่มเติมจาก ACFTA ครอบคลุมสินค้าเกษตรศักยภาพของไทยหลายรายการ อาทิ น้ำมะพร้าว น้ำสับปะรด สับปะรดปรุงแต่ง อาหารปรุงแต่ง และสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกหลักของไทย อาทิ เคมีภัณฑ์ ยางสังเคราะห์ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้แสงสว่างหรือให้สัญญาณสำหรับยานยนต์ ชุดสายไฟสำหรับยานยนต์ ผลิตภัณฑ์จากกระดาษ เครื่องยนต์ ที่ปรับกระจกในรถยนต์ และเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ นอกจากนี้ จีนยังได้เปิดตลาดให้กับสินค้าอื่นๆ ของไทยเป็นการเพิ่มเติม ภายใต้ความตกลง RCEP เช่น พริกไทย น้ำมันเบาและสิ่งปรุงแต่ง และแผ่นไวแสงและฟิล์มที่ใช้ในการถ่ายรูป

“สำหรับกรอบ ACFTA จีนได้ยกเลิกภาษีให้ไทยร้อยละ 94.8 ของจำนวนสินค้าทั้งหมด โดยสัดส่วนการเปิดตลาดการค้าสินค้าสูงกว่ากรอบ FTA กับคู่ภาคีอื่นๆ ของอาเซียน ยกเว้นกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) จึงส่งผลให้จำนวนสินค้าที่จีนนำมายกเลิกภาษีศุลกากรเพิ่มเติมให้ไทยใน RCEP มีไม่มากนัก ประมาณ 33 รายการ แต่ผู้ประกอบการไทยจะได้ประโยชน์จากการเพิ่มโอกาสสะสมถิ่นกำเนิดในเครือข่ายการผลิตสินค้าใน RCEP ซึ่งสมาชิกทั้ง 15 ประเทศ ใช้เกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกัน ทำให้มีความสอดคล้องและยืดหยุ่นมากขึ้น เมื่อเทียบกับเกณฑ์สะสมถิ่นกำเนิดภายใต้กรอบ ACFTA นอกจากนี้ ยังสามารถสะสมวัตถุดิบในการผลิตได้จากหลายแหล่งมากขึ้น ทั้งในและนอกภูมิภาค RCEP และหากผู้ประกอบการมีกระบวนการผลิตที่ทำให้สินค้าผ่านเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าได้ เช่น การเปลี่ยนสภาพวัตถุดิบจะส่งผลให้เปลี่ยนพิกัดศุลกากรในระดับ 4 หลัก ซึ่งจะสามารถใช้วัตถุดิบจากประเทศนอกภูมิภาค RCEP ได้ด้วย และใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีส่งออกไปยังตลาดจีนได้” นางอรมนกล่าว

ทั้งนี้ ในปี 2563 จีนเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทย การค้าระหว่างไทยกับจีนมีมูลค่า 79,743.3 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปจีน 29,534.0 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจากจีน 50,209.3 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค.-พ.ค.) การค้าระหว่างไทยกับจีนมีมูลค่า 40,553.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 27.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปจีน 14,663.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 22.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และไทยนำเข้าจากจีน 25,890.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 30.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น ยางสังเคราะห์ ทุเรียน ไม้ยางพารา รถยนต์ความจุของกระบอกสูบเกิน 2,500 ลบ.ซม. ส่วนประกอบอุปกรณ์เชิงทัศนศาสตร์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ แป้งมันสำปะหลัง เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญของไทย เช่น เครื่องโทรศัพท์ แล็ปท็อป วงจรพิมพ์ จานบันทึกแบบแข็งและแผ่นบันทึกสำหรับคอมพิวเตอร์ ส่วนประกอบเครื่องจักร เป็นต้น  

ผู้ส่งออกไทยสามารถศึกษาข้อมูลอัตราภาษีศุลกากรที่จีนเก็บกับสินค้าส่งออกจากไทยภายใต้ ACFTA และ RCEP ได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ http://tax.dtn.go.th สำหรับข้อมูลกฎถิ่นกำเนิดสินค้าใน FTA ฉบับต่างๆ สืบค้นไปที่ http://www.thailandntr.com

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ส.ค. 2564 เวลา : 11:50:42
18-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 18, 2025, 5:12 pm