การตลาด
SPECIAL REPORT : ''เหรียญทองโอลิมปิก'' มอบรอยยิ้มคืนคนไทย หลังพิษโควิด-19 ซัด ''ความสุขคนไทย'' ลดลงต่อเนื่อง


จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้คนไทยเริ่มมีความสุขลดลง  จากผลสำรวจการคาดการณ์พฤติกรรมผู้บริโภคไทยประจำเดือนส.ค.2564 โดยผู้ร่วมตอบแบบสอบถามประกอบไปด้วยเพศชายและเพศหญิงจำนวน 1,200 คน อายุระหว่าง 20-59 ปี จาก 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ของสถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ร่วมกับ บริษัท โซซิอัส จำกัด พบว่า คนไทยมีความสุขลดลง เนื่องมาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 4

แต่ถึงแม้ว่าจะมีความสุขลดลง แต่ในด้านของการใช้จ่ายกลับสวนทางกับภาพรวมของเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง เนื่องจากผู้บริโภคมีการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เน้นใช้จ่ายไปในสินค้าที่มีความจำเป็น เช่น อาหาร และสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ
 

น.ส.ชุติมา วิริยะมหากุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่าสังคมไทยส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเห็นได้ชัด  โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม พบว่า มีความสุขลดลง 2% เมื่อเทียบจากผลสำรวจในช่วงเดือนมิ.ย.2564 แต่ถึงแม้ว่าจะมีความสุขลดลง แต่ก็มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยมีข้อบ่งชี้สำคัญเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคอยู่ 2 ข้อ ได้แก่

1. วางแผนการใช้เงินให้เกิดประโยชน์ และพัฒนาความสามารถในการหารายได้ คนไทยส่วนใหญ่ยังคงมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย โดยเน้นซื้อของที่คิดว่าจำเป็นก่อน เช่น ของใช้ในชีวิตประจำวัน และเครื่องใช้ภายในบ้าน รวมไปถึงมีการวางแผนใช้จ่ายล่วงหน้าพร้อมรับมือกับสถานการณ์โควิด ที่สำคัญคือ มีการปรับตัวในการดำรงชีพ ด้วยการเพิ่มความรู้และทักษะในการหารายได้ โดยโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ ยังคงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับทุกอาชีพในตอนนี้ เพื่อใช้ในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากออนไลน์ที่จะสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเองเพื่อความประหยัด

2. คนกรุงเทพฯจะเน้นการใช้จ่าย เพื่อใช้ชีวิตที่สะดวกในบ้าน ในขณะที่คนต่างจังหวัดอยากจับจ่ายนอกบ้านมากขึ้น ถึงแม้จะมีความอัดอั้นตึงเครียด แต่ก็ต้องการให้ชีวิตมีความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น ด้วยการซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกในบ้าน โดยคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะเน้นซื้อเครื่องนอน และเครื่องใช้ไฟฟ้า ในขณะที่ภาคเหนือและภาคตะวันออก ผู้คนอยากออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน เช่น การทานอาหารนอกบ้าน การทำกิจกรรมกลางแจ้ง และการท่องเที่ยว เนื่องจากการแพร่ระบาดในพื้นที่ต่างจังหวัดไม่รุนแรงเหมือนพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง
             
ด้าน น.ส.อานันท์ปภา ศิริวรรณ ผู้อำนวยการสายงานวางแผนกลยุทธ์ บริษัท โซซิอัส จำกัด กล่าวว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดจากผลสำรวจในครั้งนี้ คือ ปัญหาปากท้องของประชาชน ซึ่งหากจำแนกเป็นช่วงอายุ 20-39 ปี จะพบว่า ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ที่รองรับในช่วง Work from home เช่น ของตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ และในช่วงอายุ 50-59 ปี มีความต้องการสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เพื่อความสะดวกสบายและมีการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในเรื่องสุขภาพและความงาม

นอกจากนี้ ยังพบว่ามี 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคไทยใช้จ่ายมากที่สุดในช่วงสถานการณ์ล็อกดาวน์ ประกอบด้วย อาหาร 25%  ของใช้จำเป็นประจำวัน 17%  โทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน 11% อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และแท็บเล็ต 6% เสื้อผ้าและเครื่องประดับ 5%

ส่วนประเด็นข่าวร้อนที่คนไทยติดตามและถูกพูดถึงมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1 ข่าวประเด็นสังคมที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 คิดเป็น 40% อันดับ 2 ข่าวที่รัฐบาลดำเนินการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็นความหวังของประชาชน 24% เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง ประชาชนมีความแคลงใจในประสิทธิภาพของวัคซีน และอันดับ 3 ข่าวกระแสสังคมการเมือง 8%
 
 
แม้ว่าตอนนี้คนไทยจะมีความสุขน้อยลง เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ในช่วงที่มีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก คนไทยก็มีเรื่องให้ดีใจและได้ยิ้มกันบ้าง โดยเมื่อช่วงค่ำของวันเสาร์ที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา ประทศไทยสามารถคว้าเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคได้สำเร็จ เมื่อ “น้องเทนนิส พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ” สามารถคว้าเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาเทควันโดรุ่นน้ำหนักไม่เกิน 49 กิโลกรัมหญิงได้สำเร็จ

 
นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI  ผู้ให้บริการซื้อ – ขาย สื่อโฆษณา และวางกลยุทธ์ทางการตลาด กล่าวว่า  จากสภาวะวิกฤตโรคระบาดและมาตรการล็อคดาวน์ ส่งผลให้ผู้บริโภคอยู่บ้าน และชมการถ่ายทอดสด โตเกียว โอลิมปิก กันมากขึ้น เนื่องจากสามารถรับชมได้หลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นผ่านช่องทางฟรีทีวี 7 ช่อง คือ PPTV, True4U, JKN18, GMM25, NBT, Thai PBS และ T Sports รวมไปถึงการถ่ายทอดสดผ่าน AIS PLAY และ Social Platforms  เพื่อให้คนไทยสามารถรับชมได้ทุกชนิดกีฬา

จากช่องทางที่หลากหลายของการถ่ายทอดสด ทำให้จำนวนผู้ชมการแข่งขันกีฬาโตเกียว โอลิมปิก มีมากกว่า 13.5 ล้านคนในช่วง 6วันแรก หลังพิธีเปิดเริ่มขึ้น (ข้อมูลจำนวนผู้ชมรวมผ่านฟรีทีวี วัดผลโดย Nielsen Media Research) ยังไม่รวมผู้รับชมผ่าน Social Platforms ต่างๆและ AIS Play ซึ่งรวมแล้วน่าจะมีผู้ชมรวมไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน
 
นายภวัต กล่าวว่า แม้ว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 ในครั้งนี้จะมีผู้ชมมากกว่า 20 ล้านคน แต่หากนำมาเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ชมกีฬาโอลิมปิก 2016 (Rio Olympics 2016) ไม่สามารถวัดจำนวนผู้ชม (Rating) ได้โดยตรง  เพราะภูมิทัศน์สื่อ (Changing Media Landscape) มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับกีฬาโอลิมปิก 2020 ถือเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในยุคที่ Social Media มีบทบาทหลักในวิถีชีวิตของผู้บริโภค อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อนความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมของคนทั่วโลก ซึ่งเจ้าภาพ “ญี่ปุ่น” ก็มีความตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เห็นได้จากพิธีการและการแสดงต่างๆ  ที่หันมาให้ความสำคัญในเรื่อง Diversity (ความหลากหลาย) & Equality (ความเท่าเทียม), Humble (ความถ่อมตัว), Commitment (ความมุ่งมั่น) และ Solidarity (ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ซึ่งคอนเท้นต์เหล่านี้ได้ถูกสอดแทรกเข้าไปในพิธีเปิดและการแสดงต่างๆ ออกมาได้อย่างลงตัว และเป็นที่น่าประทับใจ สอดรับกับพฤติกรรมการเสพสื่อของประชากรโลกในยุคใหม่ ที่เสพทั้ง online และ offline

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 ส.ค. 2564 เวลา : 13:02:36
07-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 7, 2024, 2:27 am